วิเคราะห์ราคาหุ้น PTTGC ลอดแว่น อนนต์ สิริแสงทักษิณ
เปิดวิชั่นซัม อนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีทีที โกลบอล เคมิคอล ราคาหุ้น PTTGC แรงยังดีไม่มีตก อีก10ปี รายได้โต 2 เท่า
นั่งประจำการณ์เก้าอี้ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ณ “พีทีที โกลบอล เคมิคอล” (PTTGC) เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2555 นับถึงวันนี้ยังไม่ถึง 1 ปี “ซัม”อนนต์ สิริแสงทักษิณ" ก็งัด “ไม้เด็ด” โชว์ผลประกอบการปี 2555 “สวยหรู” โกย “กำไรสุทธิ” 34,001 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 7.54 บาท เทียบกับปี 2554 ที่มีกำไรสุทธิ 30,033 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 6.66 บาท
แถมยังทำงาน “เกินคำสัญญา” จากที่เคยระบุว่า สิ้นปี 2555 จะมีรายได้พุ่ง 500,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาท สุดท้ายก็คว้าตัวเลข 562,811 ล้านบาท มาครอบครอง แม้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหลักจะลดลง
ทำให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตราคาตลาด (Market GRM) อยู่ที่ 4.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 4.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ทั้งปี 2555 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย อยู่ที่ 109 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2554 สัดส่วน 3%
เรียกว่าโชว์ “ของดี” ส่งท้ายก่อนจะเข้าสู่วัยเกษียณอายุตามวาระการทำงานในเดือนต.ค.2556
“ตื่นเต้น” กับ “เงินปันผล” 2.45 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 1.70% ที่บริษัทนำเงินจากผลประกอบการปี 2555 มาจ่ายให้กับ “แฟนพันธุ์แท้” ได้ไม่นาน “อนนต์” ก็สร้าง "ความคึกคัก” ชั่วขณะให้กับราคาหุ้น PTTGC ด้วยการประกาศจับมือเป็นพันธมิตรอย่างบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย “พีทีเปอร์ตามิน่า” เพื่อก่อสร้างปิโตรเคมิคอลคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ระดับโลกแห่งแรกในอินโดนีเซีย
โครงการดังกล่าวจะมีโรงงานโอเลฟินด์ขนาด 1 ล้านตันต่อปี และโรงงานโพลิเมอร์ปลายน้ำ รองรับความต้องการของตลาดอินโดนีเซียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากต่างประเทศ โดยโครงการนี้มูลค่าลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ (1.2-1.5 แสนล้านบาท)
“นักวิเคราะห์” ตั้งโต๊ะออกความคิดเห็นว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ต่อการต่อยอดแนวโน้มผลดำเนินงานระยะยาวของ PTTGC แนะนำ “ซื้อลงทุน” ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 84-92 บาทต่อหุ้น
ชั้น 18 บนอาคารเอ็นโก้ ตึกที่ขึ้นชื่อเรื่องการประหยัดพลังงาน คือ “จุดนัดพบ” ระหว่าง “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” กับชายอารมณ์ดี มีรอยยิ้มอยู่เป็นนิจ “อนนต์ สิริแสงทักษิณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC เขาส่งยิ้มทักทาย ก่อนนั่งลงตอบคำถาม “ราคาหุ้น PTTGC มีสิทธิไปต่อหรือไม่” คำตอบที่ได้รับคือ..ราคาหุ้นยังไปได้อีกยาว แต่จะไปยืนรับลมตามที่เหล่านักวิเคราะห์ทำนายไว้หรือไม่ “ไม่รู้” (ยิ้มอีกรอบ)
ถามถึง “จุดเด่น” ของ PTTGC ในสายตานักลงทุน อนนต์ บอกว่า ความที่บริษัทเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการของบริษัทในกลุ่มปตท. ทำให้มี “Economy of Scale” (การประหยัดจากขนาด) ถือเป็นเรื่องดีๆของเรา และเป็นจุดประสงค์ของการควบรวมกิจการในช่วงที่ผ่านมา "หากต่างชาติจะเข้ามาลงทุนหุ้นไทย เราก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีรายหนึ่งของเขา" อนนต์บอกอย่างนั้น
ก่อนจะเล่าถึงสรรพคุณของ PTTGC ต่อไปว่า ยังมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และความเข้มแข็งของหน่วยธุรกิจ ขณะที่สินค้าที่ผลิตออกมาก็มีตลาดรองรับชัดเจน ในเมืองไทย PTTGC ถือว่าครองตลาดใหญ่ที่สุดในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แถมยังมีศักยภาพที่จะขยายช่องทางการจำหน่ายได้อีกมากทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ
"สวยขนาดนี้ไม่ลงทุนได้ไง" !!! เขาโปรยคำหวาน
แม้ที่ผ่านมาราคาหุ้น PTTGC ปรับตัวลดลงบ้างก็เถอะ !!
