หมูที่บินได้ สูตรเด็ด TMC

หมูที่บินได้ สูตรเด็ด TMC

ความสำเร็จของการก้าวเป็นบริษัทมหาชน จากการสื่อสารให้พนักงานรับรู้ถึง เป้าหมายร่วม และผลตอบแทนร่วม

ขึ้นชื่อเป็นบริษัทมหาชน มีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ถึงอย่างไรก็ตาม TMC ในวันนี้ก็ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นธุรกิจ "กงสี"


ไม่เพียงแค่สายตาของคนภายนอกเท่านั้น กระทั่ง "สุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม (TMC) ก็ยอมรับว่าเป็นความจริง


กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ฉันใดฉันนั้น การจะทำให้ธุรกิจครอบครัวหันมาสวมสูทผูกไทด์ก้าวเป็นบริษัทมหาชนแบบเต็มตัวได้ย่อมต้องใช้เวลา


ในทางกลับกัน การแข่งขันของโลกธุรกิจปัจจุบัน หากใครช้าก็อาจจะกลายเป็นผู้แพ้ได้เช่นเดียวกัน


หากจะขับเคลื่อนให้ TMC เดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างสวยงามและมั่นคง จำเป็นต้องปรับหลักคิดใหม่


สุรเชษฐ์ บอกว่าเมื่อก่อน ผู้บริหาร TMC ซึ่งหมายถึงคุณพ่อ ตัวเขา และน้องๆ ไม่เคยคิดวางแผนหรือคาดการณ์ไปในระยะไกล สิ่งที่ทำก็คือ คิดเพียงเรื่องเฉพาะหน้า


ระบบบริหารการผลิตธุรกิจจึงไร้ซึ่งประสิทธิภาพยากต่อการควบคุม มีแต่ค่าใช้จ่าย และเต็มไปด้วย waste ซึ่งหมายถึง ของเสีย การเสียเวลา เปลืองเปล่า ไร้ประโยชน์


ประการสำคัญทื่สุดก็คือ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งมีอยู่จำนวนมากได้ สาเหตุเพราะ TMC มีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ (บริษัทเน้นตลาดภายในประเทศซึ่งมีการเติบโตสูง เนื่องจากประเทศไทยเป็นฮับของการผลิตรถยนต์)


แน่นอนว่าโอกาสในตลาดนั้นมีอยู่มากมาย แต่หากยังคิดเดินในจังหวะเดิมๆ การเอื้อมคว้าโอกาสก็อาจหมดหวัง


TMC จึงวางแผนระยะยาว (5 ปี) โดยมีเป้าหมายหลักก็คือขยายกำลังการผลิต (เพิ่ม 60 เปอร์เซ็นต์จากเดิม) เพื่อรักษาการเป็นผู้นำในตลาดผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรระบบไฮดรอลิค สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งเครนระบบไฮดรอลิคและเครื่องทุ่นแรงระบบไฮดรอลิคเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไป


และฝันคงไม่อาจเป็นจริงได้หากขาดปัจจัยสำคัญ นั่นคือเงินทุน จึงเป็นที่มาของการนำTMC จดทะเบียนเข้า "ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ"


"ในอีก 5 ปีข้างหน้า TMC จะเป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตเพียงแห่งเดียวที่เรากำลังจะสร้างในพื้นที่ 58 ไร่ในอำเภอบ้านบึง ชลบุรี โดยยุบรวมสองโรงงานเดิมที่มีอยู่ไปรวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด"


เมื่อถึงวันนั้น สุรเชษฐ์ บอกว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อ TMC อย่างมหาศาล


"ระบบบริหารการผลิตจะมีประสิทธิภาพ คือจะสามารถเพิ่มผลผลิตทื่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องขนส่ง เคลื่อนย้ายจากโรงงานหนึ่งไปอีกโรงงานหนึ่ง และถ้าเราจัดระบบดีๆ อาจช่วยลดจำนวนคนทำงาน และ สามารถดึงคนในหน้าที่ซ้ำกันไปช่วยดูงานด้านอื่นๆ ได้"


