‘ราคาพลังงาน’ โจทย์ท้าทายรัฐบาล
การหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อสกัดไม่ให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤติพลังงานในอนาคตที่ยากจะแก้ไขได้
ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ท่ามกลางโลกที่ผันผวน มีปัจจัยลบเกิดขึ้นมากมาย คนไทยต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา ที่เป็นตัวฉุดรั้งศักยภาพการก้าวเดินไปข้างหน้า อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาวะหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของประเทศ ที่ต้องอาศัย “ผู้กล้า” และมองปัญหาทุกมิติ ค่อยๆ คลายปมไปทีละเปลาะ
ปัญหาใหญ่ที่ถูกพูดถึงช่วงนี้ คือ ราคาพลังงาน ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต
มติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปรและเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีกสำหรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย
เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย กลายเป็นเรื่องร้อน ที่จะสะเทือนต้นทุนทำธุรกิจต้นทุนการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน นับเป็นเรื่องใหญ่ที่แม้รัฐบาลจะมีทีท่าที่จะเอาจริง และดูจะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าไฟทีเดียว 4.68 บาทต่อหน่วย ทั้งยังมีแนวทางปรับลดราคาพลังงานเพื่อคลายความเดือดร้อนของประชาชน แต่หลายฝ่ายก็ยังมีความกังวล
หากแนวทางที่รัฐบาลใช้วิธีให้ภาครัฐทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แบกรับภาระเอาไว้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา หลายฝ่ายก็มองว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทางนัก
จากข้อมูล กกพ.คณะทำงานค่าเอฟที พบว่า หากรัฐบาลเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 อยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับแทนประชาชนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสะสมของค่าเอฟที ค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ การที่รัฐจะบีบให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย จาก 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นการสั่งให้ กฟผ. ต้องขายไฟฟ้าต่ำกว่าราคาต้นทุน และต้องแบกภาระส่วนต่างเอาไว้
ดังนั้นนโยบายที่ให้ยืดระยะเวลาจ่ายคืนค่าเอฟทีค้างรับกับ กฟผ. เช่นนี้ จึงถูกมองว่า ไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลเศรษฐา 1 การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านพลังงานที่ดูจะไม่ง่ายนัก
ดังนั้นรัฐบาลต้องหาวิธีการแก้ปัญหาบนความรอบคอบ มองให้ครบทุกมิติ เพราะประเทศไทยยามนี้ เผชิญปัญหามากมายที่ล้วนเป็นอุปสรรคฉุดรั้งการเดินไปข้างหน้าอย่างมาก การหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อสกัดไม่ให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤติพลังงานในอนาคตที่ยากจะแก้ไขได้