'ไฟฟ้าติดๆ ดับๆ' จุดอ่อนใหญ่ 'เวียดนาม' ทำบริษัทต่างชาติ ลังเลเข้าลงทุน
เมื่อเวียดนามเผชิญไฟดับหลายครั้งโดยไม่มีแจ้งล่วงหน้า จนต้องสลับดับไฟกันทั้งประเทศ กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้บริษัทต่างชาติลังเลใจที่จะลงทุน ปัญหานี้มีที่มาที่ไปและเป็นโอกาสของไทยอย่างไร
Key Points
- McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลกระบุว่า โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ใช้ไฟฟ้ามากถึง 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง
- ไฟฟ้าในเวียดนามผลิตจากพลังงานถ่านหินและพลังงานน้ำเป็นหลัก โดยเป็นพลังงานถ่านหิน 40.5% พลังงานน้ำ 33.3% พลังงานแก๊ส 11% พลังงานหมุนเวียน 14% และนำเข้าจากต่างประเทศ 1%
- รัฐบาลเวียดนามพยายามควบคุมค่าไฟให้อยู่ในระดับต่ำมาตลอดตามระบบสังคมนิยม แม้ปัจจุบันจะปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 3% แต่ยังไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมดได้
“เวียดนามจะแซงไทยแล้ว” คำกล่าวนี้ดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวียดนามกลายเป็นประเทศโตเร็วอย่างโดดเด่นในเอเชีย บริษัทต่างชาติจำนวนมากแห่เข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตาม เวียดนามกลับมี “จุดอ่อนใหญ่” ที่อาจทำให้เสียเปรียบไทยในแง่ของการแข่งขัน คือ “เสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า” และจุดอ่อนนี้กำลังทำให้บริษัทต่างชาติลังเลใจที่จะลงทุน หรือแม้แต่อาจถอนการลงทุนจากเวียดนาม
เห็นได้จากช่วงเดือน พ.ค. ปีนี้ เวียดนามเผชิญเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่อย่างไม่ทันตั้งตัว และไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า เกิดไฟดับตั้งแต่ย่านนิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศไปจนถึงนครโฮจิมินท์และกรุงฮานอย บางพื้นที่ไฟดับนานถึง 7 ชั่วโมง
- ปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอในเวียดนาม (เครดิต: Shutterstock) -
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้โรงงานของบริษัทต่างชาติ ตั้งแต่ Foxconn ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก, Samsung ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าของเกาหลีใต้, Canon ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูป ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบ เพราะต้องหยุดเดินเครื่องกะทันหัน
อีกทั้งโรงงานหลายแห่งต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าลงตามคำขอรัฐบาลเวียดนาม เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอ มีการเวียนดับไฟสลับกันทั้งประเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะนึกภาพออกในไทย เพราะไฟฟ้าของไทยมีเสถียรภาพมากกว่า
สิ่งสำคัญ คือ ในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง การมีกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงตลอดจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดย McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลกระบุว่า โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ 1 แห่ง ต้องใช้ไฟฟ้ามากถึง 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง
เหตุการณ์ไฟดับกะทันหันที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเวียดนาม จึงทำให้สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยุโรปตัดสินใจส่งจดหมายถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
“กระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนามควรมีมาตรการเร่งด่วน ก่อนที่ชื่อเสียงของประเทศในฐานะฮับการผลิตระดับโลกจะถูกทำลาย” ฌอง-ฌาคส์ บูเฟลต์ (Jean-Jacques Bouflet) รองประธานสภาหอการค้าสหภาพยุโรปในเวียดนามกล่าว
- ทำไมเวียดนามขาดแคลนไฟฟ้า
หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้ตรวจสอบวิกฤติไฟดับดังกล่าวตามคำสั่งของ ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนามแล้ว พบว่า สาเหตุเกิดจาก “Vietnam Electricity” บริษัทผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม บริหารไฟฟ้าอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และขาดการลงทุนในโรงงานไฟฟ้าให้เพียงพอ โดยระหว่างปี 2564-2566 บริษัทได้ชะลอการลงทุนด้านไฟฟ้าในหลายโครงการ รวมถึงบางโครงการก็หยุดชะงักกลางคัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวียดนามเข้าสู่ฤดูร้อนจัด ความต้องการไฟฟ้าทั้งจากประชาชนและโรงงานก็สูงเกินกว่าที่กำลังไฟฟ้าของประเทศจะผลิตได้ เวียดนามจึงเผชิญไฟดับบ่อยครั้ง
