ความเหลื่อมล้ำกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า... เกี่ยวกันยังไง

ความเหลื่อมล้ำกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า... เกี่ยวกันยังไง

อาจมีหลายคนตั้งคำถามว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าและความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยความเหลื่อมล้ำในที่นี้ หมายถึง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่สุดแล้วย่อมนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในการดำรงชีพของผู้คนในสังคมเดียวกัน

 ศาสตราจารย์ Eleanor Fox เป็นอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกำกับดูแลทางการค้า (Trade Regulation) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ได้เขียนบทความทางวิชาการในปี ค.ศ. 2024 ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง “การแข่งขันทางการค้าและความไม่เท่าเทียมกัน (Competition and Inequality)” 

ในบทความชี้ให้เห็นว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของการเพิ่มขึ้นในความไม่เท่าเทียมของความมั่งคั่งและรายได้ระหว่างประชาชนท่ามกลางการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของความยากจนในหลายประเทศนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ตลาด (Market)” ถือเป็นหนึ่งตัวการสำคัญของปัญหา และเมื่อตลาดมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นกฎหมายและนโยบายด้านการแข่งขันทางการค้าย่อมเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหานี้

กล่าวถึงมิติของความไม่เท่าเทียมนั้นมีความหลากหลาย โดย 3 มิติหลักที่มักถูกนำขึ้นมาอธิบาย คือ ความไม่เท่าเทียมทางด้านโอกาส รายได้ และความมั่งคั่ง ซึ่งความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสดูจะสอดคล้องกับกฎหมายการแข่งขันฯ มากที่สุด

ด้วยเหตุเพราะวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายการแข่งขันฯ คือ การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับผู้ประกอบธุรกิจทุกรายในการเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม และลดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ถูกสร้างหรือกำหนดขึ้นเพื่อลดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม 

ในส่วนของความเท่าเทียมด้านรายได้และความมั่งคั่ง อาจไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักโดยแท้ของกฎหมายการแข่งขันฯ เหตุเพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ธรรมชาติของการแข่งขันทางการค้าย่อมก่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ทางธุรกิจ

หากการแข่งขันทางธุรกิจนั้นอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผู้ประกอบธุรกิจที่จะเป็นผู้ชนะทางธุรกิจ คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดได้สูงสุด

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ชนะย่อมสามารถสะสมรายได้และความมั่งคั่งได้มากกว่าผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้แพ้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติวิสัย

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดในมุมกลับด้วยว่า เพราะการแข่งขันทางการค้าหรือในทางธุรกิจนี้เองที่เป็นสาเหตุของความไม่เท่าเทียม เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายมีต้นทุนและความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน จึงนำไปสู่การกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียม

แต่ก็มิอาจปฏิเสธว่า มาตรการหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นเหล่านั้น เช่น การให้เงินช่วยเหลือ การให้สิทธิพิเศษทางภาษี เป็นต้น อาจเป็นมาตรการหรือเงื่อนไขที่สวนทางและขัดเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายการแข่งขันฯ

ดังนั้น การกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม จำต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายการแข่งขันฯ และใช้กฎหมายนี้เป็นกุญแจหลักในการแก้ปัญหา

โดยมาตรการและเงื่อนไขเหล่านั้น ควรเป็นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในตัวสินค้าหรือบริการ เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา ซึ่งที่สุดแล้ว ตลาดย่อมได้รับประสิทธิผลสูงสุด

ในบทความฉบับนี้ยังอ้างถึงอีก 4 บทความทางวิชาการ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการแข่งขันทางการค้าและความไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ 

หนึ่ง บทความของ Lina Khan และ Sandeep Vaheesan ที่ระบุว่า อำนาจตลาด (Market power)คือ ตัวจักรสำคัญในการแปรเปลี่ยนและโอนย้ายสินทรัพย์และความมั่นคั่งของกลุ่มชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง ไปสู่กลุ่มชนชั้นสูงที่มีจำนวนเพียงร้อยละ 1 หรือต่ำกว่า ของจำนวนประชากรในสังคม

สอง งานวิชาการของ Tommaso Valletti และ Hans Zenger ที่ชี้ให้เห็นว่า โดยส่วนใหญ่ธุรกิจที่ได้ รับอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการควบรวมธุรกิจ

ธุรกิจเหล่านั้นมักใช้อำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นในการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้ธุรกิจได้รับกำไรสูงขึ้น แต่กำไรที่เพิ่มสูงขึ้น มิได้ถูกจัดสรรหรือนำมาใช้ในการพัฒนาในกลุ่มชนชั้นแรงงาน สถานการณ์เช่นนี้คือตัวบั่นทอนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อธุรกิจของประเทศ

สาม บทความของ Sean Ennis, Pedro Gonzaga และ Chris Pike แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอำนาจตลาดส่งผลกระทบโดยตรงต่อความไม่เท่าเทียม เช่น ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มชนชั้นสูงเพียงร้อยละ 10 ซึ่งมาจากการได้รับอำนาจตลาดเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบทางลบต่อประชากรอีกราวร้อยละ 80 ในกลุ่มชนชั้นอื่น และ 

สี่ งานวิชาการของ Shi-Ling Hsu เน้นการศึกษาไปที่ธุรกิจใหญ่ (Super-firm) โดยตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนแบ่งตลาดที่มากของธุรกิจใหญ่ นำไปสู่การจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค ตลาดผูกขาด (Monopoly) และตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) คือ แหล่งของการโอนย้ายความมั่งคั่งจากผู้บริโภคไปสู่ผู้ผลิต

และนี่คือสาเหตุของความไม่เท่าเทียม ดังนั้นกฎหมายการแข่งขันฯ จึงควรมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Eleanor Fox ยังกล่าวถึงในงานวิชาการฉบับนี้ว่า ไม่ใช่ทุกความไม่เท่าเทียมจะต้องได้รับการแก้ไข เพราะความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์อาจไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง

หากแต่สิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขคือ ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชนชั้นสูง และกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งรวมถึงกลุ่มชนชั้นล่างด้วย.