อนาคต ‘การเงินไทย’ ต้นทุนมีแต่จะเพิ่ม?

อนาคต ‘การเงินไทย’ ต้นทุนมีแต่จะเพิ่ม?

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ “นักลงทุน” ต่างพากันถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย ทั้ง “ตลาดหุ้น” และ “ตลาดตราสารหนี้” จึงต้องตั้งคำถามได้แล้วว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทยและลุกลามไปในระบบเศรษฐกิจหรือไม่

ไทยน่าจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เงินทุนต่างชาติไหลออกแบบไม่หยุดหย่อน โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนักลงทุนกลุ่มนี้เทขายยับทั้งใน “ตลาดหุ้น” และ “ตลาดตราสารหนี้” รวมกันเกือบ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดหุ้น ราว 1.2 แสนล้านบาท และตลาดตราสารหนี้อีกประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ...คำถามคือ เพราะอะไรทำไมนักลงทุนเหล่านี้จึงพากันเดินจากประเทศไทยไป ไทยแลนด์ดินแดนแห่งนี้ไม่น่าสนใจในมุมของนักลงทุนต่างชาติอีกต่อไปแล้วอย่างนั้นหรือ

ที่ผ่านมาเราคุยกันแต่เรื่องของ “ตลาดหุ้น” ว่าเงินทุนต่างชาติไหลออกแบบไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.เป็นเดือนที่นักลงทุนกลุ่มนี้เทขายหุ้นเราทุกวัน ขอย้ำว่า “ขายทุกวัน” รวมเป็นเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ...วันนี้เลยจะขอพูดถึงในมุมของตลาดตราสารหนี้หรือ “ตลาดบอนด์” บ้าง เพราะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เราคิดว่าต้องจับตา เนื่องจากจะมีผลต่อต้นทุนการเงินของหลายๆ บริษัท รวมทั้งของรัฐบาลด้วย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า “ตลาดบอนด์ไทย” เป็นอีกหนึ่งตลาดที่นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิแบบไม่หยุดหย่อน ปีนี้ขายไปร่วมๆ 6-7 หมื่นล้านบาทแล้ว เฉพาะเดือนมิ.ย.ซึ่งมีวันทำการ 19 วัน นักลงทุนกลุ่มนี้เทขายไปถึง 13 วันทำการ ยอดขายสุทธิทั้งเดือนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มว่า บอนด์ไทยจะถูกเทขายต่อเนื่องด้วย สาเหตุเพราะการรีบาลานซ์พอร์ตของกองทุนระดับโลก หลังจากที่พันธบัตรรัฐบาลอินเดียถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี GBI-EM ซึ่งมีผลให้ตราสารหนี้ของไทยถูกลดน้ำหนักการคำนวณในดัชนีดังกล่าวลง

“เจพีมอร์แกน” แบงก์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ออกบทวิเคราะห์เมื่อสัปดาห์ก่อนประเมินว่า ตลาดบอนด์ไทยจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากการที่บอนด์อินเดียเข้าคำนวณในดัชนี GBI-EM ซึ่งเขาคาดว่าจะมีเงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยราว 1.2 แสนล้านบาท แถมยังมองว่า “ไทย” มีความ “เปราะบาง” มากเป็นอันดับ 4 พร้อมกับแนะนำ Underweight บอนด์ไทยให้น้อยกว่าดัชนี GBI-EM

อย่างไรก็ตามในมุมของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวไม่ได้มาก เพราะกระบวนการปรับพอร์ตไม่ได้ทำในทีเดียว แต่จะทยอยดำเนินการในระยะเวลา 10 เดือน จึงค่อนข้างมั่นใจว่ารับมือได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าดูจากสัญญาณที่เงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง แถมมองไปข้างหน้ามีโอกาสที่จะยังออกแบบไม่หยุด บอนด์ยีลด์ของไทยคงมีแต่จะทรงกับเพิ่ม ดังนั้นความหวังของรัฐบาลที่จะระดมทุนผ่านตลาดบอนด์ด้วยต้นทุนต่ำๆ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่หวังก็ได้ ยิ่งถ้าเศรษฐกิจไทยยังดำดิ่งลงแบบนี้ เสี่ยงกระทบต่อเครดิตเรทติ้งด้วยเช่นกัน ไม่อยากคิดเลยว่าอนาคตต้นทุนการเงินของคนไทยจะเป็นอย่างไร!