'ญี่ปุ่น'จากเศรษฐกิจดอกเบี้ยติดลบ สู่ยุคตลาดหุ้นออลไทม์ไฮอีกครั้ง

'ญี่ปุ่น'จากเศรษฐกิจดอกเบี้ยติดลบ สู่ยุคตลาดหุ้นออลไทม์ไฮอีกครั้ง

"ญี่ปุ่น" ทำยังไง จากเศรษฐกิจแบบดอกเบี้ยติดลบ สู่ BOJ ส่งสัญญาณว่า อาจยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ พร้อมกับพิจารณาประกาศยุติ "ภาวะเงินฝืด" อะไรคือกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวครั้งนี้ ให้กลับมาสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้งที่ตลาดหุ้นทำออลไทม์ไฮ

KEY

POINTS

  •  BOJ ส่งสัญญาณว่า อาจยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ พิจารณาประกาศยุติ "ภาวะเงินฝืด"
  • ญี่ปุ่นใกล้เข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้งที่ตลาดหุ้นดัชนี Nikkei 225 ทำออลไทม์ไฮ
  • 3 กลไกสำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน เศรษฐกิจฟื้นตัว ปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศใหม่
  • นโยบายการเงิน "อาเบะโนมิกซ์" มีผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

"ญี่ปุ่น" เคยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา และดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบ "ดอกเบี้ยติดลบ" ยาวนานกว่า 8 ปี ตั้งแต่ 2559 แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นกลับมาสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง จากสัญญาณว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative rates)

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทำออลไทม์ไฮอีกครั้ง ดัชนี Nikkei 225 ขึ้นทะลุ 40,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 31 ปี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ปิดตลาดที่ 40,085.43 จุด

รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อประกาศยุติ "ภาวะเงินฝืด" เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นและไม่ได้ติดลบมาสักระยะแล้ว ซึ่งการประกาศยุติภาวะเงินฝืดครั้งนี้ถือเป็น "ก้าวสำคัญ" สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ย้อนไปเมื่อปี 2544 รัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรก ทำให้เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องดิ้นรนเพื่อทำลายวงจรอันเลวร้ายของผลกำไรของบริษัทที่ลดลง ค่าจ้างที่ตกต่ำ และการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอ

อะไรคือกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวครั้งนี้?

นโยบายการเงิน

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาเป็นเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายหลักคือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

ที่ผ่านมา BoJ กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ -0.1% และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 0%

รวมถึงการซื้อพันธบัตร ซึ่ง BoJ ซื้อ พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวนมาก เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve) และ กระตุ้นเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นใช้การ QE มาอย่างยาวนานเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด โดย BoJ เลือกเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินการทำ QE เช่นการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ อย่าง หุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และสินเชื่อ

อาเบะโนมิกส์

หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของญี่ปุ่นคือ “อาเบะโนมิกส์” ผสมผสาน 3 นโยบายหลัก เป็นยุทธศาสตร์หลักทางเศรษฐกิจของอดีตนายกฯ ญี่ปุ่น “ชินโซ อาเบะ” โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาของญี่ปุ่นมากกว่า 10 ปี 

ด้วยกลยุทธ์ 3 ลูกศร ได้แก่ 

- นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย  เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ช่วยแก้ไขปัญหาเงินฝืดโดยธนาคารกลางเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมากผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว และให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 2% ทำให้รัฐบาลถือสินทรัพย์มากที่สุดในโลกร้อยละ 70 ของ GDP เมื่อเทียบกับสหรัฐ และสหภาพยุโรป

- นโยบายการคลังขยายตัว รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับการลดภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยตั้งวงเงินไว้ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น อุโมงค์ สะพาน และถนนที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว

- การปฏิรูประบบการทำงาน กลยุทธ์การเติบโตที่ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ 

ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างช้าๆ กลยุทธ์นี้มีผลลัพธ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ ช่วยลดค่าเงินเยน กระตุ้นการส่งออก และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกว่า 19 ล้านคนในปี 2558 ซึ่งมากกว่าปี 2555 ที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 ล้านคน

แต่ทว่าจุดอ่อนของนโยบายคือ รัฐบาลก่อหนี้สินเพิ่มจำนวนมาก ในช่วงแรกที่ดำเนินนโยบายสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของ BoJ

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

ญี่ปุ่นพยายามใส่ใจนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจโลก รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงใน workforce มากขึ้นนั้น ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต 

และที่สำคัญคือรัฐบาลสนับสนุนการแปลงสู่ระบบดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเป็น "สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุด"  รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น 5G และคลาวด์คอมพิวติ้ง ญี่ปุ่นมี "Super City" ซึ่งเป็นเขตพิเศษที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองนโยบายใหม่ ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล

 

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจาก COVID-19 ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3.6% ในปี 2567 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการ

โดยสินค้าญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เช่น รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสินค้าแฟชั่น

จากข้อมูลการส่งออกในเดือนธ.ค.สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในสหรัฐ โดยยอดส่งออกไปยังสหรัฐพุ่งขึ้น 20.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดส่งออกไปยังยุโรปเพิ่มขึ้น 10.3% และยอดส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้น 9.6%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ช่วยเพิ่มการจ้างงานและรายได้ รวมทั้งภาครัฐมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น

ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโต 1.9% ในปี 2567

ความท้าทายของญี่ปุ่น

นอกนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตจนตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำออลไทม์ไฮ อัตราการว่างงานลดลง  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอยู่ เพราะหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง กับปัญหาประชากรสูงอายุที่รัฐบาลต้องรับมือ พร้อมกับปัญหาการว่างงานของวัยหนุ่มสาว

กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของโลก ว่านโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสม มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ระบบดิจิทัลและนวัตกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญ

การเดิมพันครั้งใหญ่ของนักลงทุนสถาบัน

แน่นอนว่าการตัดสินใจของ BOJ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น พันธบัตร และค่าเงินเยน ท่ามกลางความสนใจของนักลงทุนว่า หุ้นญี่ปุ่นที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-time high) เมื่อต้นเดือน มี.ค.นี้ จะยังมีแรงไปต่อหลังการขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ และสินทรัพย์อื่นๆ จะยังมีโอกาสทำกำไรได้มากแค่ไหน

กลุ่มบลจ.ที่มองเห็นโอกาสทำกำไรในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เมื่อเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

  • BlackRock และ Man Group Plc. มองว่า หุ้นญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโต
  • RBC BlueBay Asset Management สวมชอร์ต (เดิมพันว่าราคาจะลดลง) พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี
  • Abrdn plc (อเบอร์ดีน) และ Robeco คาดการณ์ว่า เงินเยนจะแข็งค่าขึ้น

 

BlackRock มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นและปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความหลากหลาย มั่นคง

 

 

อ้างอิง cnbc reuters bangkokbiz