วิกฤติธุรกิจประมงใต้ ไม่มีปลาให้จับ-ขาดแรงงาน

วิกฤติธุรกิจประมงใต้ ไม่มีปลาให้จับ-ขาดแรงงาน

"ตอนนี้เรือประมงแต่ละลำเฉลี่ยขาดทุนเดือนละ 150,000-200,000 บาท/เดือน/ลำ ประมาณ5เดือนแล้ว"

ธุรกิจประมงเปรียบเหมือนเส้นเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา และสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารทะเลแปรรูป แต่เมื่อต้นเดือนมี.ค. ธุรกิจประมงจ.สงขลาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ไต้ก๋งเรือประมงจ.สงขลา พร้อมลูกเรือสังหารทหารอินโดนีเซียเสียชีวิต 2 นาย จนมีการปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย แหล่งหาปลาสำคัญของไทย

ตามด้วยสหรัฐปรับลดระดับไทยลงมาอยู่ในกลุ่ม "เทียร์3" หรือประเทศที่ล้มเหลวในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และกลุ่มธุรกิจประมง ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกระบุว่าใช้แรงงานที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์

"ตั้งแต่มีเหตุการณ์เรื่องอินโดนีเซีย เรื่องที่ว่าไต๋เกือเรือประมงสงขลา ได้สังหารทหารเรืออินโดนีเซียเสียชีวิต ทำให้เรือประมงต้องนำเรือประมงเข้าฝั่ง เนื่องจากอินโดนีเซียมีมาตรการตรวจสอบ และจับกุมเรือประมงไทย ทำให้เรือประมง 80% ต้องจอดเทียบท่า มีเพียง 20% ที่ทำประมงได้” นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา กล่าว และว่า เรือประมงที่ออกไปทำประมงไม่ได้ ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงเรือประมงที่ออกทำประมง 20% ก็ประสบปัญหาการจับปลา เนื่องจากในทะเลไม่มีปลาให้จับ

โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงาน เมื่อเร็วๆ นี้ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการเรือประมงในจ.สงขลา เพื่อแนวทางแก้ปัญหาแรงงาน ซึ่งที่ประชุมสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาแรงงานด้วยการสร้างแรงงานกลุ่มใหม่ในภาคประมงขึ้นมา โดยใช้วิธีการหาแรงงานจากต่างจังหวัด หรือผู้ที่สมัครใจทำงานเรือประมง และมีการตกลงค่าจ้างกันให้ชัดเจน เรื่องระยะเวลาที่จะออกไปทำประมงว่าใช้เวลานานกี่เดือน

สำหรับปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น เกิดจากการพัฒนาในการประกอบกิจการเรือประมงที่ใช้ระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี ที่ต้องอยู่ในเรือกลางทะเล ทำให้แรงงานไทยไม่อยากทำงานเรือประมง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ในขณะที่เรือประมงเองก็ไม่สามารถทำประมงในระยะเวลาที่สั้นได้ เพราะราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของเรือประมงค่อนข้างสูงมาก เช่น การเดินทางจากสงขลาไปอินโดนีเซีย ต้องใช้น้ำมันถึง 6,000-7,000 ลิตร/ครั้ง

ขณะเดียวกัน การประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด 300 บาท/วัน ก็มีผลให้เกิดปัญหาขาดแรงงาน เพราะเรือประมงมีค่าจ้างแบบแบ่งรายได้ หากจับปลาได้มากค่าจ้างก็จะได้มากตามไปด้วย แต่หากจับปลาได้น้อยก็จะได้ค่าจ้างลดลงไปด้วย

"การที่รัฐบาลประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทำให้เรือประมงต้องประกันค่าจ้างอยู่ที่ 9,000 บาท/เดือน ทั้งที่ผ่านมาไม่มีระบบแบบนี้ โดยแต่เดิมนั้น แรงงานจะได้รับขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาท/เดือน แต่หากจับปลาได้มากก็จะมีรายได้ 15,000-20,000 บาท/เดือนก็มี"

สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง ในวันนี้พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลยังมีสต็อกวัตถุดิบบางส่วน ทำให้ยังไม่มีปัญหา รวมถึงสินค้าที่ผลิตยังมีอยู่ในสต็อก ทำให้ยังไม่มีผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง

แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ประมาณ 6 เดือนข้างหน้า ผลกระทบต่อเนื่องจากธุรกิจประมงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ทำให้มีประกอบการเรือประมงนำเรือเข้าเทียบท่ากันเพิ่มมากขึ้น

"ตอนนี้เรือประมงแต่ละลำเฉลี่ยขาดทุนเดือนละ 150,000-200,000 บาท/เดือน/ลำ สภาพอย่างนี้เป็นมาประมาณ 5 เดือนแล้ว เขาก็แบกไม่ไหวต้องยอมถอยดีกว่า เป็นปัญหาที่หนักที่สุดในรอบหลายปี สำหรับธุรกิจเรือประมง และคาดว่าไม่เกิน 5 ปีธุรกิจประมงน่าเป็นห่วงมาก"

