อย่าเล่นกับระบบ 'ชาตินิยมจีน' ชาวเน็ตถล่ม 'หนงฟู่' แบรนด์น้ำแร่นิยมญี่ปุ่น

อย่าเล่นกับระบบ 'ชาตินิยมจีน'  ชาวเน็ตถล่ม 'หนงฟู่' แบรนด์น้ำแร่นิยมญี่ปุ่น

'กระแสชาตินิยมจีน' ทุบหุ้นร่วง ชาวเน็ตถล่ม "หนงฟู่" Nongfu Spring แบรนด์น้ำแร่ยักษ์ใหญ่ในหางโจวว่า "นิยมญี่ปุ่น" ทุบหุ้นร่วงลง 3 วันติด จนสินค้าถูกเอาออกจากชั้นวางของร้าน 7-Eleven ขณะที่รัฐบาลจีนเสนอโทษจำคุก 15 วันกับผู้ที่ "ทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน"

KEY

POINTS

  • หุ้นน้ำแร่เบอร์ยักษ์ Nongfu Spring ร่วง 3 วันติด เหตุถูกกลุ่มชาตินิยมจีนโจมตี มูลค่าตลาดดิ่ง  4 พันล้านดอลลาร์
  • "กระแสชาตินิยมจีน" ละเอียดอ่อน จนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือโจมตีคู่แข่ง
  • สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เล็งเสนอโทษจำคุกกับคนที่  "ทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน"
  • อย่าล้อเล่นกับระบบ เพราะเคยทำให้ H&M  ต้องปิดตัว และ Disney+ ต้องเสียลูกค้าจำนวนมาก

กระแส "ชาตินิยมจีน" ดุเดือดไปทั่วทั้งโลกออนไลน์ ถล่มวิจารณ์ "หนงฟู่สปริง" Nongfu Spring แบรนด์น้ำแร่ยักษ์ใหญ่และน้ำอัดลมในหางโจว ของ "จง ซานซาน" ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในจีนและในเอเชีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทน้ำดื่มบรรจุขวดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีนอย่าง Nongfu Spring

ทำให้ ราคาหุ้น Nongfu Spring ร่วงลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน  เหตุถูกกลุ่มชาตินิยมจีนโจมตี ส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทสูญเสียไปกว่า 3 หมื่นล้านหยวน หรือราว 4 พันล้านดอลลาร์ และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม

กระแสวิจารณ์ "นิยมญี่ปุ่น"

โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากกล่าวหาว่า Nongfu Spring เป็นพวก "นิยมญี่ปุ่น" 

ผลจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้นรุนแรงอย่างมาก ถึงขั้นที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากเทน้ำดื่มของ Nongfu Spring ลงในห้องน้ำ ทิ้งขวดน้ำที่ยังไม่ได้เปิดลงถังขยะ โพสต์ข้อความต่อต้าน รวมไปถึงร้าน 7-Eleven สองแห่งในจีนออก "ประกาศพิเศษ" เอาสินค้า Nongfu ออกจากชั้นวาง  พร้อมระบุว่า "เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทั่วทุกมุมโลก ...แต่เราไม่ขายผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ชื่นชมญี่ปุ่น"

รวมทั้ง  Nongfu Spring ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "นักธุรกิจที่มุ่งเน้นผลกำไรและเนรคุณ" โยงไปเปรียบเทียบกับน้ำดื่มอีกแบรนด์อย่าง  Wahaha ที่ผู้ก่อตั้ง Zong Qinghou ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ผู้ประกอบการที่ติดดินและมีใจรักชาติ" 

ทว่ากระแสชาตินิยมแบรนด์ไม่ได้พูดถึงแค่แบรนด์เท่านั้น แต่ชาวเน็ตพูดถึงส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึง"ผู้บริหาร" และครอบครัวด้วย  มีการพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "จง ซู ซี" ลูกชายของเจ้าของบริษัท ถือหนังสือเดินทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนของบริษัทประจำปี 2563

การวิพากษ์วิจารณ์ลามไปถึง กล่าวหาว่า Nongfu Spring ใช้รูปวัดญี่ปุ่นบนฉลากชาบรรจุขวด บางคนถึงกับเชื่อมโยงตัวอักษรกรีกบนขวดชามะลิเข้ากับรูปทรงของประตูทางเข้าศาลเจ้ายาสุคุนิซึ่งเป็นที่ถกเถียงกัน ว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงครามของญี่ปุ่นและได้รับการกล่าวขานจากจีนและเกาหลีใต้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการรุกรานทางทหารของญี่ปุ่นในอดีต หรือแม้กระทั่งฝาขวดทรงกลมสีแดงของน้ำดื่มบรรจุขวดที่สามารถสื่อถึงธงชาติญี่ปุ่น หากตั้งไว้กับกระดาษสีขาว

