สารพัดความเสี่ยง รุม 'เศรษฐกิจไทย'
ถ้านโยบายหรือมาตรการนั้น สามารถทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้น ส่งสัญญาณโตขึ้นอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ายิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง จนกลายเป็นวิกฤติที่ยากจะเยียวยา ..รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง หลายดัชนีเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณไม่ดี ยิ่งรัฐบาลกำลังจะอัดมาตรการกระตุ้นระยะสั้น ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจทำให้ประเทศต้องแบกหนี้เพิ่ม ยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมอาการน่าเป็นห่วง
ล่าสุดธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ออกมาหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือโต 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.2% แต่ประมาณการนี้ ยังไม่ได้รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล
ข้อมูลของเวิลด์แบงก์ ระบุว่า การส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง ผลจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 ส่วนหนี้สาธารณะ คาดว่า จะยังสูงกว่า 60% ต่อจีดีพีเล็กน้อย พร้อมประเมินว่า ถ้ามีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้จีดีพีโตเพิ่มอีก 1% แต่โครงการดังกล่าว จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกราว 2%
ประเทศไทย ยังคงพึ่งพาเครื่องยนต์หลัก คือ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่คาดหวังว่า จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ก็ต้องรอดูว่าแนวโน้มการฟื้นคืนของท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้มากแค่ไหน
ธนาคารโลก ยังประเมินถึง ความเสี่ยงที่ไทยต้องระวัง โดยเฉพาะเรื่องสังคมสูงวัย ปัญหาใหญ่ และน่าวิตกกังวล
เมื่อประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่น้อย หากเต็มไปด้วย “ผู้สูงอายุ” นั่นแปลว่า ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอาย ไม่นับปัญหาโลกร้อน รวมถึงความจำเป็นของกลยุทธ์การป้องกันวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาแบบเซอร์ไพรส์ ที่เราต้องตั้งรับ หากโครงสร้างในประเทศทุก ๆ มิติของเราไม่พร้อมจะยิ่งลำบาก
ขณะที่ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เวิลด์แบงก์ มองว่า มีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด
แม้จริงๆ แล้วจะขยายตัวเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลกก็ตาม แต่การกีดกันการค้าและความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย จะเป็นตัวบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
ประเทศไทย มีสารพัดความเสี่ยงมากมายกำลังรุมเร้า “ผู้บริหารประเทศ” จำเป็นเหลือเกินต้องประเมินความเสี่ยงให้ดี
ทุกการตัดสินใจดำเนินนโยบาย หรือมาตรการต่างๆ ล้วนมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ถ้านโยบายหรือมาตรการนั้น สามารถทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้น ส่งสัญญาณโตขึ้นอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ายิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง จนกลายเป็นวิกฤติที่ยากจะเยียวยา ..รัฐบาลต้องรับผิดชอบ