วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 มันชื่อโควิด แต่ผู้ร้ายตัวจริงไม่ใช่โควิด

วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 มันชื่อโควิด แต่ผู้ร้ายตัวจริงไม่ใช่โควิด

วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 มันชื่อโควิด แต่ผู้ร้ายตัวจริงไม่ใช่โควิด หรือความจริงเศรษฐกิจโลกไม่ดีอยู่แล้ว?

โควิด-19 ยังคงอยู่กับเราต่อไป และจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าการระบาดใหญ่ครั้งใหม่จะเกิดขึ้น เหมือนกับที่โลกของเราเคยพบกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดสเปน ซึ่งตัวโรคไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่การระบาดได้จบสิ้นลงหลังมันเอาชีวิตมนุษย์ไปมากพอแล้ว พร้อม ๆ กับทำลายเศรษฐกิจและการเมืองของโลกจนเสียหายหนัก จนเรียกว่าเป็น 'ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากโควิด-19' หรือ COVID-19 recession

 

 

แต่โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกพินาศจริงหรือ? เพราะแม้แต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนก็ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ตรงกันข้ามเลย หลังสิ้นสุดการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1920 จากนั้นสังคมโลกเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Roaring Twenties หลังจากทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นทศวรรษแห่งดนตรีและแฟชั่น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันตก เป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จนกระทั่งโลกประสบกับภาวะเศรษฐกิตกต่ำรุนแรง Great Depression ในปี 1929 และไปสิ้นสุดในปี 1939

 

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในทศวรรษที่ 2020 ต่างจากทศวรรษที่ 1920 เพราะโลกเข้าสู่ภาวะ 'โลกไร้พรมแดน' หรือโลกาภิวัฒน์ ซึ่งการค้าและบริการเชื่อมโยงกันทั่วโลก แต่ถึงขนาดนี้แล้วโลกก็ไม่ได้เจอกับ Great Depression เวอร์ชั่นที่ 2 เลย แต่เจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) เท่านั้น เราจะมาย้อนรอยเหตุและผลและสรุปความเสียหายกัน เพราะในปีนี้ซึ่งปีที่องค์การอนามัยโลกประกาศยุติสถานะ 'การระบาดใหญ่' ของโควิด-19 แต่แม้มันจะหยุดการระบาดใหญ่แล้ว เศรษฐกิจของโลกก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเฟื่องฟูขึ้นมาเลย มันเป็นเพราะอะไรกันแน่?

 

 

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดอะไร?

ผลจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโรคระบาด ทำให้ประเทศต่าง ๆ และเขตเศรษฐกิจทั่วโลกใช้มาตรการล็อคดาวน์ประชากรเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด ส่งผลให้เกิดการล่มสลายของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะ

 

- แม้สำนักงานยังดำเนินงานต่อไปได้ แต่โรงงานหลายแห่งทำงานจากบ้านไม่ได้จึงต้องหยุดทำการ ในทันทีทันใดนั้น ทำให้ผู้คนหลายล้านคนไม่มีงานทำ ในช่วงระลอกแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจต่าง ๆ สูญเสียรายได้ 25% และพนักงาน 11%

 

- การปิดประเทศทำให้การส่งสินค้าหรือชิ้นส่วนการผลิตข้ามประเทศเป็นไปไม่ได้ ทำให้กระบวนการผลิตข้ามชาติ หรือ 'ห่วงโซ่อุปทาน' (Supply chain) หยุดชะงักลง เช่น การผลิตยางรถยนต์ในประเทศ A ดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำยางจากประเทศ B ส่งมา หรือ ประเทศ C ไม่สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ได้ เพราะประเทศ D ไม่สามารถส่งชิปคอมพิวเตอร์ให้ได้

 

- เมื่อระบบการผลิตขาดสะบั้นและคนงานหลายล้านไม่มีงานทำ มันจึงทำลายการบริโภคลง เพราะคนตกงานไม่มีศักยภาพที่จะซื้อได้อีก ยังไม่นับความหวาดกลัวหลังจากการติดเชื้อหรือกลัวว่าจะตกงาน ทำให้เกิดความระมัดระวังการซื้อหาสินค้า ยิ่งทำให้การบริโภคชะงัก ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการหยุดชะงักไปทั่วโลก (Global disruption) ซึ่งทำลายเสาหลักของเศรษฐกิจโลก นั่นคือ กระบวนการโลกาภิวัฒน์


    
เหตุผล 'จริงๆ' ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกพัง

แต่การระบาดใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาอย่างหนัก เพราะเราจะพบว่า

 

- มีเพียง 4% ขององค์กรทางธุรกิจเท่านั้นที่ประกาศล้มละลายหรือปิดกิจการถาวรในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อาจเป็นเพราะว่าช่วงที่มีการล็อคดาวน์ เศรษฐกิจโลกทั้งระบบถูกแช่แข็งไปด้วย ทำให้ความเสียหายไม่ลุกลามมาก

