ก่อนดึง 'เทสลา' ลงทุนไทย รัฐจะช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่างไร
ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันถึงความจำเป็นของการต่อยอดผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย แต่ความชัดเจนยังไม่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าบริษัทเทสลาจะมาลงทุนไทยหรือไม่
มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยมีความชัดเจนและมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นตลาดอีวีด้วยการที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า คันละไม่เกิน 150,000 บาท ส่งผลให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งปี 2566 มียอดจดทะเบียนรวมประมาณ 75,700 คัน สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 600% และยอดขายยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วได้เร่งผลักดันการลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีบริษัทจีนหลายแห่งเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น บีวายดี, เนต้า, ฉางอัน ซึ่งล้วนเป็นผู้ผลิตรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอยู่แล้วต่างได้เพิ่มการลงทุนสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น เอ็มจี ซึ่งสะท้อนถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ตื่นตัวอย่างมาก
ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันนอกจากจะดึงบริษัทรถจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ยังได้เจรจากับบริษัทเทสลาเพื่อให้เข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย หลังจากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา บริษัทเทสลาได้ศึกษาข้อมูลการลงทุนในเอเชียหลายประเทศแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจลงทุน เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ไปเยือนโรงงานที่สหรัฐ ในขณะที่บริษัทเทสลาได้เข้ามาดูพื้นที่ตั้งโรงงาน ซึ่งพบปัญหาที่ดินที่จะรองรับการลงทุนขนาด 2,000 ไร่ ที่ติดปัญหาผังเมือง
อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยถือว่ามีความแข็งแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวขึ้นมาเป็น “ดีทรอยด์ ออฟ เอเชีย” และเคยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ติด 10 อันดับแรกของโลก รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทยทำให้ไทยมีความได้เปรียบในการตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี
การเข้ามาของบริษัทรถยนต์จีนจะนำซัพพลายเชนมาลงทุนด้วย รวมถึงกรณีบริษัทเทสลาตัดสินใจลงทุนไทยจะลงทุนระดับ Gigafactory มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะลงทุนของซัพพลายเชนรวมอยู่ด้วย ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในระดับเทียร์ 2 และเทียร์ 3 จะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่ออย่างไรในอนาคต โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันถึงความจำเป็นของการต่อยอดผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย แต่ความชัดเจนยังไม่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าบริษัทเทสลาจะมาลงทุนไทยหรือไม่