'บราซิล' เผชิญสินค้าจีนทะลัก คนในชาติโอดขอรัฐตั้งกำแพงภาษีสู้
“บราซิล” ประเทศใหญ่แห่งอเมริกาใต้เผชิญการไหลบ่าของสินค้าจีนราคาถูก จนผู้ประกอบเรียกร้องการตั้งกำแพงภาษี การทะลักที่เข้าไปแข่งขันกับสินค้าท้องถิ่นเช่นนี้ยังเกิดขึ้นทั่วทั้งโลกไม่ว่าในไทย อเมริกา ยุโรป ฯลฯ
KEY
POINTS
- ระหว่างเดือน ก.ค. 2565 ถึง มิ.ย. 2566 แผ่นเหล็กกล้าคาร์บอนจากจีนที่เข้ามาในบราซิลได้พุ่งขึ้นเกือบ 85%
- เศรษฐกิจจีนเกิดภาวะเงินฝืดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เห็นได้จากเงินเฟ้อจีนที่ติดลบมายาวนาน เหล่าผู้ค้าจีนจึงต้องเร่งระบายสินค้าตกค้างออกสู่ต่างประเทศ แทนที่จะปล่อยให้เสื่อมชำรุด
- ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีธุรกิจเหล็กของไทยปิดตัวไปแล้ว 75 ราย หรือ ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ปิดตัวไปถึง 117 ราย หลังจากที่สู้ราคาเหล็กจากจีนไม่ได้
ไม่ใช่ “ไทย” เท่านั้นที่เผชิญการไหลบ่าของสินค้าราคาถูกจากจีน จนสินค้าในประเทศขายไม่ได้ “บราซิล” ก็เช่นกัน เมื่อเหล็ก โลหะ เคมีภัณฑ์ ล้อรถยนต์ ฯลฯ จากจีนไหลทะลักเข้าไปที่ประเทศมหาศาล จนรัฐบาลบราซิลเปิดการสอบสวนเรื่องนี้ และกำลังพิจารณา “การขึ้นกำแพงภาษี”
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอันดับต้น ๆ คือ “เหล็ก” โดยบริษัท CSN ยักษ์ใหญ่ผลิตเหล็กของบราซิลระบุว่า ระหว่างเดือน ก.ค. 2565 ถึง มิ.ย. 2566 แผ่นเหล็กกล้าคาร์บอนจากจีนที่เข้ามาในบราซิลได้พุ่งขึ้นเกือบ 85% อีกทั้งยอดนำเข้าเหล็กและแร่จากจีนได้เพิ่มขึ้นจาก 1,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2557 สู่ 2,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2566
ด้วยเหตุนี้ เหล่าผู้ผลิตเหล็กของบราซิลจึงขอให้รัฐบาลขึ้นกำแพงภาษีเหล็กจีนให้อยู่ระหว่าง 9.6% และ 25%
นอกจากเหล็กแล้ว “เคมีภัณฑ์” สำคัญอย่าง Phthalic anhydride (ฟาทาลิกแอนไฮดราย) ในการผลิตพลาสติก ก็มีปริมาณการนำเข้าจากจีนสูงขึ้นมากกว่า 2,000% ระหว่างเดือน ก.ค. 2561 และ มิ.ย. 2566
ส่วน “ล้อรถ” ที่เข้ามาในบราซิลได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จาก 23 ล้านชิ้น เป็น 47 ล้านชิ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยราว 80% มาจากจีน
จากปรากฏการณ์เช่นนี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมบราซิลจึงเปิดการสืบสวนการทุ่มตลาดของจีน โดยคาดว่าใช้ระยะเวลา 18 เดือน และจะสรุปเป็นมาตรการแก้ปัญหาต่อไป
การขึ้นกำแพงภาษีกับเหรียญ 2 ด้าน
ถ้าดูสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลทำ อย่าง “การขึ้นกำแพงภาษี” สินค้าจีน เพื่อไม่ให้มีราคาต่ำเกินไป และอุตสาหกรรมในประเทศจะได้แข่งขันได้นั้น ไม่ใช่จะทำได้โดยง่าย เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของบราซิล โดยเป็น “ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด” ที่ซื้อถั่วเหลืองจากบราซิลเป็นจำนวนมาก ซึ่งสัดส่วนถั่วเหลืองที่ส่งออกไปจีนสูงถึง 73% ตามข้อมูลจากแผนกการเกษตรและเศรษฐศาสตร์การบริโภคของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ปี 2567
ดังนั้น การใช้กำแพงภาษี อาจทำให้จีนตัดสินใจลดการนำเข้าถั่วเหลืองบราซิลแทน และกระทบรายได้เหล่าเกษตรกร นับเป็น “โจทย์หนัก” ของประธานาธิบดีบราซิลฝ่ายซ้ายอย่าง ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องผู้ค้าในประเทศ
ทำไมสินค้าจีนถึงทะลักเข้ามา หรือเป็นการทุ่มตลาด?