 

- ดัชนีตลาดหุ้นหลายแห่งฟื้นตัวหรือแม้กระทั่งสร้างสถิติใหม่ภายในปลายปี 2020 ภายในเดือนเมษายน 2022 และจีดีพีของประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ส่วนใหญ่กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการระบาดหรือเกินระดับก่อนการระบาดด้วยซ้ำ

 

- ที่ความเสียหายจำกัดวง เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศทุ่มเงินช่วยประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เช่น มีการผ่านกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกามูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

 

- ความเสียหายหนัก ๆ เกิดกับการจ้างงาน เช่น ในไทยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 2% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ซึ่งสูงกว่า 3 เท่าของอัตราการว่างงานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.6%

 

- แต่การว่างงานดีขึ้นทันทีเมื่อรัฐบาลยุติการล็อคดาวน์ เช่น อัตราการว่างงานของไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ลดลงต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยอยู่ที่ 0.9% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น

 

- แต่ให้สังเกตตัวเลขคำว่า '4 ปี' นั่นหมายความว่าการจ้างงานของไทยไม่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 โดยครั้งสุดท้ายที่อัตราการว่างงานของไทยลดลงต่ำกว่า 1% คือในเดือนตุลาคม 2019 หรือ 3 เดือนก่อนที่โควิด-19 จะถูกประกาศให้เป็น 'ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลระหว่างประเทศ' ในเดือนมกราคม 2020 หรือ 5 เดือนก่อนที่มันจะถูกประกาศเป็นการระบาดใหญ่ในเดือนมีนาคม 2020

 

ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว การว่างงานในช่วงโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจโดยพื้นฐาน แต่เป็นปัญหาเชิงเทคนิคอันเกิดจากการชัตดาวน์ประเทศ เราจะเห็นตัวบ่งชี้อีกอย่างก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เริ่มขึ้นในประเทศส่วนใหญ่ในโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หรือยังไม่ถึง 1 เดือนที่โลกเริ่มตระหนักว่าโควิด-19 เป็นอันตรายระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจโลกของเรามีวี่แววที่ไม่ดีมาก่อนหน้านั้นแล้ว

 

ความจริงก็คือเศรษฐกิจโลกไม่ดีอยู่แล้ว และจะแย่ต่อไป

เนื่องจากการระบาดใหญ่ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจโดยพื้นฐาน แต่เป็น 'อุบัติเหตุ' ที่อยู่เหนือการควบคุมในระยะแรก ดังนั้นช่วงแรก ๆ มันจึงส่งผลกระทบแบบเกินคาด เมื่อโลกของเรามีวัคซีนและเริ่มการเปิดประเทศทุกอย่างก็ดีขึ้นมา ซึ่งต่างจากปัญหาเศรษฐกิจทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสและไม่ได้แก้ด้วยวัคซีน สิ่งที่โลกเราเผชิญตั้งแต่ก่อนการระบาดใหญ่จนถึงตอนนี้ คือ 'การล่มสลายของระบอบการค้าโลก' ต่างหาก

 

เกิดอะไรกับการค้าของโลก? ก่อนที่โควิด-19 จะทำให้แย่ลง (แค่ชั่วคราว)

- สิ่งนั้นคือ สงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018 ถึงต้นปี 2020 และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญทั่วทั้งเศรษฐกิจโลกและสะเทือนมาถึงทุกวันนี้และต่อไปเรื่อย ๆ ยังไม่จบลง ตราบใดที่สองประเทศยังขัดแย้งกัน ระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกก็จะยังไม่ฟื้น เพราะทั้งสองประเทศนี้คือกลไกสำคัญของการค้าโลก และประเทศอื่น ๆ ก็ถูกลากเข้าไปในความขัดแย้งนี้ด้วย เช่น ประเทศ A ที่ผลิตชิ้นส่วนให้จีนไปผลิตสินค้าต่อ ก็จะถูกสหรัฐฯ กีดกันการค้าไปด้วย

 

- มันเริ่มต้นในปี 2018 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มกำหนดอัตราภาษีและอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ กับจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อบังคับให้จีนเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สหรัฐฯ เรียกว่า 'แนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม' นั่นคือ สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าจีนควบคุมค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ขายสินค้าได้มากในราคาถูกกว่า แต่จีนนำเข้าสินค้าฯจากสหรัฐน้อยกว่ามาก สหรัฐอเมริกายังกล่าวหาว่าจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาทำให้จีนผลิตสินค้าเฉพาะทางบางอย่างได้เองโดยไม่ต้องสั่งเข้ามา และสหรัฐฯไม่พอใจที่รัฐบาลจีนบังคับบริษัทอเมริกันต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีของอเมริกาให้กับจีนถ้าอยากจะมาตั้งฐานการผลิตในจีน

 

- สงครามการค้าครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง และทำให้คนจีนมีรายได้ลดลง นั่นหมายความว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังจีน เช่น ไทย ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนในสหรัฐอเมริกา เกษตรกรและผู้ผลิตขายสินค้าไม่ได้ เพราะตลาดจีนตอบโต้ด้วยการไม่รับสินค้าจากพวกเขา ส่วนผู้บริโภคก็ต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้นเพราะไม่มีสินค้าถูก ๆ จากจีนเข้ามาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ 'ภาวะถดถอยเล็กน้อย' ในช่วงปี 2019

 

- อีกหนึ่งสัญญาณอันตรายตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ก็คือ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินระหว่างปี 2007-2008 หนี้ของภาคธุรกิจในบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 84% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลกในปี 2009 เป็น 92% ในปี 2019 หรือประมาณ 72 ล้านล้านดอลลาร์ พอถึงปี 2019 หรือก่อนโควิด-19 ไม่กี่เดือน ในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 8 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และเยอรมนี หนี้บริษัททั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 51 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับ 34 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2009

 

- ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ที่เลวร้ายแบบไม่เคยมีมาก่อน คือกรณีคือ หนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการค้าที่ซบเซาจากผลของสงครามการค้า ทำให้สภาพคล่องมีปัญหาไปทั่วจีน เพราะชาวจีนนิยมออมเงินในภาคอสังหาริมทรัยพ์ เมื่อเกิดโควิด-19 ซ้ำตามมาอีก สิ่งที่ตามมาก็คือ บริษัทใหญ่เกิดปัญหาหนี้เสียรุนแรง โดยเริ่มจากบริษัทใหญ่อันดับต้น ๆ ของจีนคือ Evergrande Group และหลังจากนั้นก็ตามมาอีกหลายบริษัท

 

- สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนตอนนี้ เป็นการหัก 'ปากกาเซียน' เพราะเชื่อกันว่าหลังจากจีนเปิดประเทศเมื่อโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว เศรษฐกิจจีนจะดีเหมือนเดิม และเศรษฐกิจโลกจะดีไปด้วย (รวมถึงไทย ซึ่งผูกตัวเองกับการค้าและการท่องเที่ยวกับจีน) แต่ปัญหาของจีนและทั่วโลกไม่ใช่ปัญหาจากภาวะซบเซาจากโควิด-19 แต่เป็นปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น กำลังเกิดอยู่ และจะดำเนินต่อไป ดังนั้น จนถึง ณ เวลานี้ เศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่ดีขึ้น เราจะเห็นได้ว่าจีนใช้จ่ายน้อยลงในเรื่องการซื้อสินค้าและบริการหรือสร้างบ้าน ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ในเดือนสิงหาคมปี 2023 ประเทศจีนนำเข้าน้อยลงเกือบ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งปีที่แล้วจีนยังคงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการล็อคดาวน์ด้วยซ้ำ

 

- นักวิเคราะห์บางคนถึงคาดการณ์ว่า จีนอาจจะตกลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2024 เมื่อจีนไม่ฟื้น ประเทศไทยก็จะไม่ฟื้น รวมถึงประเทศที่ส่งออกหลักของโลกด้วย ปัญหาที่ลากยาว (แบบไม่สนว่าโควิด-19 จะอยู่หรือจะไปแบบนี้) อาจจะแย่ลงอีกในปี 2024 หากโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้เริ่มสงครามการค้ากับจีน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะมีขึ้นในปี 2024 และผู้รับตำแหน่งผู้นำคนใหม่จะเริ่มรับตำแหน่งในปี 2025


    
ดังนั้น ถึงแม้ว่าปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า 'ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากโควิด-19' หรือ COVID-19 recession เพราะแค่โควิด-19 ทำให้มันหนักลง และโควิด-19 เป็นอีเว้นต์ร่วมกันของชาวโลกเท่านั้น ซึ่งการระบาดมันยังจบไปแล้วด้วย แต่ความอ่อนแอในระบบเศรษฐกิจยังคงอยู่ ถึงแม้ว่ายังไม่ถึงกับระดับ recession เพราะแต่ความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่จบลง และตัวปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้ถูกแก้เลย

 

เช่นเดียวกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อทศวรรษที่ 1920 มันไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ผู้คนล้มตายหลายล้าน การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็เหมือนกัน มันไม่ได้ทำให้เกิดการหยุดชะงักระยะยาวเลย แต่การระบาดใหญ่ทั้งสอง เป็นเหมือนการโหมโรงของเหตุการณ์ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ในกรณีของไข้หวัดใหญ่สเปน มันจะใช้เวลาอีก 20 ปีหลังจากนั้นก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง แต่สำหรับกรณีของโควิด-19 มันอาจใช้เวลาสั้นกว่านั้นหลายเท่า เพราะโลกของเราแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมเมื่อโลกหลุดจากการะบาดใหญ่ บางตัวเลขเศรษฐกิจยังแย่กว่าตอนระบาดเสียอีก นั่นหมายความว่าโลกของเรากำลังจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจจริง ๆ ในอีกไม่นานหรือเปล่า?