ผู้ค้าขยะมีรวย! สกัด ‘ทองคำ’ จากแผงวงจร-มือถือเก่า จนสร้างรายได้งาม
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” อย่างมือถือและแผงวงจรเก่า กลายเป็น “ของมีค่า” ในญี่ปุ่นไปแล้ว เมื่อโรงงานท้องถิ่นนำมาสกัด “ทองคำ” หวังขายทำเงินในช่วงราคาทองสูง
Key Points
- ช่วงที่ราคาทองคำขึ้นในขณะนี้ อุปทานจากทองรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้นราว 10% ระหว่างเดือน ม.ค.- ก.ย. ปีนี้ที่ระดับ 923.7 ตัน ซึ่ง “แซงหน้า” อุปทานจากทองคำเหมืองที่เติบโตราว 3%
- มีการสะสมทองมากถึงราว 5,300 ตันในญี่ปุ่น ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 10% ของทองคำสำรองทั้งโลก
- อนุสัญญาบาเซล ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจำกัดการส่งออกขยะอันตราย และจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2568 อันใกล้ ทำให้ญี่ปุ่นเร่งส่งเสริมการรีไซเคิลขยะอันตรายในประเทศแทนการส่งออก
หลายคนมีคอมพิวเตอร์เก่าเก็บ หรือมือถือที่ไม่ได้ใช้หลายเครื่อง จึงนำไปขายเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อแลกกับเงิน 20 บาท 50 บาท แต่รู้หรือไม่ว่า เศษซากอุปกรณ์เหล่านี้กลับมีค่ายิ่งกว่านั้น เพราะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและสกัด “ทองคำ” ออกมาได้ ยิ่งหากแผงวงจรรวมและมือถือมีจำนวนมากพอ ก็สามารถสกัดเป็น “ทองคำแท่ง” ได้
- มือถือเก่า (เครดิต: pixabay) -
แน่นอนว่า คนที่มีทองในครอบครอง คงยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ในช่วงที่ราคาทองคำเป็นขาขึ้นขณะนี้ โดยเคยพุ่งแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ ราวบาทละ 34,000 บาทในช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ผลพวงจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ด้วย “โอกาสทอง” อันหายากแบบนี้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจึงนำพวกแผงวงจรและขยะอิเล็กทรอนิกส์มาสกัดเอาทองคำออกมา จนทำให้ “การทำเหมืองในเมือง” (Urban Mining) เฟื่องฟูมากขึ้น และนอกจากจะสกัดแร่ทองคำได้แล้ว ยังได้แร่โลหะอื่น ๆ ที่สำคัญต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (เครดิต: pixabay) -
ถ้าถามว่า ต้องใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขนาดไหน กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า มือถือขนาด 1 ตันหรือประมาณ 10,000 เครื่องสามารถสกัดเป็นทองออกมาได้ 280 กรัม
มีโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองฮิรัตสึกะ ใกล้กับเมืองโยโกฮามา ได้รับแผงวงจรเหลือทิ้งทุกวัน จึงนำขยะเหล่านี้มาหลอมเพื่อสกัดเอาทองและแร่โลหะอื่น ๆ ออกมา โดยในแต่ละปี มีวัสดุเหลือทิ้งราว 3,000 ตันถูกรีไซเคิลในโรงงานแห่งนี้ ซึ่งบริหารโดยบริษัท “ทานากะ คิคินโซกุ โคเกียว” (Tanaka Kikinzoku Kogyo)
“เราต้องการขยายธุรกิจเก็บขยะ ไม่ใช่เพียงในญี่ปุ่น แต่ต้องรุกสู่อาเซียนด้วย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่คาดว่าความต้องการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโต” อากิโอะ นางาโอกะ (Akio Nagaoka) หัวหน้าโรงงานรีไซเคิลดังกล่าว เปิดเผย
- “ทองคำรีไซเคิล” โตแซง “ทองคำเหมือง”
ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา อุปทานขยะรีไซเคิลเข้าใกล้ระดับ 1,293.1 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบทศวรรษ โดยเมื่อดู “อุปทานทองคำโลก” จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่า “ทองคำรีไซเคิล” คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 30% ของอุปทานทั่วโลก ขณะที่อุปทานจาก “ทองคำเหมือง” อยู่ที่ราว 200,000 ตัน หรือมากพอที่จะใส่ในสระว่ายน้ำยาว 50 เมตร จำนวน 4 สระให้เต็มได้
เมื่ออุปทานทองคำจากเหมืองมีระดับทรงตัว ไม่ค่อยไปไหน อีกทั้งการขุดยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทองคำที่ได้จากการรีไซเคิลสมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และอุปกรณ์เหลือใช้ต่าง ๆ จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต
สภาทองคำโลกยังระบุว่า ช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น อุปทานจากทองรีไซเคิลเพิ่มขึ้นราว 10% ระหว่างเดือน ม.ค.- ก.ย. ปีนี้ที่ระดับ 923.7 ตัน ซึ่งมากกว่าอุปทานจากทองคำเหมืองที่เติบโตราว 3%
แนวโน้มดังกล่าวทำให้บางบริษัทเร่งขยายปริมาณและกระบวนการแปรรูปขยะตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น มิตซูบิชิ แมททีเรียล (Mitsubishi Materials) บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ ทองแดง อะลูมิเนียม เครื่องมือซีเมนต์และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้ารีไซเคิลขยะให้ได้ถึง 240,000 ตันต่อปีภายในสิ้นปี 2573 เทียบกับระดับปัจจุบันที่รีไซเคิลได้ที่ 160,000 ตัน
สถาบันการออกแบบความยั่งยืน (Sustainability Design Institute) ของญี่ปุ่นประเมินว่า มีการสะสมทองคำรวมกันถึงราว 5,300 ตันในญี่ปุ่น ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 10% ของทองคำสำรองทั้งโลก
- “อนุสัญญาบาเซล” กระตุ้น “ญี่ปุ่น” หนุนรีไซเคิลขยะ
ไม่เพียงแต่ทองคำเท่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนธุรกิจรีไซเคิลแร่สำหรับรถ EV ด้วย โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเห็นชอบในการก่อตั้งกรอบความร่วมมือกับอาเซียนด้านรีไซเคิลทรัพยากร เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุปทานแร่ เพราะแร่สำคัญหลายชนิดมักหาได้จากไม่กี่ประเทศ เช่น “จีน” ที่เป็นเจ้าแห่งการผลิตแร่หายากของโลก
นอกจากนี้ จากอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมุ่งหมายจำกัดการส่งออกขยะอันตรายมากขึ้น และจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2568 อันใกล้ ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งส่งเสริมการรีไซเคิลขยะอันตรายในประเทศแทนการส่งออกไปทิ้งในประเทศอื่น
อ้างอิง: nikkei, basel, gold