เจพีมอร์แกนชี้ ‘ตราสารหนี้ไทย’ เจ็บหนักสุด ‘อินเดียเข้าดัชนีโลก’ ฉุดต่างชาติเทขาย

เจพีมอร์แกนชี้ ‘ตราสารหนี้ไทย’ เจ็บหนักสุด  ‘อินเดียเข้าดัชนีโลก’ ฉุดต่างชาติเทขาย

เจพีมอร์แกนชี้ 'ตลาดตราสารหนี้ไทย' ได้รับผลกระทบหนักสุด หลังตราสารหนี้ 'อินเดีย' เข้าสู่ดัชนี GBI-EM คาดต่างชาติดึงเงินทุนไหลออก 1.2 แสนล้านบาท กดดันตลาดตราสารหนี้ไทยเปราะบาง

ธนาคารเจพีมอร์แกน (J.P. Morgan) เปิดเผยรายงานวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนตลาดเกิดใหม่ว่า ตลาดตราสารหนี้ของ "ไทย" เป็นตลาดในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งในแง่ของ "ทุนไหลออก" และ "การถ่วงน้ำหนักดัชนี" จากการที่ตลาดตราสารหนี้ของ "อินเดีย" ถูกรวมเข้าในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ หรือ Government Bond Index-Emerging Markets (GBI-EM) ของ J.P. Morgan 

ตลาดตราสารหนี้อินเดียจะเริ่มเข้าสู่ดัชนี GBI-EM  ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.นี้ โดยกระบวนการจะเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายในระยะเวลา 10 เดือน และทยอยเพิ่มน้ำหนักของตลาดตราสารหนี้อินเดียเดือนละ 1 % จนถึงระดับสูงสุดที่ 10% ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2568

 

เจพีมอร์แกนประเมินว่ากลุ่มประเทศ CE4 (เช็ก ฮังการี โปแลนด์ สโลวัก) ประเทศไทย และแอฟริกาใต้ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในแง่ของ "การถ่วงน้ำหนักดัชนี" โดยน้ำหนักดัชนี GBI-EM ของตราสารหนี้ไทยจะลดลง 1.60% แอฟริกาใต้จะลดลง 1.44% และโปแลนด์จะลดลง 1.41%

ตลาดตราสารหนี้ประเทศเหล่านี้ยังเป็นกลุ่มที่จะ "เสียผลประโยชน์" มากที่สุดจากการเข้าสู่ดัชนีของอินเดีย เมื่อพิจารณาจากกระแส "เงินทุนไหลออก" โดยเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่าจะมีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้แอฟริกาใต้ 4.7 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยโปแลนด์ 3.3 พันล้านดอลลาร์ และประเทศไทย 3.2 พันล้านดอลลาร์ (เกือบ 1.2 แสนล้านบาท) 

 

นอกจากนี้ "ไทย" ยังมีความเปราะบางมากเป็นอันดับที่ 4 จากการไหลออกของเงินทุน ทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะเมื่ออินเดียเข้าสู่ดัชนี GBI-EM โดยเจพีมอร์แกนแนะนำให้ Underweight ลงทุนในตราสารหนี้ไทยน้อยกว่าน้ำหนักที่มีอยู่ในดัชนี GBI-EM

เจพีมอร์แกนยังระบุด้วยว่า ประเทศเหล่านี้จะเผชิญ "ผลกระทบที่เกิดจากทุนไหลออก" มากที่สุดด้วย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเรื่องมาร์เก็ตแคป ปัจจัยเรื่องการลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ของประเทศนี้เหล่านี้มาจากนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก และปัจจัยที่บรรดากองทุนบำเหน็จบำนาญและธนาคารขนาดใหญ่ไม่สามารถดูดซับตราสารหนี้ในประเทศแทนที่เงินทุนไหลออกได้มากพอ

ในทางกลับกัน "จีน อินโดนีเซีย และเม็กซิโก" จะไม่ถูกปรับลดน้ำหนักการลงทุนในดัชนี GBI-EM GD ภายในเดือน มี.ค. 2568  และทั้ง 3 ประเทศนี้ยังคงมีน้ำหนักการลงทุนสูงสุดที่ 10% ทำให้เผชิญกับแรงกดดันด้านราคาน้อยที่สุดจากการเข้าสู่ดัชนีของอินเดีย

ปัจจุบัน ตลาดตราสารหนี้ของอินเดียมีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติล่วงหน้าไปรอแล้ว 32-40% ของยอดรวมที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอยู่ที่ 2-2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ก่อนที่จะมีการรวมเข้าสู่ดัชนี GBI-EM โดยตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 มีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติราว 8 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3 แสนล้านบาท)