"ผมยอมรับว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจาก “แรงเก็งกำไร” ของนักลงทุนต่างชาติ หลังมีข่าวเงินบาทแข็งค่า แต่หุ้นตัวอื่นๆก็โดนเหมือนกันหมด เท่าที่ดูๆราคาหุ้น PTTGC ก็ไม่ได้ต่ำมากจนต้องกังวล ถามว่าเมื่อต้นปี 2555 ทำไมกองทุนขายหุ้น PTTGC ไม่มีอะไรเป็นนัยสำคัญ น่าจะขายเก็งกำไรปกติ อย่าคิดมาก..."
ก่อนจะเข้าเรื่องอนาคตบริษัท “ผู้บริหารลายคราม” ย้อนอดีตให้ฟังว่า PTTGC เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง “ปตท.เคมิคอล” (PTTCH) และ “ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น” (PTTAR) เมื่อปี 2554 ผ่านมาแล้ว 1 ปี ภายในองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร
เห็นชัดๆจาก “กำไรสุทธิ-รายได้” ในปี 2555 ที่ขยายตัว 12% เรียกว่าเติบโตมากกว่าประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์ในหลายๆสำนักอีก (พูดด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ)
"หลายคนคงคิดว่าที่ผ่านมาผลประกอบการของเรา “สวย” เพราะมีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ช่วยหนุน จริงๆไม่ได้มาจากเรื่องนี้เท่าไร หากกลับไปดูราคาผลิตภัณฑ์ในช่วงปี 2554-2555 จะพบว่า ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าไร
แต่เหตุผลแท้จริงเกิดกำลังการผลิตของบริษัทมีประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่าทุกหน่วยการผลิตก็ว่าได้ ความมีศักยภาพทำให้เราสามารถทำงานได้เร็วกกว่าที่คิด ที่ผ่านมาบริษัทมีก๊าซเป็นวัตถุดิบมากขึ้น และมีการจำหน่ายสินค้าในประเทศสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ช่วยหนุนงบการเงินให้ดูดี"
“อนนต์” ยังเปิดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ10 ปีข้างหน้า (2556-2565) ให้ฟังว่า หลักๆจะมุ่งหน้าสู่“ตลาดอาเซียน” โดยวางแผนเรื่องนี้ชัดเจนมากๆ ถือเป็นการขยายฐานการผลิต จากเดิมที่มีอยู่ในเมืองไทยเท่านั้น แถมยังเป็นการสร้างฐานการผลิตใหม่ให้กับกลุ่มปตท. เราจะเป็น Flagship (เรือธง) ด้านธุรกิจปิโตรเคมี ในวันที่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมเริ่มเหลือน้อย
โดยจะให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมากขึ้น เพราะมีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง แต่อยู่ในอัตราเท่าไรผม "จำไม่ได้” รู้เพียงว่าทุกวันนี้บริษัทยังมีสัดส่วนการขายเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษน้อยมากราวๆ 12% เท่านั้น ที่เหลือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)
"ภายในปี 2556 ปักธงว่า รายได้ในส่วนนี้จะต้องขึ้นมายืนระดับ 15-20% ถามว่าอนาคตมีโอกาสแตะ 50% หรือไม่ ประเด็นนี้ “ไม่แน่ใจ” ขึ้นอยู่กับราคาผลิตภัณฑ์"
หากบริษัทเดินได้ตามแผนงานที่กำลังจะเล่าให้ฟัง อนนต์ระบุว่า เขามั่นใจ 10 ปีข้างหน้า PTTGC จะมี “รายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว” เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีรายได้ 562,811 ล้านบาท แน่นอน และทุกคนอาจเห็น PTTGC ขึ้นแท่น “ผู้นำปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชีย” เรียกว่า ติดกลุ่ม Top quartile หรือองค์กรที่ให้ผลตอบแทนการดำเนินงานอยู่ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเซีย
ตอนนี้ “จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น” น่าจะใหญ่ที่สุด เรียกว่าติด 5 อันดับแรกของภูมิภาค ซึ่งยังไม่มี "ไทยแลนด์"
พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า “กลุ่มเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ” จะส่งเสริมเงินในกระเป๋าเพียงธุรกิจดียว อนนต์เล่าว่า ยังมีอีก 8 กลุ่มธุรกิจช่วยสนับสนุน ไล่มาตั้งแต่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและสาธารณูปการ กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ กลุ่มผลิตภัณพ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มธุรกิจเคมีภัณพ์ชนิดพิเศษ และธุรกิจการให้บริการ
