ความร่วมมือไทย-เยอรมนี ประตูสู่เอฟทีเออียู
การเจรจาระหว่างไทยและเยอรมนีอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลกเข้าสู่ความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายปัจจัย ซึ่งผลลัพธ์ในครั้งนี้อาจนำไปสู่ช่องทางสำคัญในการค้าขายระหว่างไทยและเยอรมนีในอนาคต
นับเป็นข่าวน่ายินดีที่นายฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr.Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกิจการสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและภูมิอากาศ และคณะผู้แทนภาคธุรกิจเยอรมนี มาเยือนไทยระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค. ถือเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำต่างประเทศในรัฐบาลปัจจุบัน ระหว่างหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วานนี้ (25 ม.ค.) ผู้นำทั้งสองได้พูดคุยกันในหลายประเด็น
ประเด็นหลักๆ คือด้านเศรษฐกิจ ภาคเอกชนเยอรมนีลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และให้ความสนใจขยายการลงทุนเพิ่ม, ด้านภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด, ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน น่าสังเกตว่านักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากที่สุดในอียู และด้านความร่วมมือในกรอบสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประธานาธิบดีเยอรมนีพร้อมสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจาเอฟทีเอกับอียู จะว่าไปแล้วเยอรมนีถือว่าไม่ธรรมดา เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอียู และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค. ตัวแทนอียูบินตรงจากบรัสเซลส์มาเจรจาเอฟทีเอรอบสองกับไทย
ความสอดคล้องต้องกันยังไม่จบแค่นั้น สัปดาห์ก่อนหอการค้าเยอรมัน-ไทย (จีทีซีซี) จัดงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 ได้ ดร.มาร์ติน วานสเลเบน (Dr.Martin Wansleben) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมัน (ดีไอเอชเค) มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “DIHK Insights : Germany's economic landscape and business ties with ASEAN and Asia-Pacific” เน้นย้ำถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของภาคธุรกิจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เขาสนับสนุนการเจรจาการค้าเสรี ขณะที่ ไมเคิล เวลเซอร์ ประธานจีทีซีซี เผยว่า เยอรมนียังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทยในอียู บริษัทเยอรมนียังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและศักยภาพของไทย
ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงโมเมนตัมของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความท้าทายที่โลกต้องเผชิญในปี 2567 ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อ สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอื่นๆ ถ้าไม่ร่วมมือกันคงอยู่ยาก การเจรจาเอฟทีเอจึงเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำมาค้าขายกันมากขึ้นบนพื้นฐานที่เป็นธรรม ขอเป็นกำลังใจให้การเจรจาบรรลุผลโดยเร็วสร้างประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ยังไม่แน่ไม่นอน