MALEE ส่งไม้ต่อ"รุ่งฉัตร บุญรัตน์"ขอ 5 ปี รายได้"หมื่นล้าน"

MALEE ส่งไม้ต่อ"รุ่งฉัตร บุญรัตน์"ขอ 5 ปี รายได้"หมื่นล้าน"

“อายุ-ประสบการณ์”ไม่ใช่ตัวการันตีความสามารถ เมื่อ“รุ่งฉัตร บุญรัตน์” “เจน2”ของ“มาลีสามพราน”กล้าตั้งโจทย์กดดันตัวเอง 3-5 ปี หมื่นล้านบาท!

อายุ 28 ปี ทำงานได้เพียง 2 ปี!!

แต่ “แจง-รุ่งฉัตร บุญรัตน์” กรรมการและรองประธานฝ่ายขายและการตลาด “มาลีสามพราน” (MALEE) ทายาทคนสุดท้อง จากจำนวนพี่น้อง 3 คน ของ “ฉัตรชัย บุญรัตน์” และ “จินตนา บุญรัตน์” (นามสกุลเดิม จิราธิวัฒน์) เจ้าของน้ำผลไม้ MALEE ช่างอาจหาญ กล้าตั้ง “โจทย์โหด” “รายได้หมื่นล้าน” ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า (2556-2560)

“ตระกูลบุญรัตน์” ตัดสินใจนั่งสั่งการณ์ธุรกิจน้ำผลไม้ตรา MALEE แต่เพียงผู้เดียว หลังมือปืนรับจ้างบริหารทำพิษบริหารธุรกิจจน “ขาดทุน” ติดต่อกันหลายปี ชี้นิ้วสั่งงานไม่นานบริษัทก็สามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงกลางปี 2554 และกลับมามี “กำไรสุทธิ” อีกครั้งในปี 2554 จำนวน 227 ล้านบาท ก่อนจะขยับเป็น 645 ล้านบาท ในปี 2555

ปัจจุบัน “มาลีสามพราน” ถือหุ้นใหญ่โดย “เอบิโก้ โฮลดิ้ง” 25.49% ซึ่ง “ฉัตรชัย บุญรัตน์” ถือหุ้นใน “เอบิโก้ โฮลดิ้ง” ร่วมกับ “วันชัย จิราธิวัฒน์” อดีตประธานกรรมการบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล บิดาของ “จินตนา บุญรัตน์” หุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 18.55% ของ “มาลีสามพราน” คือ “ฟ้า-กมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ” ลูกสาวคนกลางของ “ฉัตรชัย” ที่ได้แต่งงานกับ “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ทายาทของ “ดร.พัฒนา-ดร.สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานบริหาร “ไทยซัมมิทกรุ๊ป”

โครงสร้างธุรกิจที่มั่นคง แถมมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่สูงถึง 50% อัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROA) ที่ 23% และอัตราเงินปันผลเฉลี่ย 4.88% (ตัวเลข ณ วันที่ 13 ส.ค. 2556) ส่งผลให้น้ำผลไม้ตรา MALEE ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 200 สุดยอดบริษัทขนาดกลางและเล็กในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จาก “นิตยสาร FORBES
แม้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทจะมี “กำไรสุทธิ” ลดลงเหลือ 174.83 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 293.85 ล้านบาท หลังบริษัทรับงานรับจ้างผลิตในปริมาณสูงมากเป็นกรณีพิเศษ เพราะเกิดเหตุน้ำท่วม ใหญ่ ส่งผลให้ ยอดขายในประเทศ ในส่วนของธุรกิจรับจ้างผลิตลดลง

“เจเนอเรชั่น 2” ของ “มาลีสามพราน” ย้อนวันวานให้ “กรุงเทพธุกิจ Biz Week” ฟังว่า เรียนจบประถมศึกษาปีที่ 6 ปุ๊บ เดินไปบอกพ่อกับแม่ว่า อยากไปเรียนต่อประเทศสหรัฐอเมริกาตามพี่ชาย “แชมป์-ชัยฉัตร บุญรัตน์” และพี่สาว “ฟ้า-กมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ” ตอนนั้นอายุแค่ 11 ปีเอง แม้จะอายุน้อย แต่ท่านตามใจปล่อยให้เราได้ทำตามใจตัวเอง

หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโบดอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจกลับเมืองไทย ทั้งๆที่ใจยังคิดหนักว่า จะกลับมาทำงานอะไรดีๆ ระหว่างบริษัท “มาลีสามพราน” ซึ่งเป็นธุรกิจฝั่งคุณพ่อ และบริษัทยักษ์ใหญ่ “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) ธุรกิจฟากครอบครัวคุณแม่ สุดท้ายเราเลือกบริหารงานในธุรกิจที่พ่อสร้างมากับมือ ตอนนี้ทำงานมาได้ 2 ปีละ