เขายังอธิบายกลยุทธ์ธุรกิจฉบับย่อให้ฟังว่า ในช่วง 5 ปีแรก (2556-2560) จะเริ่มต้นด้วยการเข้าไป “สร้างฐาน” ในต่างประเทศ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมกันทำโครงการต่างๆ ถือเป็นขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ และเปิดตลาดใหม่ๆ ถามว่าเล็งจะไปลงทุนประเทศไหนต่อ “ขอเก็บไว้เป็นความลับก่อน”
แต่ที่ผ่านมาได่เข้าไปจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในหลายๆประเทศ และมีแผนจะรุกคืบอย่างต่อเนื่อง เช่น เพิ่งร่วมมือทำโครงการงปิโตรเคมิคอลคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย หลังเข้าไปทำงาน จะวางฐานธุรกิจใหม่ทั้งหมด เพราะแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียค่อนข้างสูง
ประเทศมาเลเซีย PTTGC ก็กำลังหารือกับ “ปิโตรนาส” เพื่อสร้างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ใหม่ ถือเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงชนิดใหม่ โดยเฉพาะ HVA (High Value Added Products) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์
เมืองจีนเราก็เข้าไปเหมือนกัน โดยอยู่ระหว่างหารือกับ "ชิโนเคม" บริษัทผู้ค้าสารเคมีรายใหญ่ของจีน ถือเป็นการเปิดตลาดและมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในระยะยาวมีแผนจะลงทุนสร้างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์แห่งใหม่ในเมืองจีน แต่ระหว่างนี้เป็นการจับมือกันในการทำตลาดและพัฒนาการให้บริการกับทางลูกค้าไปก่อน ตลาดจีนแม้จะใหญ่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดปราบเซียน “รายไหนรายนั้นไปแบบไม่ดูตาม้าตาเรือมีสิทธิ์จอดได้เหมือนกัน” ฉะนั้นต้องรอบคอบมากๆ
ไกลออกไปในแถบยุโรป ที่เมืองน้ำหอม ประเทศฝรั่งเศส PTTGC ก็เข้าไปซื้อหุ้นใน VENCOREX Holding เป้าหมายเพื่อขยายการลงทุนธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และไบโอพลาสติก เทคโนโลยีนี้สามารถเชื่อมต่อได้กับ "สายโพลียูริเทน” เรียกว่าเป็นการมุ่งหน้าหานวัตกรรม
5 ปีข้างหน้าคงยังไม่เห็นรายได้จากกลุ่มเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษเป็น “กอบเป็นกำ” เพราะต้องใช้เวลาวางรากฐาน กว่าจะเสร็จสมบูรณ์คงเห็นผลชัดๆในอีก 5 ปีหลัง สอดคล้องกับรายได้ที่เราต้องการให้เติบโต 2 เท่า
เรียกว่า 5 ปีแรก "วางฐาน" 5 ปีหลัง "เก็บเกี่ยว"
ปิดท้ายด้วยคำถามถึงการ“เดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องไม่กลัวสะดุดบ้างหรือ ?” “อนนต์” ตอบด้วยท่าทีเรียบเฉย..
"หากพูดเรื่องการบริหารความเสี่ยงในกลุ่มปตท.เรื่องค่าเงินบาทก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของเรา แต่ไม่น่าห่วงมากเท่าไหร่ เพราะรายได้และรายจ่ายอิงสกุลดอลลาร์ หนี้เราก็กู้เป็นดอลลาร์ ส่วนใหญ่กู้มาตอนบาทอ่อน"
เขายังยอมรับว่า ขณะนี้ PTTGC รวมถึงบริษัทอื่นในกลุ่มปตท.กำลังศึกษาความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) โดยเฉพาะเรื่องการจัดพอร์ตธุรกิจระยะยาวว่าควรจะจัดพอร์ตธุรกิจอย่างไร เนื่องจากธุรกิจพลังงานค่อนข้างมีความหวือหวาในเรื่องของวัตถุดิบ "
เราไม่อยากยึดติดอยู่กับ Commodity" !! เขาย้ำ
ที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาค้นพบ “ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน” (Shale Gas) เป็นจำนวนมาก หากเขาสามารถผลิตขึ้นมาได้ในปริมาณที่สูงมากๆ และสร้างโรงงานผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น จะทำให้ซัพพลายจากอเมริกาเข้ามามากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจปิโตรเคมีทั่วโลก
