เช็กเลย! ครม. จัดชุดใหญ่ อุ้มลูกหนี้ บ้าน - รถ - สินเชื่อ พักดอกเบี้ย 3 ปี
ครม.อนุมัติ ชุดใหญ่ คนไทย ลืมตาอ้าปากได้ จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย - ผู้ประกอบการ SME - กลุ่มเปราะบาง ลดหนี้ครัวเรือน มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้น
วันที่ 11 ธ.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เตรียมแถลงผลงานรัฐบาล 90 วันในวันที่12 ธ.ค.67 ว่าปัจจุบันรัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้าง อนาคตประเทศไทยจะเดินไปทางที่ดีกว่าในด้านเศรษฐกิจต้องดี ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ สอดคล้องกับ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้พิจารณาเรื่องที่กระทรวงการคลัง เสนอเพื่อให้การช่วยเหลือ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานในที่ประชุม ครม.ว่า จากการสรุปผลประชุม ของ คกก. นโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทาง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดย กระทรวงการคลัง ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs และมาตรการช่วยเหลือ ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่น ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน กระทรวงการคลัง ได้เสนอ ครม. ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs ประกอบด้วย
(1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงินลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ 3 ประเภท (สัญญาสินเชื่อที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567) ประเภทสินเชื่อ วงเงินรวมต่อสถาบันการเงิน เช่น 1. สินเชื่อบ้าน/สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ไม่เกิน 5 ล้านบาท
(2)สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ/หรือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และ/หรือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 800,000 บาทไม่เกิน 500,000 บาท
(3)สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาท
ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และเงื่อนไข เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวด ระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ชำระค่างวดร้อยละ 50 70 และ 90 ตามลำดับตามค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมดเพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น และดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ในช่วงระยะเวลามาตรการ
1.2 มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ ไม่สูง
- เช่นลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็น NPLs และมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท (ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา)
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และเงื่อนไข เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนโดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระร้อยละ 10 ภาครัฐรับภาระร้อยละ 45 และสถาบันการเงินรับภาระร้อยละ 45 ของภาระหนี้คงค้าง ทั้งนี้ แหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการ มาจาก (1) เงินนำส่งเข้า FIDF ของ ธ.พาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 39,000 ล้านบาท (2) เงินงบฯตาม ม.28 เพื่อชดเชยให้ SFIs 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท 2) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของ Non – banks โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังลูกหนี้ของ Non - banks เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเปราะบาง และมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง
- คุณสมบัติลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ 5 ประเภท (สัญญาสินเชื่อทำขึ้นก่อน 1 ม.ค.67) ในประเภทสินเชื่อวงเงินรวมไม่เกิน
1. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ 800,000 บาท
2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ 50,000 บาท
3. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 100,000 บาท หรือ 200,000 บาท
4. สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล 20,000 บาท
5. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance)
- รูปแบบการช่วยเหลือ เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการระยะเวลา 3 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าร่วมมาตรการตลอดระยะเวลา 3 ปี
- โดยแหล่งเงิน ธ.ออมสิน ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ Non – banks อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปีวงเงิน 50,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยรัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี งบฯ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท
2.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมของ SFIs มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยซึ่งจะไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs และครอบคลุมลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรักษาวินัยทางการเงินของลูกหนี้
- รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และเงื่อนไข เช่น ลูกหนี้ปกติ ครอบคลุมลูกหนี้ รายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย/เกษตรกรรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง ผ่านการลด
ดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ผ่านการพักชำระเงินต้น และไม่คิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ในระหว่างพักชำระหนี้ ลูกหนี้ที่ขอสินเชื่อใหม่ ผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
- แหล่งเงิน ให้ SFIs ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามใช้จ่ายจากเงินที่ได้จากการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) จากร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.125 ต่อปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี 2568 โดยจากประมาณการเงินนำส่งเข้า SFIF ของ SFIs ทั้ง 4 แห่ง ในปี 2568
พบว่าหากได้รับการปรับลดอัตราเงินนำส่งฯ เหลือร้อยละ 0.125 ต่อปี จะมีการนำส่งเงินเข้า SFIF ลดลงประมาณ 8,092 ล้านบาท
4) แนวทางการแก้ไขหนี้ ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก
(1) ยกระดับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนที่จัดเก็บในระบบฐานข้อมูลของ บจก. ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการมีหนี้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมกับรายได้ และไม่เกินกำลังในการชำระคืน รวมถึงออกแบบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างตรงจุด และทันการณ์ และยกระดับข้อมูลหนี้สินครัวเรือน โดยมีแนวทาง เช่น ปรับปรุง และเพิ่มเติมการจัดทำฐานข้อมูลภาวะหนี้นอกระบบของครัวเรือน เพื่อให้มีข้อมูลสถานะภาระหนี้สินที่แท้จริง
(2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการยกระดับรายได้ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยมีแนวทาง เช่น ส่งเสริมให้แรงงานยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ดูแลให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจรายใหญ่ได้รับความเป็นธรรม
โดยที่ประชุมเห็นชอบ อนุมัติ และรับทราบตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอ และให้รับความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์