ราคาน้ำมันปิดบวก 1.5% กระเตื้องเล็กน้อยหลังดิ่งหนักสัปดาห์ที่แล้ว

ราคาน้ำมันปิดบวก 1.5% กระเตื้องเล็กน้อยหลังดิ่งหนักสัปดาห์ที่แล้ว

ราคาน้ำมันดิบกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ปิด 68.71 ดอลลาร์ หลังสัปดาห์ที่แล้วดิ่งหนักในรอบ 1 ปี เฉพาะไตรมาส 3 ราคาน้ำมันร่วงลงแล้วกว่า 15%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ที่ 9 ก.ย. หลังจากมีรายงานว่าพายุเฮอร์ริเคนอาจพัดถล่มรัฐลุยเซียนาของสหรัฐ ในวันพุธนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการกลั่นน้ำมันในเขตกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐ

  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.04 ดอลลาร์ หรือ 1.54% ปิดที่ 68.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 78 เซนต์ หรือ 1.10% ปิดที่ 71.84 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ราคาน้ำมันปิดตลาดรอบสัปดาห์ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 และหากนับเป็นช่วงไตรมาส 3 ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ปรับตัวลงไปแล้วถึงกว่า 15% 

รายงานระบุว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซตามแนวชายฝั่งของเขตกัลฟ์โคสต์ได้เริ่มอพยพพนักงานและลดการขุดเจาะน้ำมัน เพื่อเตรียมรับมือกับพายุโซนร้อน ฟรานซีน (Francine) ที่กำลังพัดผ่านอ่าวเม็กซิโก

ศูนย์พายุเฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐคาดการณ์ว่า พายุฟรานซีนจะทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอร์ริเคนในวันนี้ (10 ก.ย.) ก่อนที่จะพัดถล่มชายฝั่งรัฐลุยเซียนา โดยข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ระบุว่า เขตกัลฟ์โคสต์มีการผลิตน้ำมันในสัดส่วนสูงถึง 50% ของกำลังการกลั่นน้ำมันภายในประเทศ

นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) โดยเฉพาะ "ลิเบีย" ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก โดยมีรายงานว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียได้ประกาศภาวะสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับการขนส่งน้ำมันดิบหลายเที่ยวจากท่าเรือเอส ซิเดอร์ (Es Sider) เนื่องจากการผลิตน้ำมันของลิเบียเป็นไปอย่างจำกัด อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นที่ว่ารัฐบาลของฝั่งใดจะมีอำนาจในการควบคุมธนาคารกลางลิเบียและรายได้จากน้ำมัน

ทั้งนี้ ภาวะสุดวิสัยเป็นส่วนหนึ่งที่ระบุในสัญญาซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอิสระจากข้อบังคับทางกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ข้อพิพาทด้านแรงงาน การประท้วง การก่อการร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค.ของสหรัในวันพุธนี้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพฤหัสบดี เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อ ก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ย.

นักลงทุนคาดหวังว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน