สรุปปมปัญหา ‘Tiktok’ ทำไมสหรัฐต้องบีบจีนขายหุ้นและขอซื้อเอง
ส่องดูน้ำหนักเหตุผลเรื่อง “ภัยทางความมั่นคง” ในการบีบ ByteDance ขายกิจการ TikTok หรือยอมถูกแบนแทน ว่าเหตุผลมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด
KEY
POINTS
- มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) สว.สหรัฐในสังกัดพรรครีพับลิกันมองว่า “ทุกบริษัทในแดนมังกรถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรวมไปถึงบริษัท ByteDance ด้วย”
- ในปี 2563 สำนักข่าว Washington Post ได้ทำงานร่วมกับเหล่านักวิจัยในการตรวจการทำงานของ TikTok ก็สรุปว่า แอปฯไม่ได้เก็บข้อมูลผู้ใช้งานไปมากกว่าแอปฯโซเชียลมีเดียกระแสหลัก
- ผู้ใช้ TikTok ที่อ่านข่าวผ่านแอปฯนี้เป็นประจำได้เพิ่มขึ้นเป็น 43% ในปี 2566 จาก 22% ในปีก่อนหน้า สะท้อนว่าคนอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งรับข่าวสารอย่างน้อยจากโซเชียลมีเดีย
เมื่อวันอังคารที่ 12 มี.ค. 2567 ก่อนสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะโหวตร่างกฎหมาย TikTok (ติ๊กต็อก) 1 วัน “โจว โซ่วจือ” (Shou Zi Chew) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แอปฯ ชื่อดังนี้ได้กระตือรือร้นเข้าไปล็อบบี้เหล่าส.ส. เพื่อไม่ให้ลงมติผ่านกฎหมายที่บังคับให้ TikTok เลือกว่า จะขายกิจการทิ้ง หรือถูกแบนออกจากตลาดสหรัฐ
แต่ปรากฏว่าความพยายามล็อบบี้ล้มเหลว สภาล่างมีมติผ่านร่างกฎหมายบีบ TikTok ได้สำเร็จที่ 352 ต่อ 65 เสียง โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่ช่วงคณะกรรมการพิจารณาถึงวันลงมติโหวตเพียง 4 วันเท่านั้น จนเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมสหรัฐถึงเร่งกระบวนการให้รวดเร็วปานสายฟ้าแลบเช่นนี้
TikTok ส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้รัฐบาลปักกิ่ง?
เมื่อฟังความเห็นเหล่า ส.ส.สหรัฐ พวกเขากังวลว่า TikTok ซึ่งมีบริษัทแม่สัญชาติจีนอย่าง ByteDance อาจส่งข้อมูลผู้ใช้งานชาวอเมริกันไปให้รัฐบาลปักกิ่ง จนสามารถเข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อนต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงใช้แพลตฟอร์มนี้ในการโฆษณาชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) วุฒิสมาชิกสหรัฐในสังกัดพรรครีพับลิกันมองว่า “ทุกบริษัทในแดนมังกรถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรวมไปถึงบริษัท ByteDance ด้วย รัฐบาลจีนได้ควบคุมบริษัทเจ้าของอัลกอริทึม AI นี้ ใช้ข้อมูลของชาวอเมริกันในการอ่านใจคุณ และคัดเลือกวิดีโอที่คุณต้องการดูขึ้นมา”
อันที่จริงแล้ว หากย้อนกลับไปในปี 2557 ที่จีนริเริ่มกฎหมาย Counter-Espionage Law ขึ้น กฎหมายนี้ระบุไว้ว่า รัฐบาลสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลของ “องค์กรที่เกี่ยวข้อง” เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ และต่อมา จีนได้บังคับใช้กฎหมาย National Intelligence Law ในปี 2560 โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า “องค์กรใดก็ได้” แทน นั่นจึงทำให้บรรดาส.ส.สหรัฐกังวลใจว่า
การที่ ByteDance เป็นบริษัทจีน และอยู่ภายใต้กฎหมายของแดนมังกร จึงสุ่มเสี่ยงที่บริษัทอาจส่งข้อมูลใน TikTok ให้กับทางการจีนด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ TikTok ปฏิเสธข้อกล่าวหา และแถลงยืนยันต่อหน้าการไต่สวนจากรัฐสภาสหรัฐในเดือน มี.ค. 2566 ว่า “ByteDance ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้หรือถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน เป็นเพียงบริษัทเอกชนเท่านั้น”
เมื่ออ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ จะพบว่า หลักฐานที่สนับสนุนเรื่อง TikTok ส่งข้อมูลไปยังรัฐบาลปักกิ่งนั้น “ยังไม่ชัดเจน” เป็นเพียงข้อกังวลและสมมติฐาน
Citizen Lab ห้องปฏิบัติการสหวิทยาการของมหาวิทยาลัย Toronto ประเทศแคนาดาได้ตรวจวิเคราะห์แอปฯ นี้ และยังไม่สามารถสรุปได้ว่า TikTok มีการเซนเซอร์โพสต์ผู้ใช้หรือมีการทำงานที่คล้ายมัลแวร์
นอกจากนี้ ในปี 2563 สำนักข่าว Washington Post ได้ทำงานร่วมกับเหล่านักวิจัยในการตรวจการทำงานของ TikTok และได้สรุปว่า แอปฯไม่ได้เก็บข้อมูลผู้ใช้งานไปมากกว่าแอปฯโซเชียลมีเดียกระแสหลัก และในปีถัดมา เพลเลออน หลิน (Pellaeon Lin) นักวิจัยของ Citizen Lab แห่งมหาวิทยาลัย Toronto ก็ให้ข้อสรุปแบบเดียวกัน
จากความกังวลของรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ในปี 2566 TikTok จึงลงทุนโครงการ “Project Texas” ด้วยเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 53,000 ล้านบาท เพื่อวางโครงสร้างให้บริษัท Oracle ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลของสหรัฐ เป็นผู้เก็บข้อมูลผู้ใช้ TikTok ในอเมริกา และสามารถเข้ามาตรวจสอบแอปฯ รวมถึงสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลที่รัฐบาลสหรัฐเห็นชอบ 3 คน เพื่อเข้ามาสอดส่องโครงการนี้ได้
ปธน.และสส.สหรัฐบางคนก็เปิดบัญชี TikTok
สิ่งที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าทางการสหรัฐจะกังวลความปลอดภัยของแอปฯ TikTok อย่างมาก แต่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ กลับเลือกเปิดบัญชี TikTok อย่างเป็นทางการ ในแคมเปญหาเสียงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนดูเหมือน “ย้อนแย้ง” กับสิ่งที่สหรัฐกล่าวหาแอปฯนี้
ไม่เพียงไบเดนที่ใช้ TikTok แม้แต่ เคที พอร์เทอ (Katie Porter) จากพรรคเดโมแครต ผู้ชิงตำแหน่ง ส.ว. ของย่านออเรนจ์เคาน์ตี ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็เข้าสู่วงการ TikTok เช่นกัน และคลิปหาเสียง 10 วินาทีของเธอที่นำคำพูดในภาพยนตร์ Mean Girls มาใช้ ได้ดึงผู้ชมมากกว่า 760,000 ครั้ง 86,000 ไลค์ และ 2,100 คอมเมนท์จนเป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่
ถ้ามองไปที่ประชาชนชาวอเมริกัน พบว่าพวกเขาพึ่งพา TikTok ไม่น้อย ตั้งแต่ใช้ทำคอนเทนต์ ขายสินค้าออนไลน์ รีวิวสินค้า สร้างความบันเทิงต่าง ๆ หรือแม้แต่อ่านข่าว โดยข้อมูลจาก Pew Research Center ระบุไว้ว่า ผู้ใช้ TikTok ที่อ่านข่าวผ่านแอปฯนี้เป็นประจำได้เพิ่มขึ้นเป็น 43% ในปี 2566 จาก 22% ในปีก่อนหน้า สะท้อนว่าคนอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งรับข่าวสารอย่างน้อยจากโซเชียลมีเดีย
อนาคต TikTok จะเป็นเช่นไร
หลังจากที่ร่างกฎหมายบีบ TikTok ผ่านสภาล่างแล้ว ต่อไปก็จะไปสู่การพิจารณาของสภาสูง และไบเดนเคยกล่าวว่า อาจเซ็นรับรองร่างกฎหมายนี้ ถ้าได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาแล้ว นั่นจะเป็นการบังคับให้บริษัทแม่ TikTok ต้องขายกิจการแอปฯให้บริษัทที่รัฐบาลสหรัฐเห็นชอบภายใน 180 วัน มิฉะนั้นแล้ว TikTok จะถูกแบนจาก App Store และ Play Store แทน
หลายคนคิดว่า TikTok อาจตกอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Meta เจ้าของ Facebook, Google เสิร์ชเอนจินระดับโลก และ Amazon ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซหรือไม่ แต่ความจริงไม่น่าเป็นเช่นนั้น เพราะ 3 บริษัทนี้ถูกรัฐบาลไบเดนฟ้องเรื่องละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดแล้ว
ส่วน Apple ก็มีแนวโน้มถูกฟ้องในประเด็นเดียวกัน ณ วันใดวันหนึ่ง
ขณะที่ Microsoft ก็กำลังถูกทางการสืบสวนเรื่องความสัมพันธ์กับ Open AI เจ้าของ ChatGPT จึงค่อนข้างยากที่ TikTok จะตกเป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือ TikTok จะถูกขายให้ใครนั้น ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลปักกิ่งก่อน และจีนก็ประกาศชัดว่า ไม่ยอมรับการถูกบังคับขายและเรียกร่างกฎหมายที่ออกมาล่าสุดนี้ว่าเหมือนการ “ข่มเหงจีน”
อนาคต TikTok ในท่ามกลางศึกมหาอำนาจ “สหรัฐ” กับ “จีน” ที่แข่งขันในเกือบทุกด้าน สิ่งนี้ได้ย้ำเตือนนักลงทุนและผู้ที่ทำธุรกิจในต่างประเทศว่า แม้บริษัทจะไม่ได้ตั้งใจเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าขึ้นเป็น “ไอคอน” หรือเหมือนตัวแทนประเทศนั้นแล้ว คล้ายแบรนด์ Apple ที่สะท้อนภาพอเมริกา ก็เลี่ยงไม่ได้จากวงความขัดแย้ง จนเป็น “ความเสี่ยง” ที่ต้องเตรียมรับมือไว้
อ้างอิง: reuters, bloomberg, cnn, cnn(2), cnn(3), aljazeera, bloomberg(2), apnews, tiktok, bloomberg(3), news