หากดู “ที่มาของพลังงานไฟฟ้า” จากสถาบันด้านสถิติ Statista ปี 2565 ระบุว่า ไฟฟ้าในเวียดนามผลิตจากพลังงานถ่านหินและพลังงานน้ำเป็นหลัก โดยเป็นพลังงานถ่านหิน 40.5% พลังงานน้ำ 33.3% พลังงานก๊าซ 11% พลังงานหมุนเวียน 14% และนำเข้าจากต่างประเทศ 1%
สำหรับ “พลังงานถ่านหิน” ต้นทุนถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด-19 โดยในเดือน ม.ค. 2563 ราคาดัชนีถ่านหิน Newcastle Coal อยู่ที่ราว 67 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 125 ดอลลาร์ต่อตัน
ถึงกระนั้น รัฐบาลเวียดนามก็พยายามควบคุมค่าไฟครัวเรือนให้อยู่ในระดับต่ำมาตลอดตามระบบสังคมนิยม แม้ปัจจุบันจะปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 3% แต่ยังไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมดได้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แบกต้นทุนไม่ไหวจึงตัดสินใจระงับการผลิตชั่วคราว ส่งผลให้อุปทานไฟฟ้าลดลง อีกทั้งการนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียประสบความล่าช้าในการขนส่ง จนกลายเป็นซ้ำเติมปัญหาดังกล่าว
ส่วน “พลังงานจากเขื่อน” นั้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่ำลง เนื่องจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงส่งผลให้มีระดับน้ำลดลงด้วย ขณะที่พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นก็มีสัดส่วนที่น้อยเกินไป
- จุดอ่อนเวียดนาม = โอกาสของไทย?
ความท้าทายอีกประการ คือ ถ่านหินที่เวียดนามพึ่งพาเป็นหลัก เป็น “พลังงานไม่สะอาด” ที่ทั่วโลกต่างรณรงค์ให้ลดการใช้ โดยสหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ “ภาษีคาร์บอน” หรือ CBAM สำหรับสินค้านอกภูมิภาค หากมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จะถูกเก็บภาษีนี้สูงตามไปด้วย หรือถึงขั้นไม่สามารถเข้าสู่ตลาดยุโรป ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันสินค้าส่งออกของเวียดนาม หากยุโรปเข้มงวดในระเบียบนี้
ไม่เพียงแต่ตลาดยุโรปเท่านั้น ขณะนี้ สหรัฐก็กำลังพิจารณาออกมาตรการคล้ายกัน คือ กฎหมาย US Clean Competition Act และอาจเริ่มเก็บค่าภาษีคาร์บอนภายในปี 2569
ขณะที่ในแง่ของพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ด้วยเหตุที่ภูมิประเทศของจีนและลาวอยู่บริเวณต้นแม่น้ำโขง และเวียดนามอยู่ส่วนท้าย หมายความว่า ยิ่งจีนและลาวขยายเขื่อนบนแม่น้ำโขงมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้กระแสน้ำชะลอลง พลังงานไฟฟ้าที่ควรจะได้ก็ลดลงตาม ยังไม่นับรวมปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทำให้ภัยแล้งรุนแรงยิ่งขึ้น
ด้วยความท้าทายเหล่านี้ เวียดนามจึงตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 2 เท่าให้มากกว่า 150 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นด้วย
ดังนั้น จาก “จุดอ่อน” ด้านเสถียรภาพไฟฟ้าของเวียดนามในขณะนี้ ถือเป็น “โอกาส” ที่ไทยจะเร่งช่วงชิงการลงทุนจากต่างประเทศจากเวียดนามให้มาที่ไทยแทน เพราะไฟฟ้าของไทยมีเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ไทยสามารถดึงดูด 3 บริษัทต่างชาติให้มาลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศได้สำเร็จ ได้แก่ บริษัท Google ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินระดับโลก, Microsoft ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีและเจ้าของโปรแกรม Microsoft Office และ Amazon Web Services (AWS) ผู้ให้บริการด้านคลาวด์
นอกจากนั้น ในแง่โครงสร้างพื้นฐานของไทยยังครอบคลุมและมีประสิทธิภาพจน “ติดอันดับที่ 34 ของโลกด้วย จากทั้งหมด 139 ประเทศ” ตามดัชนี International Logistics Performance Index ประจำปี 2566 ของธนาคารโลก โดยไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 3.5 คะแนน และเป็น “อันดับที่ 3 ของอาเซียน” รองจากสิงคโปร์ซึ่งได้อันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.3 คะแนน และมาเลเซียที่ได้อันดับ 26 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.6 คะแนน ขณะที่เวียดนามอยู่อันดับที่ 43 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.3 คะแนน
- โครงสร้างพื้นฐานของไทยดีติดอันดับ 34 ของโลกจากทั้งหมด 139 ประเทศ (เครดิต: World Bank) -
อ้างอิง: statista, worldbank, mckinsey, bangkokbiz, trading, vnexpress, reuters, asia, market, bloomberg