ทำไม ‘แบงก์ชาติ’ ต้องอิสระ?
แม้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติกำลังถูกตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน ว่าสร้างอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเพดานดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ก่อนที่รัฐบาลจะแก้กฎหมายเพื่อลดความเป็นอิสระลงนั้นก็ต้องทำการศึกษาให้รอบด้านเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม
กำลังเป็นประเด็นดราม่าถึงความเป็น “อิสระ” ขององค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ซึ่งรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า กำลังพิจารณา “แก้กฎหมาย” เพื่อลดความเป็นอิสระของแบงก์ชาติลง โดยยัดข้อหาแรงว่าความเป็นอิสระของแบงก์ชาติได้สร้างอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และทำให้เพดานหนี้สาธารณะของไทยไม่สามารถลดลงได้
เรามองว่า เรื่องนี้ต้องแยกประเด็นให้ชัดเจนระหว่าง “ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ” กับ “การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ” ...เชื่อว่าวาทกรรมข้างต้นนี้เกิดจากมุมมองเรื่อง “ดอกเบี้ย” ที่ความเห็นไม่ตรงกันระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ โดยรอบนี้ต้องยอมรับว่าไม่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น ที่ตั้งคำถามถึงสาเหตุการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งดูย้อนแย้งกับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองก็ยังยิงคำถามดังๆ ใส่แบงก์ชาติด้วยเช่นกัน
แต่อย่างที่บอกต้องแยกให้ชัด เพราะการตัดสินเรื่องดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งมีทั้งคนในและคนนอกแบงก์ชาติ กลไกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้แบงก์ชาติรวบอำนาจการตัดสินใจไว้มากเกินไป แต่ถ้ารัฐบาลแก้กฎหมายลดความเป็นอิสระลง ตลาดเงินก็จะเดาต่อทันทีว่า รัฐบาลต้องการกุมอำนาจเหล่านี้ไว้เอง หากเป็นเช่นนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุนไทยแน่ๆ ที่สำคัญอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย
เมื่อเดือนก่อนหน้าผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) “คริสตาลินา จอร์เจียวา” เพิ่งจะเขียนบทความถึงความเป็นอิสระของธนาคารกลางไว้ โดยยกผลศึกษาในช่วงปี 2007-2021 ว่า ธนาคารกลางที่มีอิสระสูงมักประสบความสำเร็จในการทำให้เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ...ตรงกันข้ามหากธนาคารกลางสูญเสียความเป็นอิสระในส่วนนี้ไป หรือถูกแรงกดดันให้ต้องลดดอกเบี้ย หรือต้องคอยจัดหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำให้รัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม IMF ได้ย้ำในบทความด้วยว่า บนความอิสระของธนาคารกลาง ก็ต้องทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ ต้องทำนโยบายด้วยความโปร่งใส เนื่องจากการตัดสินใจของธนาคารกลางจะส่งผลกระทบกับทุกคน …เราจึงมองว่า ถ้ามุมมองเรื่องดอกเบี้ยของแบงก์ชาติผิด ท้ายสุดภาคธุรกิจและประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง แต่การไปแก้กฎหมายเพื่อลดทอนความเป็นอิสระของแบงก์ชาติลง กรณีนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน ถือเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกไม่อาจยอมรับได้!