เสียงตะโกนจาก ‘เครดิตบูโร’ หนี้เสียพุ่งทะลุ 1 ล้านล้าน
ตัวเลขหนี้เสียทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2566 ออกมากางโชว์ พบว่า ยอดหนี้เสียรวมทะลุ “1 ล้านล้านบาท” ซึ่ง “น่าเป็นห่วงมาก” เพราะ คนกลุ่มกลาง-ล่าง รายได้ยังไม่กลับมาเท่ากับก่อนโควิด แต่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับเงินเฟ้อ แถมภาระดอกเบี้ยจ่ายยังเพิ่มขึ้นด้วย
ไม่รู้ว่ามีใครได้ยินเสียงของ “เครดิตบูโร” กันบ้างไหม ซึ่งที่ผ่านมา “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” พยายามออกมาเตือนให้ระวังควันไฟจากหนี้เสีย เพราะห่วงว่าไฟจะจุดติดลุกลามเป็นวงกว้าง ล่าสุด “สุรพล” หยิบตัวเลขหนี้เสียทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2566 ออกมากางโชว์ พบว่า ยอดหนี้เสียรวมทะลุ “1 ล้านล้านบาท” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นสัดส่วนราว 7.7% ของหนี้ทั้งระบบ
ตัวเลขนี้ไม่รู้ว่า “แบงก์ชาติ” เป็นห่วงมากน้อยแค่ไหน เพราะเสียงเตือนที่ออกมาจากข้างในรั้วบางขุนพรหมดูเบาๆ แต่สำหรับกองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจแล้ว บอกได้เลยว่า “น่าเป็นห่วงมาก” ...ที่เราเป็นห่วงสุด คือ คนกลุ่มกลาง-ล่าง เพราะพบว่ามีจำนวนมากๆ ที่รายได้ยังไม่กลับมาเท่ากับก่อนโควิด ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับเงินเฟ้อ แถมภาระดอกเบี้ยจ่ายยังเพิ่มขึ้นด้วย
ตัวเลขที่ “สุรพล” โชว์ออกมาให้เห็น พบว่า หนี้เสียรถยนต์ในไตรมาส 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 28% หนี้เสียฝั่งบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเกือบๆ 12% หนี้เสียพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 7% ทั้งหมดนี้ว่าน่าเป็นห่วงแล้ว แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่า คือ “หนี้ SM” หรือกลุ่มสินเชื่อที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะเริ่มมียอดค้างจ่ายเกิน 30 วัน แต่ยังไม่ถึง 90 วัน ซึ่งกลุ่มนี้พร้อมจะพัฒนากลายเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต โดยเฉพาะพอร์ต “สินเชื่อบ้าน” ที่พบว่า หนี้ SM พุ่งทะยานถึง 31% ส่วนใหญ่เป็นบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท
สาเหตุที่เราเป็นห่วงกลุ่มหนี้ SM ในพอร์ตสินเชื่อบ้าน เพราะสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า คนเริ่มจะผ่อนไม่ไหวกันแล้ว และจริงๆ “บ้าน” ถือเป็นสินเชื่อตัวสุดท้ายที่คนจะยอมทิ้ง ยกเว้นหมดปัญญาจริงๆ ที่เป็นแบบนี้ก็น่าจะเป็นเพราะรายได้ของคนกลุ่มระดับกลาง-ล่างยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ถ้าดูระดับ GDP ของประเทศก็ชัดเจนว่าเราเพิ่งขึ้นมาอยู่ระนาบเดียวกับช่วงก่อนโควิด ในขณะที่ดอกเบี้ยบ้านเพิ่มสูงขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายที่แซงช่วงก่อนโควิดไปหลาย Step
เราเข้าใจความเป็นห่วงของ “แบงก์ชาติ” ที่กังวลว่า คนจะก่อหนี้เกินตัวหากปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ แต่แบงก์ชาติเองก็มีมาตรการดูแลให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบอยู่แล้ว คือ ไม่ปล่อยให้กับคนที่มีภาระหนี้เกินตัว ที่สำคัญผลสำรวจการก่อหนี้ระยะหลังของคนส่วนใหญ่ที่ทาง EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์สำรวจมา พบว่า “บางคนเริ่มที่จะก่อหนี้เพื่อไปคืนหนี้” พูดง่ายๆ คือ หมุนเงินนั่นเอง สะท้อนว่าไม่ได้กู้เพื่อไปใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มเติม ดังนั้นถ้าภาระดอกเบี้ยของคนเหล่านี้ลดลงมาหน่อย ความเป็นอยู่ของหลายๆ คนน่าจะดีขึ้นบ้าง!