แรงงานไทยไม่พร้อม รับเทคโนโลยี AI
ที่ผ่านมานักธุรกิจที่เสนอให้รัฐบาลต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลต้องชี้แจงว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างไร พร้อมสร้างการตื่นตัวให้ภาคธุรกิจร่วมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัล
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศความสำเร็จถึงการดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการประกาศว่าไมโครซอฟท์จะเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และปัญหาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลระบุว่าประเทศไทยเริ่มเจรจากับไมโครซอฟท์ช้ากว่าประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทำให้การเดินทางเยือนอาเซียนของนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์ ช่วงต้นเดือน พ.ค.2567 ไม่ประกาศมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยเหมือนมาเลเซียและอินโดนีเซีย
สิ่งที่น่ากังวลในการรองรับการลงทุนคลาวด์และ AI ของประเทศไทยอยู่ที่บุคลากรที่ในสายตาของบริษัทข้ามชาติมองว่าแรงงานไทยในประเทศมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน ในขณะที่แผนพัฒนาบุคลากรระดับประเทศมีความคืบหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งไม่ทันท่วงทีต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ถึงแม้ว่าประเทศไทยประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2565-2570)
ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลกับข้อเท็จจริงห่างไกลกันมาก ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทักษะขั้นสูง, บุคลากรทักษะขั้นกลาง และบุคลากรทักษะขั้นต้น โดยเฉพาะบุคลากรทักษะขั้นต้นจะเป็นที่ต้องการมากกระจายในแต่ละบริษัทและในแต่ละธุรกิจ เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือ AI ในอาชีพของตนเองได้ ซึ่งแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่สร้างความเชื่อมั่นถึงความพร้อมบุคลากรของประเทศไทยได้เลย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ นอกจากแผนการลงทุนของนายกรัฐมนตรีที่ดึงบริษัทข้ามชาติที่ยังไม่เกิดการลงทุนจริงแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัลถูกกล่าวถึงน้อยมาก เมื่อเทียบกับการแจกเงินดิจิทัลและนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินให้ตอบโจทย์ดังกล่าว
ที่ผ่านมามีนักธุรกิจที่เสนอให้รัฐบาลต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยรัฐบาลต้องชี้แจงว่าการลงทุนดังกล่าวสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงมีธุรกิจใดเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการรับรู้ในสังคม และสร้างการตื่นตัวให้ภาคธุรกิจร่วมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่อย่างนั้นรัฐบาลคงทำได้เพียงแค่แถลงนโยบายและทำงานสร้างคะแนนนิยมเพื่อรอการเลือกตั้งรอบใหม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่แน่ว่าถ้าให้ AI มาเป็นรัฐบาลอาจทำได้ดีกว่านักการเมือง