 

"ลัทธิชาตินิยม"สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

รองศาสตราจารย์ หลูเวย โรส ลูฉิว จากมหาวิทยาลัยแบ๊บติสต์ฮ่องกง  กล่าวว่า การวิจารณ์ที่ดุเดือดในโลกออนไลน์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก และเสนอแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ Nongfu Spring บนโลกออนไลน์ ดังนี้

1. ลัทธิชาตินิยมเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ในประเทศจีน เพราะการกล่าวหาบุคคลหรือบริษัทว่า "นิยมญี่ปุ่น" กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้โจมตีคู่แข่ง กลยุทธ์นี้ดึงดูดความสนใจของกลุ่มชาตินิยม ซึ่งมีจำนวนมากบนโลกออนไลน์ ผลลัพธ์คือ เกิดกระแสต่อต้าน ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของเป้าหมาย


2. กลุ่มชาตินิยมจีนมีอิทธิพลต่อสังคม ที่มักตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของบุคคลและบริษัท มีเป้าหมายหลักคือ บุคคลหรือบริษัทที่แสดงท่าที "ไม่รักชาติ"


3.การโฆษณาชวนเชื่อแบบชาตินิยมเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลจีนใช้ควบคุมสังคม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนการแสดงออกถึงความรักชาติ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว สภานิติบัญญัติของจีนเสนอให้จำคุกบุคคลสูงสุด 15 วัน หากพวกเขาพูดจาหรือสวมเสื้อผ้าในที่สาธารณะที่ "ทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน"

กฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมความคิดเห็นในสังคม  ข้อเสนอดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ได้รับการคัดค้านอย่างมากจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย


ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และยอดขายของ Nongfu Spring ในระยะยาว
เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดทางสังคมในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น อิทธิพลของกลุ่มชาตินิยมจีนที่มีต่อบริษัทต่างๆ ความเสี่ยงที่บริษัทอาจเผชิญจากกระแสต่อต้านบนโลกออนไลน์ ทำให้อนาคตของ Nongfu Spring ขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับกระแสชาตินิยม

อย่าล้อเล่นกับระบบชาตินิยมจีน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทจีนเผชิญกับแรงต้านจากกลุ่มชาตินิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ "หัวเว่ย" บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ที่ถูกกลุ่มชาตินิยมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อไม่นานมานี้ ถึงกรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่หัวเว่ยตั้งชื่อชิปเซ็ตของตนว่า "คิริน" ซึ่งเป็นการออกเสียงภาษาญี่ปุ่นของคำที่แปลว่าสัตว์ในตำนาน กลุ่มชาตินิยมมองว่าชื่อนี้เป็นการลอกเลียนแบบญี่ปุ่น และไม่เหมาะสมกับบริษัทจีนที่ควรแสดงถึงเอกลักษณ์ของตนเอง

กระแสชาตินิยม ที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน กลุ่มชาตินิยมเหล่านี้มีความไวต่อประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของประเทศเช่นกรณีของ H&M แบรนด์เสื้อผ้าจากสวีเดน ที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง และหยุดซื้อฝ้ายจากซินเจียง จากนั้นกลุ่มชาตินิยมจีนมองว่าแถลงการณ์ของ H&M เป็นการใส่ร้ายป้ายสีจีน และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ จนร้าน H&M หลายแห่งต้องปิดตัวลงแม้ว่าจะออกมาขอโทษแล้วก็ตาม

รวมไปถึงกรณีของ Disney+ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในจีน กรณีนี้เกิดขึ้นจากการฉายภาพยนตร์เรื่อง "Doctor Strange in the Multiverse of Madness" ซึ่งมีฉากที่แสดงภาพทิเบตเป็นประเทศ กลุ่มชาตินิยมจีนมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการบิดเบือนความจริง และเป็นการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ Disney+ สูญเสียผู้ใช้จำนวนมากในจีนพลังมังกร 

เรียกได้ว่าชาวจีนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติพร้อมสนับสนุนสินค้าจีน และมองหาสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพงจากแบรนด์จีน รวมถึงรัฐบาลจีนสนับสนุนการพัฒนาแบรนด์จีน และออกนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศ

ทำให้แบรนด์จีนติดอันดับโลก อย่าง Huawei แบรนด์สมาร์ทโฟนจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ขายดีที่สุดอันดับสองของโลก หรือ Xiaomi แบรนด์สมาร์ทโฟนจีนอีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ
ไปจนถึง Li Ning แบรนด์เสื้อกีฬาจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแบรนด์เสื้อกีฬาที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน

 

 

อ้างอิง  Nikkei Asia