‘แก้หนี้’ กู้วิกฤติ
แม้รัฐบาลจะมี “มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง” ช่วยพยุง แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่แก้ที่ปลายทางอย่างเดียว หากต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นทาง หรือต้นเหตุของ “หนี้” แล้วช่วยกันตกผลึกหาทางแก้ปัญหากู้วิกฤติ ไม่ให้ “หนี้” กลายเป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศ
สถานการณ์การเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัว สะท้อนสัญญาณที่น่าเป็นห่วง
หนึ่งในปัญหาสำคัญ คือ ภาวะหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง "มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง” เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 เป็นหนึ่งในโซลูชัน ที่รัฐบาลเศรษฐาใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของบรรดาลูกหนี้ ที่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยมหาโหดของทั้งแบงก์ และนอนแบงก์
มาตรการดังกล่าว รัฐบาลต้องการให้เป็นทางเลือกลูกหนี้ปิดหนี้เรื้อรังได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าชำระเงินต้นมาแล้วกว่า 5 ปี
สำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนที่ไม่มีกำหนดเวลาปิดจบหนี้ เช่น บัตรกดเงินสด และยังไม่เป็นหนี้เสีย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่เข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรังส่วนกลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งเข้าไปช่วยเหลือเฟสแรก คือ กลุ่ม“ลูกหนี้เปราะบาง” มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท กรณีเป็นลูกหนี้ผู้ให้บริการทางการเงิน แต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และเป็นหนี้ไม่เกิน 20,000 บาท หากเป็นลูกหนี้สถาบันการเงิน
ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลบัญชีหนี้เรื้อรัง พร้อมตรวจสอบกระบวนการ และคุณภาพการติดต่อลูกหนี้ในการเสนอให้ความช่วยเหลือโดยจะสุ่มตรวจสอบจากข้อมูลที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งติดต่อกับลูกหนี้รวมถึงตรวจสอบแบบไม่แสดงตัวตนกับคอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการทุกแห่ง เพื่อเป็นการเช็กตรวจสอบวิธีการให้ข้อมูล และนำเสนอมาตรการช่วยเหลือที่ครบถ้วนปัจจุบันพบว่า มีสถาบันการเงินและผู้ให้บริการบางแห่งทยอยจัดส่งข้อมูลให้ลูกหนี้แล้ว
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่า จะขยายตัวช่วง 2.2-3.2% (ค่ากลางการประมาณการที่ 2.7%) จากเดิมที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2%ตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยกำลัง “มีปัญหาหนัก” โดยเฉพาะปัญหา “หนี้ที่สูงขึ้น” ทั้งภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ช่วงที่ผ่านมามีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษเริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ หนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นสารพัดปัจจัยลบรวมตัวกัน ฉุดให้เศรษฐกิจไทยยิ่งน่าเป็นห่วง
ภาวะหนี้เรื้อรัง กลายเป็นปมใหญ่ของระบบเศรษฐกิจประเทศส่งผลต่อความเชื่อมั่น บรรยากาศการลงทุนภาวะหนี้ในระดับสูง คือ ตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงนำไปสู่ปัญหาหนี้เสียในวงกว้างลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น
แม้รัฐบาลจะมี “มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง” ช่วยพยุง แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่แก้ที่ปลายทางอย่างเดียว หากต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นทาง หรือต้นเหตุของ “หนี้” แล้วช่วยกันตกผลึกหาทางแก้ปัญหากู้วิกฤติ ไม่ให้ “หนี้” กลายเป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศ