เตือนประชานิยม 'ไทย-อินโดฯ' อันตราย ท้าทายหั่นอันดับเครดิตเรตติ้ง

เตือนประชานิยม 'ไทย-อินโดฯ' อันตราย ท้าทายหั่นอันดับเครดิตเรตติ้ง

สื่อนอกวิจารณ์นโยบายประชานิยม 2 ชาติเอเชีย "นมฟรีอินโดนีเซีย" กับ "ดิจิทัลวอลเล็ตไทย" จ่อฉุดการคลังขาดดุลหนักทั้งคู่ เสี่ยงถูกหั่นอันดับเครดิต

KEY

POINTS

  • สื่อนอกเตือน 'ไทย-อินโดนีเซีย' ติดหล่มนโยบายประชานิยมหลังเลือกตั้งที่ใช้งบสูงถึงเกือบ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ 
  • นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bloomberg มอง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ของไทยน่ากังวลที่สุด เพราะเงินที่แจกมาจากการกู้ และช่วยกระตุ้นการเติบโตได้แค่ระยะสั้น
  • นักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงลบกับตลาดตราสารหนี้ไทย และค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกกับตลาดตราสารหนี้อินโดนีเซีย แต่ยังต้องรอดูรายละเอียดของรัฐบาลใหม่ก่อน
  • Moody และ S&P เคยเตือนว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อาจกระทบต่ออันดับเครดิตของไทย ส่วน Fitch เตือนอินโดนีเซียอาจเจอความเสี่ยงทางการคลังระยะกลาง

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเศรษฐกิจชื่อดังอย่าง “Bloomberg” มองว่า “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของไทยกับ “อาหารกลางวันฟรี” ของอินโดนีเซีย ส่อเพิ่มความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือด้านการลงทุน

ในอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศเตรียมแจกอาหาร และนมฟรีให้เด็กในโรงเรียนมากกว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดช่องว่างการพัฒนา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นที่คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 120 ล้านล้านรูเปียห์ ในช่วงปีแรก ก่อนที่งบประมาณนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านล้านรูเปียห์ ภายในปี 2572 

ด้วยงบประมาณที่ขยายเช่นนี้ จึงมีแนวโน้มจะทำให้เกิด “ภาวะขาดดุลงบประมาณ” สูงขึ้นเป็น 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2568 จากระดับ 2.29% ที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้

ขณะในไทย นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับคนไทยเกือบทุกคนของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้น GDP ของไทยให้โตมากกว่า 2% และต้องใช้เงินราว 5.6 แสนล้านบาทด้วย “เงินกู้” เป็นส่วนใหญ่

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินจึงเตือนว่า นโยบายเงินดิจิทัลนี้อาจกระตุ้นเงินเฟ้อ และกระทบต่อวินัยทางการคลัง รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน บรรดานักเศรษฐศาสตร์ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างออกมาส่งเสียงคัดค้าน และเสนอให้กลับมาแจกเฉพาะกลุ่มดีกว่า เพราะประหยัดงบประมาณ และกระตุ้นได้ตรงจุดมากขึ้น

จาก 2 ตัวอย่างโครงการประชานิยมของ “ไทย” กับ “อินโดนีเซีย” เหล่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังก็ออกโรงเตือน โดย Fitch Ratings ชี้ว่า อินโดนีเซียอาจเผชิญ “ความเสี่ยงทางการคลัง” ในระยะกลางสูงขึ้น ส่วน Moody และ S&P Global เคยออกโรงเตือนว่าไทยมีสิทธิถูกหั่นอันดับเครดิตในอนาคต  จากภาระหนี้ก้อนใหญ่ และเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ยูเบน พาราคิวเลส (Euben Paracuelles) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากโนมูระ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องท้าทายที่รัฐบาลทั้งสองจะยอมถอยจากนโยบายแนวประชานิยม เพราะเป็นตัวชูโรง และสร้างกระแสเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจสร้างการเติบโตในระยะชั่วคราว อันที่จริงแล้ว เงินควรถูกใช้ในสิ่งที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าอย่างโครงสร้างพื้นฐาน

อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ กองทุนทั่วโลกได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลไทย และอินโดนีเซียรวมกว่า 928 ล้านดอลลาร์หรือราว 33,000 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้วถึงราว 6% นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว จนกลายเป็นสกุลเงินที่ทำผลงาน “แย่ที่สุด” ในบรรดาสกุลเงินประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

ส่วนอินโดนีเซีย ข้อมูลจากดัชนี Bloomberg Asia Dollar ระบุว่า สกุลเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 0.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งในวันที่ 14 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา จนกลายเป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าสกุลเงินโดยรวม

นักเศรษฐศาสตร์กังวลไทยมากกว่าอินโดฯ

เลียม สปิลเลน (Liam Spillane) หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของบริษัทจัดการลงทุน Aviva Investors ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า “นโยบายประชานิยมดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง และสิ่งที่ทำให้เรากังวลมากกว่าคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง” โดยสปิลเลนมีมุมมองเชิงลบกับตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ค่อนข้างมีมุมมองเป็นบวกกับตลาดตราสารหนี้อินโดนีเซีย ทว่าอาจต้องรอดูรายละเอียดหลังผลการเลือกตั้งอีกครั้ง

ถ้าดูกลุ่มผู้นำในภูมิภาคอาเซียน จะเห็นว่า พวกเขาปรับนโยบายไปทางเอาใจกลุ่มชนชั้นล่าง และกลางมากขึ้น ผ่านการแจกเงิน หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ประสบความลำบากในช่วงโควิด-19 เงินเก็บหดหาย และเงินเฟ้อสูง จนปัญหาเหล่านี้ขึ้นเป็นประเด็นสำคัญในนโยบายหาเสียง ไม่เว้นในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์

ทามารา มาสท์ เฮนเดอร์สัน (Tamara Mast Henderson) นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bloomberg ให้ความเห็นว่า “การแจกเงินดิจิทัลของไทยเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด เพราะเงินที่แจกมาจากการกู้ และช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น ไม่ได้ให้ผลผลิตในระยะยาวหรือให้ประโยชน์ทางโครงสร้างต่อเศรษฐกิจ”

เฮนเดอร์สัน กล่าวต่อว่า “สำหรับประธานาธิบดี ปราโบโว นโยบายแจกอาหารฟรีอาจต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้งถึงจะประเมินได้ แต่ในตอนนี้ยังคงน่ากังวลน้อยกว่าไทย” โดยเธอมองอินโดนีเซียว่า มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า และมีภาระหนี้ต่ำกว่าไทย

มาเลเซียหยุดอุดหนุนพลังงานยาก แม้งบทะลุกรอบ

นอกเหนือจากไทยและอินโดนีเซีย มาเลเซีย” เพื่อนบ้านทางใต้ก็ประสบความท้าทายในการถอนคันเร่งนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานเช่นกัน ซึ่งใช้งบประมาณทะลุที่ประเมินไว้ที่ 81,000 ล้านริงกิต เมื่อปีที่แล้ว

ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่ม แต่การใช้มาตรการภาษีสินค้า และบริการอาจเกิดขึ้นยาก เพราะเมื่อปี 2561 มาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวเผชิญแรงต้านจากประชาชนจนภาครัฐต้องถอย

จีง เหงียน (Trinh Nguyen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัทด้านการเงิน Natixis ให้ข้อคิดว่า “คุณไม่สามารถอุดหนุนตามความต้องการประชาชนได้ตลอดไป”

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์