นายประพร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ธุรกิจประมงต้องการในขณะนี้ คือ การสนับสนุนช่วยเหลือในระดับนโยบาย คือ ให้รัฐบาลเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำจำนวนมาก เช่น อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรปลาอีกมาก แต่มักมีการจับกุมในลักษณะแบบรีดไถ แม้ผู้ประกอบการจะมีเอกสารสัมปทานถูกต้อง ก็ยังต้องจ่ายอีกราว 700,000-800,000 บาท/ลำ หากมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ฉะนั้นหากระดับนโยบายมีการเจรจา และแก้ปัญหาการรีดไถได้ ก็จะเป็นโอกาสให้กับธุรกิจประมงไทยได้อีกนาน

เรื่องที่สองคือ ปัญหาแรงงาน ที่รัฐบาลจะต้องจัดหาแรงงานจากต่างประเทศให้เข้ามาอย่างถูกต้องให้กับภาคธุรกิจเรือประมง โดยปัจจุบันเรือประมงจ.สงขลา ยังขาดแคลนแรงงานประมาณ 10,000 คน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวหนีไปอยู่โรงงาน และก่อสร้างกันเกือบหมด เพราะงานเหล่านั้น มีสภาพการทำงานที่ชัดเจน และยังมีการรับประกันค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

ส่วนปัญหาค้ามนุษย์ในธุรกิจประมงนั้น นายกสมาคมประมงจ.สงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ มีกระบวนการในการตรวจสอบ คนงานที่จะทำงานในภาคประมงจะต้องมีการแจ้งที่สมาคมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เช่น ตำรวจ ตรวจสอบประวัติ การตกลงค่าจ้าง ความสมัครใจ ก่อนที่จะมีการทำสัญญา ก่อนออกเรือ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำกันมาหลายปีแล้ว ส่วนข้อมูลที่สหรัฐอเมริกา นำไปใช้ประกอบการพิจารณาและระบุว่าในเรือประมงมีการค้ามนุษย์ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลจากไหน แบบไหน เพราะจากการตรวจสอบของสมาคมฯไม่พบการค้ามนุษย์ในเรือประมง

"ผมอยากยกตัวอย่างภาพเด็ก ที่ท่าเทียบเรือประมงเมื่อหลายปีก่อน เป็นภาพที่พ่อ แม่ นำลูกมาทำงานที่ท่าเทียบเรือประมง เนื่องจากไม่ต้องการทิ้งลูก หรือฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยง เลยนำมาทำงานที่แพปลาด้วย ซึ่งในภาพเด็กกำลังเขี่ยปลา เป็นการเล่นซุกซนของเด็กทั่วๆ ไป แต่พอภาพนี้ปรากฏก็ตีความว่ามีการใช้แรงงานเด็กในธุรกิจประมง คนละเรื่องกับความจริงเลย"

ส่วนเรื่องที่บอกว่ามีลูกเรือกระโดดน้ำหนี ระหว่างเรือเดินทางออกจากฝั่งก็เช่นกัน เหตุเกิดขึ้นเพราะแรงงานเบี้ยวไม่ยอมออกเรือ หลังจากที่ได้รับค่าจ้าง 20,000-30,000 บาท/คน แล้วนำเงินไปเที่ยว ไปจ่าย ส่งกลับบ้าน แต่พอถึงเวลาออกเรือ กลับไม่อยากออกเรือ เมื่อเรือออกจากฝั่งก็กระโดดน้ำหนี เมื่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือก็จะบอกว่าถูกหลอกให้ทำในงานเรือประมง

"ระบบการจ่ายเงินค่าจ้างแรงงานประมง คือ จ่ายก่อนทำงาน ก่อนเรือออก ต่างกับการจ้างงานทั่วๆ ไปที่ทำงานเสร็จแล้วรับเงิน เหตุผลที่ทำให้การจ้างงานแรงงานประมงต้องจ่ายก่อน เพราะปัญหาขาดแคลน เรือประมงยอมเสี่ยงต่อการถูกเบี้ยวหรือหนีของแรงงานเมื่อรับเงินไปแล้ว เพราะไม่มีทางเลือก” นายกสมาคมประมงจ.สงขลา กล่าว

ทางด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร จัดหางานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการตรวจสอบแรงงานเรือประมงยังไม่พบการหลอกลวง แรงงาน ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์เกิดขึ้น เนื่องจากจ.สงขลามีศูนย์ประสานงานแรงงานประมง ที่มีหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบการจ้างงานเรือประมงอย่างเข้มงวด

"ยังไม่พบว่ามีการแรงงานที่ถูกหลอกให้ทำงานในเรือประมงในปีนี้ ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้ข้อมูลแรงงานประจำเรือ เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการร่วมมือกันระหว่าง 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเจ้าหน้าที่ออกทะเลซุ่มตรวจเรือประมงก็ยังไม่พบมีการหลอก บังคับในเรือประมง"

สำหรับแรงงานธุรกิจเรือประมงในปัจจุบัน 90% เป็นแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา รองลงมาคือ ลาว และพม่าส่วนแรงงานไทยนั้นปัจจุบันมีน้อยมาก เพราะมีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น และไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากการทำงานบนฝั่ง

จัดหางานจ.สงขลา ยังกล่าวว่า สถานการณ์แรงงานในเรือประมงจ.สงขลา ปัจจุบันยังประสบปัญหาขาดแคลน เนื่องจากแรงงานไทยปฏิเสธการทำงานในเรือประมง ทำให้ปัจจุบันแรงงานเรือประมงจะเป็นแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสภาพการทำงานที่หนักกว่างานทั่วๆ ไป