ยุคมืด ‘เศรษฐกิจไทย’

ยุคมืด ‘เศรษฐกิจไทย’

การบริหารประเทศของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คลังสมองของประเทศ กำลังถูกตั้งคำถามว่า “จะเอาวิกฤติครั้งนี้อยู่หรือไม่” หรือเรากำลังอยู่ใน “ยุคมืดของเศรษฐกิจไทย”

พูดกันให้สนั่นเมืองตอนนี้ หนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจไทยที่วิกฤติลงทุกวัน ข้าวของแพง ราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนของทุกสรรพสิ่งก็แพงระยับ มูลค่าเงินในกระเป๋าลดลง คนทำงานหาเช้ากินค่ำลำบาก ธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ เผชิญชะตากรรมเดียวกันจากกำลังซื้อลด บรรยากาศจับจ่ายไม่คึกคัก

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐเตรียมไว้อย่าง “ดิจิทัล วอลเล็ต” ไม่รู้ว่าจะช่วยได้จริงไหม แลกกับการที่ประเทศเป็นหนี้สินรุงรังเพิ่ม ยังไม่นับรวมเรื่องทุจริตระหว่างทาง ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ดี แต่ถ้าเกิดขึ้นจะกลายเป็นมาตรการที่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับยิ่งสร้างปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจประเทศวอดวายหนักเข้าไปอีก

วันนี้ ธุรกิจกำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะหมุนเงินให้ทันแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละไตรมาสได้อย่างไร เราจึงเห็นการปิดตัวของธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหารทยอยปิดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจ “เอสเอ็มอี” ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของประเทศกำลังจะ “ตาย”

ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. พบว่า ปี 2566 สัญญาณเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเอสเอ็มอีภาคผลิตและการจ้างงานลดจำนวนลง ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เดือนพ.ค.2567 รายภูมิภาค “ติดลบ” ทั้งหมด ภาคเหนือ -1.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ -1.4 ภาคตะวันออก -2.5 ภาคกลาง -1.8 กรุงเทพฯ และปริมณฑล -1.7 และภาคใต้ -1.5 และทุกภาคธุรกิจติดลบเช่นกัน คือ ภาคการผลิต -0.6 ภาคการค้า -1.5 ภาคการบริการ -2.6 และภาคธุรกิจการเกษตร -1.5

เอสเอ็มอีไทย ยังต้องเผชิญชะตากรรมจากโลกที่เปลี่ยน โดยเฉพาะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์จากสันดาปภายใน (ICE) เป็นไฟฟ้า (EV) ผลกระทบจากการย้ายฐานของ ICE รวมไปถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจเกี่ยวเนื่องถูกวิกฤติกระหน่ำ

จากปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก วันนี้ธุรกิจอสังหาฯ สถานการณ์ไม่ค่อยดี หนักหน่วง เผชิญกับห้วงเวลาที่ยากลำบาก หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น คนผ่อนบ้าน ผ่อนรถกระอัก อำนาจจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอ่อนแอลง รวมถึงการซื้ออสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างชัดเจน

ข้อมูลในภาคอสังหาฯ ระบุว่า ยอดขายใหม่ร่วงติดต่อกัน 5 ไตรมาส ขณะที่จำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลก็ “ลดลง” จากแบงก์เข้มปล่อยกู้มากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ให้บุคคลทั่วไปไตรมาส 1 ปี 2567 ลดลง 20.5% สะท้อนออกมาว่าปัจจุบันมีการปฏิเสธสินเชื่อสูงกว่า 50% เลยทีเดียว

ข้อมูลเชิงลบเหล่านี้ ปรากฏสู่สาธารณะมากขึ้น สะท้อนถึงการบริหารประเทศของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คลังสมองของประเทศ ที่กำลังถูกตั้งคำถามว่า “จะเอาวิกฤติครั้งนี้อยู่หรือไม่” หรือเรากำลังอยู่ใน “ยุคมืดของเศรษฐกิจไทย” ที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายที่ปลายอุโมงค์ ..อย่ากระนั้นเลยเรากำลังรอดูยุทธศาสตร์แก้วิกฤติที่ชาญฉลาดจาก “รัฐบาลเศรษฐา” อย่างใจจดใจจ่อ