ช่วงหลังที่หลายคนเห็นสินค้าจีนไหลบ่ามหาศาล และมีราคาถูกมาก เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนไม่ค่อยสู้ดีนัก เกิดภาวะเงินฝืดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แล้ว เห็นได้จากเงินเฟ้อจีนที่ติดลบมายาวนาน แม้เพิ่งพลิกเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.7% เมื่อเดือน ก.พ. 67 ที่ผ่านมา แต่อาจเป็นเรื่องชั่วคราวจากเทศกาลตรุษจีน ยังรวมไปถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ชาวจีนสะสมความมั่งคั่งไว้ที่สินทรัพย์นี้ก็มีราคาตกลงเรื่อย ๆ กำลังซื้อประชาชนหดตัวลง ดังนั้น เหล่าผู้ค้าจีนจึงต้องเร่งระบายสินค้าตกค้างออกสู่ต่างประเทศ แทนที่จะปล่อยให้เสื่อมชำรุดนั่นเอง
ทั่วโลกวิตกการรุกของสินค้าจีน
สินค้าราคาถูกจากจีน ไม่ใช่ถูกระบายสู่บราซิลและไทยเท่านั้น แต่ยังระบายออกไปเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐ ยุโรป และทั่วโลกด้วย
ในอเมริกา รถ EV สหรัฐเริ่มต้นที่ราว 15,000 - 50,000 ดอลลาร์ แต่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาขายที่ต่ำมาก อย่างรถ BYD Seagull เริ่มต้นที่ราว 11,400 ดอลลาร์ แม้จะถูกเก็บภาษีที่ 27.5% แล้วก็ตาม จนอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารรถ Tesla ถึงกับกล่าวว่า “อุตสาหกรรมรถของประเทศต่าง ๆ จะถูกรถจีนบดขยี้เกือบหมด ถ้าไม่ตั้งกำแพงภาษี”
ส่วนในยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังสอบสวนค่ายรถจากจีน ในประเด็น “ตั้งราคารถถูกเกินจริง” ซึ่งอาจเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น อาจทำให้สหภาพยุโรป (EU) มีมาตรการทางภาษีตามมา
ขณะเมื่อปลายปีที่แล้ว ในอินโดนีเซีย ก็ออกกฎสกัดดาวรุ่ง TikTok ด้วยการให้เอา TikTok Shop ออก ไม่ให้มีการค้าขายในแพลตฟอร์มนี้ หลังจากที่สินค้าจีนทะลักผ่านช่องทางนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อปกป้องร้านค้าอินโดฯในประเทศ
กลับมาที่ “ไทย” ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีธุรกิจเหล็กของไทยปิดตัวไปแล้ว 75 ราย หรือ ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ปิดตัวไปถึง 117 ราย หลังจากที่สู้ราคาเหล็กจากจีนไม่ได้ รวมไปถึงเสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน ฯลฯ จากจีนก็ทะลักเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโจทย์ของรัฐบาลในการช่วยเหล่า SME และขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจต้องพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป และมีบริการหลังการขายที่ดี ก็จะพอช่วยรับมือสินค้าถูกจากจีนได้
อ้างอิง: farm, reuters, ft, asia, cnbc, than