ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย

ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย

เจาะจุดแข็ง “สมุทรสาคร” ฮับแห่งอาหารทะเลแปรรูปใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อการผลิตสัตว์น้ำ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เหตุผลอะไรที่บริษัทแปรรูปหลายรายเลือกจังหวัดนี้เป็นฐานการผลิต แทนที่จะเป็น “ภาคใต้” ซึ่งขนาบด้วยทะเลสองฝั่ง

Key Points

  • สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มี “มูลค่าสัตว์น้ำ” ที่ใช้ในหน่วยธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำเค็มมากที่สุดที่ 64,004 ล้านบาท คิดเป็น 65.78%
  • ในสมัยก่อน สมุทรสาครเคยเป็นที่จอดเทียบท่าของเหล่าสำเภาจีนที่มาค้าขายจำนวนมาก จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญขึ้น และยังเป็นด่านหน้าในการป้องกันข้าศึกที่มารุกรานทางทะเล
  • สำหรับประเภทสินค้าประมงที่ส่งออก ม.ค.- ต.ค. 66 ไทยส่งออก “ทูน่ากระป๋อง” มากที่สุดที่ 336,215 ตัน ด้วยมูลค่า 53,584 ล้านบาท และไทยยังขึ้นแท่น “เบอร์ 2” ของโลกในการส่งออกปลากระป๋อง 


ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปของไทยไม่ว่าจะเป็นปลากระป๋อง ปลาเค็ม กุ้งแห้ง หอยจ๊อ ลูกชิ้น ทอดมัน กะปิ ข้าวเกรียบปลา ฯลฯ ล้วนถูกแปรรูปที่ “สมุทรสาคร” มากที่สุด จังหวัดที่ห่างจากกรุงเทพฯราว 30 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งสามารถไปเช้าเย็นกลับได้ จนทำให้ “สมุทรสาคร” เป็น “ฮับอาหารทะเลแปรรูป” ใหญ่ที่สุดของไทย

ข้อมูลจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2565 ระบุว่า เมื่อสำรวจข้อมูลหน่วยธุรกิจการประมงใน 24 จังหวัด (23 จังหวัดชายทะเลและจังหวัดพัทลุง) พบว่า สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มี “มูลค่าสัตว์น้ำ” ที่ใช้ในหน่วยธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำเค็มมากที่สุดที่ 64,004 ล้านบาท คิดเป็น 65.78%

รองลงมา คือ สงขลา มีมูลค่า 12,245 ล้านบาท คิดเป็น 12.59%

และอันดับ 3 สมุทรปราการ มีมูลค่า 5,436 ล้านบาท คิดเป็น 5.59%

ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย - กองปูในตลาดมหาชัย สมุทรสาคร (เครดิต: thailandtourismdirectory) -

ยิ่งหากนับ “จำนวนหน่วยธุรกิจ” ที่ทำการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำเค็มมากที่สุด จังหวัดสมุทรสาครมาเป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวน 160 ราย คิดเป็น 13.36%

อันดับ 2 คือ สงขลา มี 145 ราย คิดเป็น 12.10%

และอันดับ 3 คือ ปัตตานี มี 104 ราย คิดเป็น 8.68%

อีกทั้งบริษัทแปรรูปอาหารทะเลชื่อดังในตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บริษัทเอเชี่ยนซี (ASIAN), บริษัทไทยยูเนี่ยน (TU) ฯลฯ ล้วนมีโรงงานแปรรูปตั้งอยู่ที่จังหวัดนี้ทั้งสิ้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการอาหารทะเลแปรรูปเลือกมาตั้งโรงงานที่ “สมุทรสาคร” มากที่สุด แทนที่จะเป็นทางภาคใต้ของไทย แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

  • สมุทรสาคร เมืองหน้าด่านทางทะเล

เมื่อดูที่ตั้งของสมุทรสาคร จะพบว่า อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนและปากอ่าวไทย แหล่งชุกชุมของสัตว์ทะเลจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แถบบริเวณนี้เป็นที่จอดเทียบท่าของเหล่าสำเภาจีนที่มาค้าขาย จนกลายเป็นเมืองท่าแห่งสำคัญ และชุมชนบริเวณนี้ถูกเรียกว่า “บ้านท่าจีน” และยังเป็นด่านหน้าในการป้องกันข้าศึกที่มารุกรานทางทะเล ก่อนเข้าประชิดเมืองหลวง

ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย

- ตราประจำจังหวัดสมุทรสาครเป็นรูปเรือสำเภา ซึ่งสื่อถึงอดีตที่เคยเป็นเมืองท่าของเหล่าสำเภาจีนจำนวนมากที่มาเทียบท่าค้าขาย (เครดิต: เพจ Facebook จังหวัดสมุทรสาคร) -

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงโปรดให้ใช้ชื่อบริเวณนี้เป็น “เมืองสมุทรสาคร” ซึ่งหมายถึง “เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ

จุดแข็งอีกประการที่ทำให้สมุทรสาครได้เปรียบกว่าจังหวัดแถบภาคใต้ คือ อยู่ใกล้กับ “ท่าเรือแหลมฉบัง” ท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ห่างจากสมุทรสาครราว 150 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพฯราว 130 กิโลเมตร

ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย - ท่าเรือแหลมฉบัง (เครดิต: Shutterstock) -

ไม่เพียงเท่านั้น สมุทรสาครยังอยู่ใกล้ “ท่าเรือกรุงเทพ” หรือท่าเรือคลองเตยราว 50 กิโลเมตร ดังนั้น การตั้งฐานแปรรูปอาหารทะเลในสมุทรสาคร นอกจากใกล้กับแหล่งชุกชุมของสัตว์น้ำแล้ว ยังใกล้กับท่าเรือสำคัญที่ช่วยขนส่งไปต่างประเทศ ลดต้นทุนและประหยัดเวลาการขนส่ง อีกทั้งรักษาความสดของอาหารทะเลได้ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในการแปรรูปอาหารทะเล หลังจากได้รับวัตถุดิบจากแพปลาเข้าโรงงานแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการแปรรูป ทั้งหมักเกลือ ปรุงรส บรรจุกระป๋องต่าง ๆ ฯลฯ เมื่อออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จ ก็สามารถส่งเข้า “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงที่มีประชากรมากที่สุดในไทยราว 5.5 ล้านคนอย่างสะดวก เพราะอยู่ห่างจากสมุทรสาครราว 30 กิโลเมตรเท่านั้น

  • “ตลาดทะเลไทย” ศูนย์กลางอาหารทะเลแปรรูป

สำหรับสมุทรสาคร นอกจาก “ตลาดมหาชัย” อันเลื่องชื่อในบริเวณแม่น้ำท่าจีนที่ขายสัตว์น้ำทะเลแบบสด ๆ แล้ว ตลาดทะเลไทย” เป็นอีกแห่งหนึ่งที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดูแลและส่งเสริมจนกลายเป็น “ศูนย์กลางค้าสัตว์น้ำและอาหารทะเลแปรรูป” ที่ครบวงจรที่สุดในไทย โดยตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 2 ตำบลท่าจีน อำเภอสมุทรสาคร บนพื้นที่กว่า 150 ไร่  และมีมูลค่าซื้อขายสัตว์น้ำรวมประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี

ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย ส่องจุดแข็ง ‘สมุทรสาคร’ ทำไมขึ้นแท่น ‘ฮับอาหารทะเลแปรรูป’ ใหญ่สุดของไทย - บรรยากาศตลาดทะเลไทย (เครดิต: กรมการค้าภายใน) -

ภายในตลาดมีวางจำหน่ายตั้งแต่สัตว์ทะเลสดอย่างกุ้ง กั้ง (คล้ายกุ้ง แต่ตัวใหญ่และให้เนื้อมากกว่ากุ้ง) หอย ปลา หมึก ฯลฯ รวมไปถึงอาหารทะเลแปรรูปอย่างลูกชิ้น ปูอัด หอยจ๊อ กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ปลาเค็ม ฯลฯ