“เกิดมาโชคดีมีธุรกิจให้เลือก 2 ฝั่ง เรียกว่า มีออฟชั่นให้เลือกหลากหลาย แต่บางครั้งก็รู้สึกโชคร้ายที่ไม่รู้ว่าควรเลือกฝั่งไหนดี”

ก่อนตัดสินใจทำงานใน “มาลีสามพราน” มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้งานใน “เซ็นทรัลพัฒนา” 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่า ชอบธุรกิจลักษณะไหนกันแน่ ช่วงนั้นเข้าไปทำงานด้านการตลาดควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ (MBA) ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตอนโน้นคุณพ่อให้รับผิดชอบหน้าที่ Head of Branded Business Unit งานหลักๆ คือ ดูแลด้านการตลาด และเรื่องส่งออกในและต่างประเทศ ทำงานแรกๆ มีคนพูดว่า “หน้าที่นี้จะเหมาะกับเด็กอย่างเรารึเปล่า” เพราะธุรกิจของพ่อพึ่งเข้าสู่หมวด “เทิร์นอะราวด์” หลายคนกลัวว่า หากให้เราทำคนเดียวธุรกิจอาจกลับไป “ขาดทุน” อีก ออกแนวไม่เชื่อใจ แต่เรากลับมองว่า นี่คือเรื่อง “ท้าทาย”

เราจงเร่งฝีเท้าพัฒนาตัวเอง “ต้องทำได้” นางบอกตัวเอง

“ที่ผ่านมาพ่อไม่เคยบังคับ ท่านมักพูดเสมอว่า ยังไงพ่อก็รักลูกมากกว่ารักธุรกิจ ฉะนั้นขอให้ลูกทำในสิ่งที่รักและชอบ หากวันหนึ่งลูกไม่อยากสานต่อธุรกิจ พ่อพร้อมจะจ้างมืออาชีพมาบริหาร แต่เมื่อวันนี้ลูกเลือกแล้วพ่อจะคอยให้คำปรึกษา หากมีปัญหาเดินเข้ามาพ่อได้ตลอดเวลา”

ถามว่า พ่อตั้ง “โจทย์”การทำงานอะไรบ้าง? ลูกสาวคนเก่ง บอกว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ “รายได้-กำไร” ขยายตัว และสร้างแบรนด์ “MALEE” ให้ติดตลาด (หัวเราะ) หินมั้ยละโจทย์ของพ่อ

หากถามถึงเป้าหมายของตัวเอง ครั้งหนึ่งเคยบอกท่านว่า ภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะพิชิตรายได้ “หมื่นล้านบาท” ให้ได้ สงสัยต้องไปไหว้สิ่งศักดิ์ขอให้ช่วยอีกแรง เธอพูดติดตลอด สิ้นปี 2555 เรามีรายได้ 6,285 ล้านบาท กำไรสุทธิ 645.90 ล้านบาท ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีรายได้แล้ว 2,859 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 174.83 ล้านบาท

ณเวลานี้ เราต้องสร้างรากฐานบริษัทให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงาน ระบบการทำงาน และแบรนด์ของสินค้า หากทุกอย่างมั่นคง รายได้เติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ไม่ใช่เรื่องยากจริงๆ

เมื่อก่อน “มาลีสามพราน” มีขนาดเล็ก ไม่นานแล้วขยับสู่ไซด์กลาง อนาคตเราจะมูฟไปยืนอยู่ในไซด์ใหญ่ เคลื่อนตัวรอบนี้ถือเป็น “จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่” ของบริษัท เราจะนำอดีตมาเป็นครู เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจต่อไป
เป้าหมายของเรา คือ “กำไรสุทธิ” ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อไม่ให้บริษัทกลับไปมีผลขาดทุนอีก ยุคหนึ่งเราเคยใช้เงิน “ฟุมเฟือย” เพื่อทำมาร์เก็ตติ้ง ผลที่ได้คือ แบรนด์ติดตลาด แต่ฐานะการเงินดัน “ติดลบ” วันนี้เราพยายามทำทั้งสองส่วนให้เท่าๆกัน ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์สุงสุด บอกตรงไม่อยากกลับไปยืนที่เดิมอีกแล้ว

เธอ บอกว่า แม้แบรนด์ MALEE จะแข็งแรงระดับหนึ่ง แต่เราจะทิ้งเรื่องนี้ไม่ได้ บริษัทยังคงมุ่งหน้าสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการกินน้ำ ผลไม้ต้องนึกถึงแบรนด์ MALEE เป็นอันดับแรก

วันนี้การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เรารุกคืบมากแบบนี้ เบอร์ 1 ของน้ำผลไม้งต้องลุก ขึ้นมาทำอะไรบ้าง ปัจจุบันแบรนด์ MALEE มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของน้ำผลไม้ 100% และยังคงเป็นผู้นำในตลาดผลไม้กระป๋อง เรียกว่า

“กอดอย่างเหนียวแน่น”

ที่ผ่านมาเรามีการปรับ “กลยุทธ์” ด้วยการหันมา “โฟกัส” ตลาดน้ำผลไม้ ภายในประเทศมากขึ้นในสัดส่วน 50:50 ถือว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจด้วย และเป็นการสร้างสมดุลระหว่างตลาดในและต่างประเทศ จากบทเรียนที่ผ่านมา บริษัททุ่มเทไปกับการทำตลาดส่งออกสัดส่วนสูงถึง 90% ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาวัตถุดิบ

เมื่อปีก่อน (2555) บริษัทได้ปรับปรุงโรงงาน อำเภอ สามพราน จังหวัด นครปฐม เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 200% หวังรองรับการเติบโตของตลาดน้ำผลไม้รวมทุก “เซ็กเมนท์” ภายในประเทศ ที่มีมูลค่า 11,400 ล้านบาท

“รุ่งฉัตร” เล่าต่อว่า อยากขยายฐานลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 20 ขึ้นไป เราจะใช้สื่อใหม่และจะลงทุนน้อยๆ เรียกว่า “ยิงตรงถึงผู้บริโภคและเห็นผลทันตา” โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ อย่าง Facebook, twitter และ instagram เป็นต้น สื่อประเภทนี้จะกระตุนการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี

ถามถึง “จุดแข็ง” “แจง” ตอบว่า 3 ปีก่อน เราไม่ได้ทำการตลาด หรือลงโฆษณาอะไรเลย แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบรนด์ MALEE แม้ชื่อจะ “เชย” แต่เป็น แบรนด์ไทยเก่าแก่ที่มี “ความอบอุ่น”

เรากำลังเตรียมแผนงาน เพื่อรองรับการเกิดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ล่าสุดได้ลงทุนในบริษัทร่วมทุน ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท ภายใต้ชื่อ “ไพร์ม อะกริโค” โดยบริษัทถือหุ้น 35% บริษัท Prime Agri Ltd. สิงคโปร์ ถือหุ้น 35% และ “กำธร อุ่นหิรัญสกุล” ถือหุ้น 30% บริษัทแห่งนี้จะมุ่งขยายการลงทุนในธุรกิจการเกษตรและอาหารทั้งในและต่างประเทศ

“ทายาทวัย 28 ปี” ปิดท้ายบทสนทนาว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ อีกพักจะเข้าไปดูตลาดในประเทศนั้นๆ ปัจจุบันบริษัทส่งออกน้ำผลไม้ ไปกว่า 20 ประเทศ

..........................

“ไม่ซื้อถ้าไม่รู้จัก” วิถีเล่นหุ้น “ทายาท” MALEE

“แจง-รุ่งฉัตร” ในฐานะนักลงทุนฝึกหัด เล่าว่า ที่ผ่านมาลงทุนในตลาดหุ้นบ้างนิดหน่อย เพราะไม่ค่อยมีเงิน (หัวเราะ) อยากเก็บเงินอีก 2-3 ปี ตอนนี้ทำได้เพียงเป็น “นักลงทุนสมัครเล่น” ปัจจุบันมีหุ้นในพอร์ตเพียง 3 ตัว
เลือกสอย “หุ้น ซีพี ออลล์” (CPALL) เป็นตัวแรก เพราะเราทำธุรกิจกับเขาด้วยการนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-Eleven) เราเห็นแนวทางการทำธุรกิจของเขาว่าเป็นอย่างไร อารมณ์เชื่อมั่นว่า ธุรกิจจะเติบโตเรื่อยๆจึงบังเกิดขึ้น

ตัวต่อไป คือ “หุ้น เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” (M) เขาเป็นลูกค้าของเรา บริษัทแห่งนี้มีรากฐานที่แข็งแรง อนาคตจะขยายตัวต่อเนื่อง ตอนหุ้น M ขายหุ้นไอพีโอแจงไม่ได้ซื้อ แต่เข้ามาช้อนในตลาดแทน สุดท้าย คือ “หุ้น เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) ไม่บอกคงรู้ว่า หุ้นตัวนี้ใกล้ตัวมากแค่ไหน ตัดสินใจช้อนโดยไม่ได้ดูอะไรเลย มองแค่พื้นฐานธุรกิจเป็นหลัก

“หุ้นตัวไหนที่ไม่รู้จะไม่เข้าไปยุ่งเลย โดยเฉพาะหุ้นวัสดุก่อสร้างและรับเหมา หุ้นเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ฉะนั้นเราจะไม่เข้าใจธรรมชาติของเขา ฉะนั้นจงเลือกลงทุนในหุ้นที่เรารู้จักและมีความรู้จริงๆ และเห็นว่าอนาคตกำลังจะเติบโต” นี่แหละ กลุยทธ์การลงทุนของผู้หญิงชื่อ “รุ่งฉัตร”