ถึงยุค ‘เทคฯจีน’ ต้องการ ‘คนทักษะเฉพาะทาง’ ปริญญาตรี อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

ถึงยุค ‘เทคฯจีน’ ต้องการ ‘คนทักษะเฉพาะทาง’ ปริญญาตรี อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ถือเป็นสถานที่ทำงานในฝันของเด็กจบใหม่มาโดยตลอด ทว่าในปัจจุบัน สิ่งที่บริษัทเหล่านี้ต้องการ กลับไม่ใช่คนที่จบปริญญาสูง ๆ แต่เป็นคนที่มีทักษะเฉพาะทางมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้พวกเขาจะไม่ได้จบมหาวิทยาลัยก็ตาม

Key Points

  • CATL บริษัทผลิตแบตเตอรี่ EV ของจีนได้จ้างพนักงานมากกว่า 3 เท่าใน 3 ปีจนแตะระดับ 118,914 คนในปี 2565 โดยเกือบ 80% มีวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรี
  • สำหรับอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตามข้อมูลการขาดแคลนแรงงานของจีนในปี 2565 พบว่า ”พนักงานขาย” เป็นอาชีพที่ตลาดต้องการมากที่สุด
  • มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคเซินเจิ้น เป็นวิทยาลัยอาชีวะที่บรรดาวิศวกรของบริษัท BYD ได้ช่วยวิทยาลัยฯ ออกแบบหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพาเหล่านักศึกษาไปเรียนรู้การทำงานจริงในโรงงานของบริษัท BYD


ในค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนนั้น ยิ่งจบการศึกษาสูงก็ยิ่งมีโอกาสในอาชีพการงานดีขึ้น พ่อแม่หลายคนใฝ่ฝันให้ลูกมีการศึกษาอย่างน้อยเป็นปริญญาตรี แต่ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไป เมื่อหลายบริษัทเทคโนโลยีและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนต้องการเด็กจบสายอาชีวศึกษามากกว่า โดยมีความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติในเฉพาะทาง แม้จะไม่มีวุฒิปริญญาก็ตาม

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า แม้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีจีนปลดพนักงานไปเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งหนุ่มสาวจีนเผชิญกับอัตราตกงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะที่ระดับ 21.3% ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนประกาศระงับเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

แต่ล่าสุด ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทเทคฯเหล่านี้กลับต้องการแรงงานทักษะเฉพาะทางมากขึ้นแทน โดย CATL บริษัทผลิตแบตเตอรี่ EV ของจีนได้จ้างพนักงานมากกว่า 3 เท่าใน 3 ปีจนแตะระดับ 118,914 คนในปี 2565 โดยเกือบ 80% มีวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรี

ในขณะที่ SMIC บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของจีน มีพนักงานทีมวิจัยและพัฒนาด้านนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 30% นับตั้งแต่ปี 2564 จนแตะระดับ 2,283 คนในเดือน มิ.ย. ปีนี้ โดยผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโทอยู่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด

ส่วนผู้ที่มีระดับการศึกษาระดับอาชีวศึกษาหรือต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น 10% สวนทางกับผู้ที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีที่ลดลง 8% นั่นหมายความว่า ถ้าหากไม่ใช่สายอาชีวะที่เฉพาะทางไปเลย การเป็นสายสามัญก็อยู่ในระดับเก่งขั้นสูง เพราะระดับกลางอย่างปริญญาตรีอาจไม่เพียงพอแล้ว

ยิ่งหลังจากรัฐบาลสหรัฐออกมาตรการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน ก็ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บรรดาบริษัทเทคฯจีนต้องเร่งสร้างคนสายเฉพาะทางและสายเทคนิคขึ้นมา เพื่อเร่งพัฒนาชิปให้สู้กับสหรัฐได้

  • ทักษะแรงงานที่ตลาดต้องการเปลี่ยนไปแล้ว

แต่เดิม หลายบริษัทต้องการแรงงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนการเติบโต มีตั้งแต่การใช้แรงงาน ตัดเย็บ แยกประเภทสินค้า ฯลฯ เป็นเช่นนี้ในรูปแบบซ้ำไปซ้ำมา ตัดภาพมาที่อุตสาหกรรมปัจจุบัน มีการใช้หุ่นยนต์เป็นจำนวนมากแทนแรงงานมนุษย์แล้ว

ดังนั้น ทักษะที่เป็นรูปแบบซ้ำไปมาแบบเดิม อาจต้องยกระดับเป็นทักษะที่ใช้การวิเคราะห์ หรือทักษะในเชิงซับซ้อนมากขึ้นแทน รวมถึงทักษะการควบคุมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ตลาดต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตามข้อมูลการขาดแคลนแรงงานของจีนในปี 2565 พบว่า ”พนักงานขาย” เป็นอาชีพที่ตลาดต้องการมากที่สุด

ส่วนอาชีพอันดับที่ 2 คือ ”พนักงานผลิตรถยนต์” ขณะที่อาชีพ “ผลิตเซมิคอนดักเตอร์” ติดใน 100 ตำแหน่งแรกที่ตลาดต้องการมากที่สุด

  • บริษัทเทคฯ-EV ร่วมมือสถาบันอาชีวะฝึกคน

ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งของจีน มีการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิต EV ชั้นนำของประเทศอย่าง BYD ผู้ผลิตรถ EV, Baidu บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ฯลฯ มาช่วยฝึกฝนทักษะให้นักศึกษาด้วย เพราะบุคลากรเหล่านี้คลุกคลีอยู่กับงานด้านนั้นโดยตรง และเข้าใจอุปสรรคที่อยู่นอกเหนือตำราได้

จู เสี่ยวชุน (Zhu Xiaochun) รองผู้อำนวยการ สาขาวิชายานยนต์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคเซินเจิ้น (Shenzhen Polytechnic University) กล่าวว่า บรรดาวิศวกรของบริษัท BYD ได้ช่วยวิทยาลัยฯ ออกแบบหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพาเหล่านักศึกษาไปเรียนรู้การทำงานจริงในโรงงานของบริษัท BYD

นอกจากนั้น จูอ้างว่า นักศึกษาระดับต้นของวิทยาลัยฯ มีโอกาสได้งานอยู่สูงกว่า 90%
“เป็นเรื่องง่ายที่นักศึกษาของเราจะได้งาน เพราะพวกเขามีทักษะทางอาชีพที่บริษัทต่าง ๆ รวมถึง BYD ต้องการ”

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความท้าทายสำหรับวิทยาลัยอาชีวะที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน คือ มุมมองที่สังคมมีต่ออาชีวศึกษา สตีเฟน บิลเล็ตต์ (Stephen Billett) ศาสตราจารย์ด้านอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย Griffith ของออสเตรเลีย ระบุว่า สังคมมักมองว่าการศึกษา “สายสามัญ” ดีกว่า “สายอาชีวะ” เพราะดูมีระดับมากกว่า จึงเป็นความท้าทายที่จะเปลี่ยนกรอบความคิดนี้และหาวิธีปรับปรุงระบบอาชีวศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ้างอิง: cnbc