สำหรับอาคารของตลาดแบ่งออกเป็น “ขายส่ง” และ “ขายปลีก” โดยในแต่ละวัน อาคารขายส่งจะเริ่มขายตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของทะเลที่วางมาจากทั้งทางภาคใต้ของไทย และจากต่างประเทศด้วย อาทิ ปลาจากญี่ปุ่น อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฯลฯ จนกระทั่งเวลา 08.00 น. ร้านค้าขายส่งก็จะเริ่มเก็บสินค้าจำหน่ายกลับบ้านแล้ว

ส่วนอาคารขายปลีก เปิดตั้งแต่ 08.00-19.00 น. ของทุกวัน เป็นลักษณะหลายร้านค้าวางจำหน่ายตามล็อก ให้เลือกสรรสัตว์ทะเลแบบสด ๆ แต่ถ้าไม่ต้องการซื้อกลับไปทำเอง บริเวณรอบตลาดก็มีภัตตาคารอาหารทะเลจำหน่ายในราคาไม่แพง มีตั้งแต่เมนูกุ้งเผา ฉู่ฉี่ปลา ปลากะพงนึ่งมะนาว ปูม้านึ่ง น้ำจิ้มซีฟู้ด ฯลฯ

อีกทั้งบริเวณรอบตลาดทะเลไทย ก็จะเป็นที่ตั้งของห้องเย็นและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลจำนวนมาก จนทำให้ “สมุทรสาคร” เป็น “ฮับอาหารทะเลแปรรูป” ที่ใหญ่ที่สุดของไทยและจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อการผลิตสัตว์น้ำ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

  • “สหรัฐ” ลูกค้าเบอร์ 1 สินค้าประมงไทย

จากข้อมูลของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงเดือน ม.ค.- ต.ค. 2566 โดยเรียงลำดับปริมาณการส่งออกสินค้าประมงจากมากไปน้อย ระบุว่า ไทยส่งออกสินค้าประมงไป “สหรัฐ” มากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 177,380 ตัน ด้วยมูลค่า 35,129 ล้านบาท อันดับ 2 จีน 170,721 ตัน ด้วยมูลค่า 19,116 ล้านบาท และอันดับ 3 ญี่ปุ่น 158,415 ตัน ด้วยมูลค่า 32,178 ล้านบาท

ส่วนสินค้าประมงส่งออกไปต่างประเทศ หากแยกออกเป็นแต่ละรายการของช่วงเดือน ม.ค.- ต.ค. 2566 โดยเรียงลำดับปริมาณการส่งออกจากมากไปน้อย จะพบว่า ไทยส่งออก “ทูน่ากระป๋อง” มากที่สุดที่ 336,215 ตัน ด้วยมูลค่า 53,584 ล้านบาท ส่วนสินค้าประมงส่งออกอื่น ๆ ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากที่สุดรองลงมา มีดังต่อไปนี้

  • ซาร์ดีนกระป๋อง 46,599 ตัน มูลค่า 4,183 ล้านบาท
  • กุ้งปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย 45,263 ตัน มูลค่า 17,044 ล้านบาท
  • ปลากระป๋องอื่น ๆ 30,578 ตัน มูลค่า 4,831 ล้านบาท
  • ปลาแห้ง 14,745 ตัน มูลค่า 1,369 ล้านบาท
  • อาหารทะเลกระป๋องอื่น ๆ 10,839 ตัน มูลค่า 1,318 ล้านบาท
  • หมึกแปรรูปหรือปรุงแต่ง 5,232 ตัน มูลค่า 1,646 ล้านบาท
  • ปูกระป๋อง 449 ตัน มูลค่า 274 ล้านบาท
  • ปูที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย 447 ตัน มูลค่า 155 ล้านบาท
  • กุ้งกระป๋อง 314 ตัน มูลค่า 98 ล้านบาท

นอกจากนั้น ด้วยปริมาณปลากระป๋องที่ไทยส่งออกเป็นจำนวนมาก รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศ จึงทำให้ “ไทย” ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของโลกในการส่งออกปลากระป๋อง โดยเป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น ตามข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศสำหรับช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2566

อ้างอิง: asianseaditfisheriessamutsakhonfisherieกรุงเทพธุรกิจ