ถึงเวลานั้นการแข่งขันจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร เรื่องนี้เราไม่ได้นิ่งเฉยกำลังศึกษา
35 ปี บนถนนสายพลังงาน
ที่ผ่านมา “อนนต์ สิริแสงทักษิณ” มักเป็นผู้บริหารคนแรกๆที่ครอบครัวปตท.มอบหมายให้ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ในบริษัทใหม่ๆที่เกิดขึ้น คงเป็นเพราะเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องการวางระบบโครงสร้างการบริหาร แม้กระทั่งการบุกเบิก “โครงการใหม่ๆ” กลุ่มปตท.ก็มักจะเรียกใช้บริการเขาเป็นประจำ
“ผู้บริหารวัย 60 ปี” เล่าเส้นทางชีวิตให้ฟังว่า.. เรียนจบคณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยก่อนไม่ค่อยมีใครอยากเรียนคณะนี้เท่าไร "ผมเองยังเคยแอบนึกในใจ เรียนคณะนี้แล้วจะไปทำงานอะไร" สมัยก่อนเมืองไทยยังไม่มีโครงการสำรวจอะไรมากมายเต็มที่ก็สำรวจพวกแร่ ดีบุก และฟลูโอไรด์เท่านั้น เพิ่งจะมามีสัมปทานในอ่าวไทยในช่วงที่ผมเรียนจบปริญญาตรีแล้ว
หลังเรียนจบ ก็เข้ามารับราชการที่ “กองเชื้อเพลิง” ทำได้ 2 ปี ก็ย้ายไปเป็นเจ้าหน้าที่สำรวจหินน้ำมันที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำไม่นานก็ถูกโยกมาดูงานสำรวจในอ่าวไทย
"ผมทำงานอยู่ในในเรือขุดเจาะได้สัก 2 ปี ก็มาอยู่องค์การก๊าซธรรมชาติ เขาตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา หลังขุดพบก๊าซธรรมชาติ และมีแผนจะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ เรียกว่าเป็นรุ่นแรกๆที่เข้ามาทำงานก็ว่าได้ ตอนนั้นน่าจะปี 2519-2520"
จากนั้นปี 2521 เมื่อ “องค์การก๊าซธรรมชาติ” กับ “องค์การน้ำมันเชื้อเพลิง ควบรวมกิจการกันเป็น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) "ยุคแรกผมทำหน้าดูแลโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากนั้นก็มาอยู่ในหน่วยงานของ ปตท.จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่หน่วยงานก๊าซธรรมชาติ ต่อมาเรียกว่าเป็นธุรกิจก๊าซ ทำอยู่ 8 ปี เรียกว่าทำงานหลากหลายหน้าที่มากๆ ทั้งดูแลระบบท่อส่งก๊าซ การตลาดก๊าซ เจรจาซื้อก๊าซจากทางพม่าก็ทำนะ"
ไม่นานก็ได้เข้ามาวางยุทธศาสตร์ของปตท. ทำงานได้ 5 ปีกว่าๆ ก็มีโอกาสเดินสายโรดโชว์เป็นครั้งแรกกับทางทีมงาน ตอนนั้นปตท.กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “รองกรรมผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาองค์กร” คือ งานสุดท้ายในปตท. "ผมทำมาตั้งแต่ปี 2545-2551" จากนั้นก็ย้ายมาทำงานในปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เกือบ 5 ปี ก่อนจะมาจบลงที่ PTTGC การโยกย้ายไปทำในหลายๆบริษัท ถือเป็นนโยบายปกติของครอบครัวปตท.
ถามว่าได้อะไรจากการนั่งทำงานหลายๆแห่ง? เขาบอกว่า ถ้ามองในเชิงบริหารก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะจากประสบการณ์ผมคลุกคลีกับการวางแผนธุรกิจมานาน ถือว่าคุ้นเคยระดับหนึ่ง แต่เขามองว่า นี่คือ “โอกาสเรียนรู้” และเป็นงานที่ท้าทายมาก ทุกครั้งที่ได้ทำงานใหม่ๆจะรู้สึกตื่นเต้น มันคืออีกมิติหนึ่งของชีวิตการทำงาน "บังเอิญผมชอบเรื่องการค้าขายอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกว่ามันตรงกับสิ่งที่เราอยากทำ"
“ผู้บริหารวัยเกษียณ” ทิ้งท้ายว่า ตลอด 35 ปี ของการทำงานในปตท.ได้เห็นพัฒนาการทุกอย่าง ทำตั้งแต่ประเทศยังไม่มีก๊าซธรรมชาติจนวันนี้ทุกอย่างเบ่งบาน ชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ถือเป็นการเรียนรู้ การได้ทำงานในปตท. "ถือเป็นโชคดี ของผม" ชีวิตหลังเกษียณคงไปทำอะไรที่อยากทำ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ
ตอนนี้ยังไม่มีใครมาทาบทามผมไปทำงานอย่างอื่น.