‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ 4 เดือน ถึงเวลากระชับทีมเศรษฐกิจ
ผ่านมาแล้ว 4 เดือน สำหรับรัฐบาลเศรษฐา แต่ก็ยังมีบางนโยบายที่ทำไม่ได้เหมือนตอนหาเสียง เช่น การแจกเงินดิจิทัล การขึ้นค่าครองชีพ การตรึงราคาพลังงาน ที่เหมือนจะมีความคืบหน้า แต่บางครั้งพรรคร่วมก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นก็ถึงเวลานายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องกระชับทีมเศรษฐกิจ
นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2566 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หลังจากนั้นเวลาจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจัดทำนโยบายรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.2566 เรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มตัวได้ 4 เดือน แล้ว โดยไม่ว่านายเศรษฐาจะเป็นผู้เลือกบุคคลมาประกอบเป็น ครม.มากน้อยแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดนายเศรษฐา เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในฐานะนายกรัฐมนตรี
ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มทำงาน นายกรัฐมนตรีบอกกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจว่าจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง เพื่อดูภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งหลายนโยบายรัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่ประกาศไว้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท ที่เคยถูกกำหนดจะเริ่มแจกในวันที่ 1 ก.พ.2567 แต่รัฐบาลระบุว่ามีปัญหาข้อกฎหมายและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอบถามความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงทำให้ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังไม่ได้ข้อสรุป
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้อย่างแข็งขันไม่สามารถทำได้ทันที หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เสนอ ครม.รับทราบการปรับขึ้น 2-16 บาท เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้กลับไปทบทวน เพราะข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่บริหารโดยพรรคภูมิใจไทย ไม่ตรงกับนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แต่ท้ายที่การประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างกลางรอบใหม่ยังคงยืนยันการปรับขึ้นที่ 2-16 บาท ถือว่าห่างไกลจากสิ่งที่ประกาศไว้ 400 บาท
นโยบายการดูแลราคาพลังงานระยะสั้น 3 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะดำเนินการได้ทันทีตามที่ประกาศไว้ แต่ในรายละเอียดมีความเห็นต่างของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ลดหรือตรึงราคาไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยกระทรวงพลังงานมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า จึงทำให้ ครม.พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องหลายรอบไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ราคาดีเซลและเบนซิน
ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่ประกอบด้วยหลายพรรคจึงสะท้อนถึงความไม่ราบรื่นในการทำงาน รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่จะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการทำงานของกระทรวงการคลัง ในสถานการณ์เช่นนี้นายกรัฐมนตรีคงมองเห็นจุดอ่อนของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลแล้ว และจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องกระชับการทำงานให้ได้ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลเศรษฐาจะไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างแน่นอน