อย่างไรก็ดี สุรเชษฐ์ บอกว่า ในการนำบริษัทTMC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย


เรื่องของโอกาสนั้นนอกจากสามารถระดมทุนได้มากกว่า 300 ล้านบาท เพื่อนำมาขยายกำลังการผลิตแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบการบริหารจัดการของบริษัทที่ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจครอบครัวพัฒนาสู่ขั้นของความเป็นมืออาชีพ


"การจะเป็นบริษัทมหาชนได้ หลักเกณฑ์ หลักการ ระบบงานต่างๆ จะต้องมีความชัดเจน ต้องมีการรวบรวมข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงาน ในการทำธุรกิจนั้นยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยทำให้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะเราจะเห็นว่าตรงไหนของธุรกิจที่มีปัญหา ต้องเข้าไปแก้ไขและปรับปรุง"


ขณะที่ความท้าทายนั้นก็ค่อนข้างจะหนักหนา เพราะการเป็นบริษัทมหาชนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำงานของพนักงาน


เป็นที่รู้กันดีว่าไม่มีมนุษย์คนไหนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง


สุรเชษฐ์ บอกว่าต้องอาศัยการสื่อสาร เพื่อให้ทุกคนในบริษัทมองเห็นเป้าหมายของการก้าวเป็นบริษัทมหาชนร่วมกัน


"หากพนักงานไม่เข้าใจในเรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบงาน ขั้นตอนในการทำงานเพื่อให้เข้าเกณฑ์การเป็นบริษัทมหาชน และคิดแต่ว่า ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ เขาก็จะต่อต้าน เราต้องอธิบายเพื่อให้พวกเขามาช่วยกัน และหากทำได้เราก็มีหุ้นตอบแทนให้พวกเขา"


เป้าหมายร่วม และผลตอบแทนร่วม คือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ


สุรเชษฐ์ ยอมรับว่า ในความเป็นจริง คนถือว่ามีความสำคัญมากถึงมากที่สุด เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจจะไปต่อได้หรือไม่


โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเก่งและดี ซึ่งที่ TMC มุ่งเน้นที่จะปั้นคนขึ้นมาเอง เพราะมีความเชื่อที่ว่า ถ้าหากคนมีความตั้งใจจริง แม้ว่าจะไม่เคยทำงานนั้นมาก่อน แต่ที่สุดเขาก็จะทำเป็น และเก่งได้อย่างแน่นอน


"แม้เขาเป็นหมู เขาก็จะบินได้" เป็นคำคมที่ชวนอมยิ้ม


สุดท้ายกับคำถามที่ค้างคาใจ และถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจครอบครัวก็คือ "ความขัดแย้ง" ระหว่างรุ่นพ่อกับรุ่นลูก "ตระกูลกมลมงคลสุข" เจอปัญหาเดียวกันนี้หรือไม่และแก้ไขอย่างไร


เนื่องจาก TMC ที่เติบใหญ่ในวันนี้ กำลังเดินสู่ยุคทายาทรุ่นที่สอง ขณะที่คุณพ่อซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็ยังไม่ได้วางมือจากการทำงาน


คำตอบของ สุรเชษฐ์ ก็คือ ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติ ทางออกที่ดีก็คือ ควรทำงานคนละหน้าที่ และพยายามยุ่งเกี่ยวกันให้น้อยที่สุด


คุณพ่อของเขานั้นเก่งในทางช่างก็ให้ดูแลเรื่องงานด้านช่าง ส่วนเขาแม้จะจบวิศวกรรมอุตสาหการมาก็ตามที แต่ก็เลือกทำหน้าที่ดูแลการเงิน ซึ่งเป็นงานที่คุณพ่อไม่ค่อยถนัด


ซึ่งที่สุดแล้วถือว่าเป็นความกลมกล่อมและลงตัว ระหว่างประสบการณ์กับความรู้ ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งสุรเชษฐ์เชื่อว่าจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจก้าวต่อได้อย่างมั่นคง