ภูมิรัฐศาสตร์ ป่วน 'เศรษฐกิจโลก'

ภูมิรัฐศาสตร์ ป่วน 'เศรษฐกิจโลก'

ปม “ภูมิรัฐศาสตร์” กำลังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ สร้างความปั่นป่วนให้ระบบเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น รัฐบาลต้องหาทางรับมือให้ดี 

ความหวั่นใจในถ้อยแถลงของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ไตรมาส 1/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คือ เรื่อง ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเศรษฐกิจไทยจาก “ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์” กระทบกับความไม่แน่นอนภาคส่งออก รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้า ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินโลก จากการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งสัญญาณรุนแรงขึ้น

ประเด็นการเสียชีวิตของ นายซัยยิด อิบรอฮีม เราะอีซี ประธานาธิบดีอิหร่าน และ นายฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ส่งผลให้สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สะเทือนไปถึงสินทรัพย์ในระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งราคาทอง พลังงาน ค่าเงินต่างๆ เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ สศช.ต้องปรับลดจีดีพี ปี 2567 ลงจาก 2.2-3.2% เหลือ 2-3% เพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

ทันทีที่ประธานาธิบดีอิหร่านเสียชีวิต ราคาทองคำฟิวเจอร์ก็ทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,450 ดอลลาร์/ออนซ์ จากแรงหนุนนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย  ขณะที่ ‘ตลาดน้ำมันโลกก็ตื่นตัว’ จับตาข่าวตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด 

ส่วนตัวเลข จีดีพีไตรมาส 1 ปี 67 ของประเทศไทย สศช. เผยว่า ขยายตัว 1.5% จากปีก่อน และขยายตัวได้ 1.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา

อานิสงส์การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 6.9% การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 4.6% สาขาที่พักและบริการด้านอาหารที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวขยายตัวได้ 11.8% ภาคขนส่งขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 9.4% ส่วนสาขาที่ยังลดลง เช่น ภาคการผลิตที่ลดลงในส่วนอุตสาหกรรม 3% สาขาเกษตรกรรมลดลง 3.5% สาขาภาคก่อสร้างที่หดตัว 17.3% ส่วนการลงทุนรวมของภาครัฐยังลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยลดลง 27.7% เนื่องจากความล่าช้างบประมาณรายจ่ายปี 2567 

ปม “ภูมิรัฐศาสตร์” กำลังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ สร้างความปั่นป่วนให้ระบบเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น รัฐบาลต้องหาทางรับมือให้ดี 

ปัญหาลักษณะนี้คาดเดายาก หากความขัดแย้งปะทุขึ้นอย่างรุนแรง เกิดการแบ่งแยกข้างเป็นฝักเป็นฝ่าย ขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ ประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก หากเส้นทางขนส่งคมนาคมมีความเสี่ยง หรือถูกปิดหรือเกิดความโกลาหลแบบที่คาดไม่ถึง ประเทศไทยมีแผนรับมือเรื่องเหล่านี้อย่างไร ธุรกิจที่ต้องเดินหน้าต่อ ต้องปรับแผนปรับวิธีการลงทุนแบบไหน เป็นเรื่องที่รัฐบาลเศรษฐาไม่ควรปล่อยผ่านอย่างยิ่ง