SE พันธุ์แกร่ง..ที่โรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคม
ทำธุรกิจให้รอดว่ายากแล้ว ทำกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise:SE)ให้สำเร็จยากยิ่งกว่า นี่คือภารกิจสุดท้าทายของโรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคม
การประกาศปิดตัวลงของ BE MAGAZINE นิตยสารที่สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม นับเป็นข่าวร้ายรับปีงูเล็กของแวดวงกิจการเพื่อสังคม
นิตยสารสายพันธุ์ใหม่ ที่ก่อตั้งโดยเด็กหนุ่มวัย 23 ปี “ต้น-อารันดร์ อาชาพิลาส” ผู้กล้าฉีกกรอบมาสร้างโมเดลใหม่ ที่ธุรกิจได้ สังคมได้ และหวังจะให้ประสบความสำเร็จเหมือนนิตยสาร “The Big Issue” ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของเขา
แม้ธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แต่พวกเขาก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาความยั่งยืนให้ธุรกิจ
กระทั่งหอบแผนธุรกิจไปวัดภูมิในรายการ “SME ตีแตก” ก็เคยทำมาแล้ว แม้ผลที่ได้จากกรรมการคือ “ตีไม่แตก” แต่สำหรับแวดวงกิจการเพื่อสังคม ต่างก็ยกให้ BE MAGAZINE เป็นต้นแบบ SE ที่มีอนาคต
ทว่า วันหนึ่งพวกเขาก็ต้องปิดตัวลง ด้วยเหตุผลไม่ต่างจากทุกธุรกิจ คือ "ขาดทุน" และมีปัญหาเรื่องคน มาบวกกับการที่ผู้คนในสังคมไทย ยังรู้จักและเข้าใจกับกิจการเพื่อสังคมอยู่น้อยนิด ลมหนุนใต้ปีกเลยอ่อนแรง..สุดท้ายก็บินต่อไม่ได้
แล้วอะไรกันแน่ที่จะเป็น "ทางรอด" ของผู้ประกอบการสังคม เพื่อไม่ต้องเจอชะตากรรมซ้ำรอย BE MAGAZINE
“ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกเราว่า SE ไม่ได้เริ่มจากจะทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอด แต่ต้องเริ่มจากประเด็นทางสังคม จึงต้องเข้าใจปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญจะคิดแบบ“โรแมนติก”ไม่ได้ แต่ต้องทำกิจการให้อยู่ได้และยั่งยืนด้วย โดยต้องมี Business Model ที่ดี
“SE คิดแค่อยู่รอดไม่ยาก แต่การคิดแก้ปัญหาสังคม เป็นความท้าทายมาก ที่สำคัญเข้าใจปัญหาสังคมไม่พอต้องเข้าใจธุรกิจด้วย” เขาบอกงานหินที่เหล่า SE ต้องเผชิญอยู่ทุกวี่วัน
ที่มาของความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการพัฒนาต้นแบบสถาบันการศึกษาด้านนวัตกรรมทางสังคมและกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกของเอเชีย กับการจัดตั้ง “โรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคม” (School for Social Entrepreneur : SSE) ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
“ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุณยะลีพรรณ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว.) บอกความน่าสนใจของหลักสูตรที่จะเกิดขึ้นในห้องเรียนผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งจะฉีกกรอบการเรียนรู้แบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง หลังไปศึกษาโมเดล ทั้งในประเทศอังกฤษ และบังกลาเทศ ซึ่งโดดเด่นมากในการพัฒนากิจการเพื่อสังคม
“ทำไมสถาบันแต่ละแห่ง สอนคนไปทำงานเป็นลูกจ้างได้ แต่พอทำกิจการตัวเองแล้วไม่ค่อยรอด”
อธิการบดี มศว. เปิดบทสนทนา กับปัญหาในการเรียนรูปแบบเดิมๆ ที่เขาเรียกว่า การสอนในแนวดิ่ง (Vertical Learning) นั่นคือ นำใครสักคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอน แล้วผู้เรียนก็มีหน้าที่แค่นั่งฟัง จึงไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองทำ หรือแม้แต่แก้ปัญหาที่ตัวเองมี ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจึงน้อยนิด ทว่าที่โรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคม เลือกทางสายต่าง คือเน้นเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันเองในแนวระนาบ (Horizontal Learning) โดยสร้างบรรยากาศและสถานที่ แล้วให้ SE ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นับเป็นการเรียนบนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ขนานแท้
ขณะที่เวลาเรียนก็ไม่เปิดสอนทุกวัน เพียงอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้ทุกคนมีเวลาอีก 6 วันไปบริหารกิจการของตนเอง
“เราไม่จัดตารางสอน แต่มีอาจารย์ ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รอให้คำปรึกษาอยู่ เขาไปไม่รอดในเรื่องไหน เราก็มีคนที่เก่งในเรื่องนั้นมาสอนให้ เรียกว่าสอนเฉพาะที่เขากลุ้มเท่านั้น เรื่องที่ไม่กลุ้ม เราไม่สอน”
ความกลัดกลุ้มของ SE มีมาจากสารพัดโจทย์ อย่างการตลาด การขาย การเงิน บัญชี การบริหารคน แบบธุรกิจ หรือแม้แต่มิติด้านสังคม ก็พร้อมดาหน้ามาให้กลุ้ม โดยห้องเรียนแห่งนี้ จะทำให้พวกเขาค้นพบทางออกของปัญหาเหล่านั้น
โรงเรียนของ SE ไม่ต้องดูเกรด ดูวุฒิการศึกษา จะเพศไหน วัยใด ขอเพียงหอบหิ้วเอาความฝัน แรงบันดาลใจ และความตั้งมั่นเต็มกำลัง ก็สามารถเติมความรู้และค้นพบทางรุ่งได้ โดยเปิดรับทั้ง SE ที่เพิ่งเริ่มต้นกิจการ หรือแม้แต่คนที่มีแค่ความคิด แต่ยังไม่มีกิจการใดก็สามารถเข้ามาเรียนได้
ทว่า ไม่ได้สอนกันฟรีๆ แต่คิดค่าเรียนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
“ที่อังกฤษ หญิงผิวดำคนหนึ่ง มาจากครอบครัวยากจน เธอร่วมกับเพื่อนๆ ไปสอนคนยากจนในหมู่บ้าน เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น แต่ยังต้องทำงานเป็นหลัก จึงมีเวลาสอนแค่วันหยุด ทำให้ช่วยคนจนได้ไม่มากนัก ที่ SSE สอนให้เธอทำเป็นอาชีพ ซึ่งถ้าระบบเดิม ก็คงบอกแค่ว่าให้ตั้งโรงเรียน แล้วเปิดสอนสิ ซึ่งนั่นต้องลงทุนสูง แต่ที่นี่ กลับบอกว่า ให้ทำแบบเดิมนั่นแหล่ะ แต่เพิ่มจำนวนขึ้น คือชวนเพื่อนๆ มาสอนให้เยอะขึ้น แล้วเก็บค่าสมาชิกผู้เรียนในราคาถูก ซึ่งทำมา 2-3 ปี วันนี้มีเพื่อนนักศึกษาเป็นเครือข่ายนับ 500 คน และติวเด็กยากจนไปได้นับ 800 คน มีเงินหมุนเวียนหลายแสนปอนด์”
เขายกตัวอย่างหนึ่งในความสำเร็จจากโรงเรียน SSE ที่กำลังผลิดอกออกผลอย่างงดงาม ทั้ง ธุรกิจ และสังคม
สำหรับโรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคมในไทย ตั้งขึ้นที่ มศว.ประสานมิตร ไม่เพียงเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ของ SE มือใหม่เท่านั้น แต่ที่นี่ยังจะเป็น HUB (ศูนย์รวม) ให้กับเหล่าผู้ประกอบการ SE ได้เข้ามาพบปะ พูดคุย เติมเต็มความรู้ ในการทำกิจการเพื่อสังคม โดยจะสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวย มีโต๊ะพูดคุย มีห้องสมุด ให้พร้อมใช้
“ที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ไม่ได้ให้ปริญญา แต่รับรองว่าเราจะสอนอย่างเต็มที่ และทุกคนจะมีเปอร์เซ็นต์สูงมากในการจะประสบความสำเร็จเป็น SE ที่ดี”
ผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคมยืนยันกับเรา พร้อมกับเป้าหมายที่จะทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งกิจการเพื่อสังคมที่อยู่รอดและยั่งยืน เพื่อผลิตเหล่า SE ที่แข็งแกร่ง ให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
ยังมีกรณีศึกษามากมาย จาก SE ที่ประสบความสำเร็จในประเทศอังกฤษ ที่ใช้เวลาเพียง 10 ปี มี SE อยู่กว่า 68,000 กิจการ หัวใจสำคัญ ที่อธิการบดีมศว. สรุปไว้คือ เป็น SE มีรายรับเกินกว่า 50% ต้องหาเอง ไม่ใช่มาจากการรับบริจาค และต้องนำกำไรกว่าครึ่งไปทำเพื่อสังคม ที่สำคัญ ต้องทำกิจการเหมือนคนอื่น ไม่มีแต้มต่อที่เหนือกว่า อย่าอ้างว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแล้วจะได้เปรียบธุรกิจอื่น เช่นเดียวกับลูกค้า ต้องให้มาซื้อสินค้าหรือบริการ ด้วยความพอใจไม่ใช่แค่เพราะ“สงสาร”
“นิตยสาร The Big Issue ที่อังกฤษ เขาตีพิมพ์แล้วให้คนจรจัดขายตามสี่แยก ตอนผมไปเจอคนขายบอกว่า คุณอย่าซื้อเพราะสงสาร แต่ให้ซื้อเพราะเล่มนี้ อ่านสนุก เนื้อหาดี ถ้าเปิดดูแล้วไม่ดี อย่าซื้อได้ไหม เพราะถ้าซื้อก็เท่ากับทำร้ายเขา ถ้าครั้งหน้าผมไม่ซื้อ เขาก็ตาย แต่เขาต้องการรู้ว่าคนที่อ่าน Big Issue จริงๆ มีกี่คน ถ้าเกิดมีน้อย เขาก็ต้องไปพัฒนาให้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ทำให้วันนี้ Big Issue ได้ช่วยเหลือคนเร่ร่อนหลายพันคน และมียอดพิมพ์นับแสนฉบับ อย่างนี้ เขาถึงอยู่รอด”
ยังมีความท้าทายมากมายสำหรับการปลุกปั้น SE ในประเทศไทย รวมถึงการกระตุ้นความรู้ความเข้าใจของคนไทยให้รู้จักกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น
แต่ถ้าลองได้เริ่มต้น แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ ก็คงไม่ห่างสายตา SE ไทยอีกต่อไป