หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย ยังพุ่ง กระทบยานยนต์ จับตามาตรการกีดกันส่งออก
สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประเมินยอดผลิตรถปีนี้ 1.9 ล้านคัน ส่งออก 1.15 ล้าน ด้านตลาดในประเทศยังหนัก เหตุหนี้เสีย หนี้ครัวเรือน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ฉุดกำลังซื้อ แนะรัฐหนุนรถน้ำมัน ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด คู่ขนานอีวี จับตามาตรการกีดกันการค้ากระทบส่งออก
สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association : TAIA) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน (TAIA Meets the Press) หัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”
สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ปี 2567 คาดการณ์ว่าการผลิตรถยนต์ของไทยจะอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.17% โดยแบ่งเป็น
- ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 7.5 แสนคัน
- ผลิตเพื่อส่งออก 1.15 ล้านคัน
ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว เป็นยอดการผลิตที่สูงกว่าปี 2566 เล็กน้อย โดยปีที่ผ่านมา มียอดผลิตรวม 1.84 ล้านคัน แบ่งเป็น
- ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 6.8 แสนคัน
- ผลิตเพื่อส่งออก 1.16 ล้านคัน
ทั้งนี้การผลิตในปี 2566 ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 1.95 ล้านคัน โดยสาเหตุหลักมาจากตลาดในประเทศที่ถดถอย โดยมียอดขายติดลบประมาณ 9%
สาเหตุหลักที่ทำใหัตลาดในประเทศติดลบ และคาดว่าจะมีผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ประกอบด้วย
- ภาระหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
- หนี้เสีย (NPLs) มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลง
- ความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น
- รถยนต์มือสองราคาตก เนื่องจากปริมาณซัพพลายล้นตลาด จากปัญหาการยึดรถที่เพิ่มขึ้น
- ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน เช่น ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน
ขณะที่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ในไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจดทะเบียนรวม 1.0 - 1.2 แสนคัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง
ปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโต อีวี มีหลายอย่าง รวมถึงมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE มาต่อเนื่องยาวนาน และเป็นฐานการส่งออกที่สำคัญ มีSupply Chain และ Value Chain ที่เข้มแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการจ้างงานจำนวนมาก
ดังนั้น การรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาปไว้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ภาครัฐควรจะต้องสนับสนุนเคียงคู่กันไปแบบคู่ขนาน
นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม เห็นว่ามีหลายแนวทางที่ทำได้ และสนับสนุนที่ไม่ใช่อีวีเพียงอย่างเดียว เช่น รถยนต์ไฮบริด หรือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด เป็นต้น
ส่วนทิศทางของอุตสาหกรรมในปีนี้ ยังมีเรื่องที่มีผลต่ออุตสาหกรรมและตลาดอื่นๆ เช่น
- การบังคับใช้มาตรฐานมลพิษ ยูโร 5 ทั้งรถยนต์และน้ำมัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ราคารถยนต์และน้ำมันสูงขึ้น
- มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 3.0, EV 3.5 และ มาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Bus & E-Truck) โดยให้บริษัท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
- การมุ่งสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) ภายในปี 2593 ตามที่รัฐบาลได้แสดงเจตนารมย์ไว้เมื่อการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่สกอตแลนด์ปี 2564
ขณะเดียวกันก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศที่จะต้องติดตามและจับตา เช่น ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจา 5 ฉบับ
ซึ่งฉบับสำคัญที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เช่น ข้อตกลงการค้าไทย-ยุโรป, ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA), ไทย-เกาหลีใต้
ทั้งนี้ในปัจจุบันไทยมีข้อตกลงการค้าเระหว่างประเทศแล้วจำนวนทั้งสิ้น 15 ฉบับ 19 ประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ยังต้องจับตามาตรการกีดกันทางการค้า (Non Trade Barrier) เช่น มาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ใหม่ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) ที่คาดว่าจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
มาตรการนี้เป็นการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ที่นำเข้าไปยังประเทศออสเตรเลีย ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ เนื่องจากปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย โดยเฉพาะปิกอัพที่ปัจจุบันปิกอัพจากไทยครองตลาด 48%