'ไทยเบฟ'เร่งหาทางออก หลังแพ้คดีเมียนมาร์เบียร์

'ไทยเบฟ'เร่งหาทางออก หลังแพ้คดีเมียนมาร์เบียร์

ไทยเบฟฯผู้ถือหุ้นใหญ่เอฟแอนด์เอ็น แจงอยู่ระหว่างเร่งหาทางออก กรณีเมียนมาร์เบียร์

หลังอนุญาโตตุลาการสิงคโปร์ ให้สิทธิบริษัทพม่าซื้อหุ้น 55% ของเอฟแอนด์เอ็นในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดของพม่า ระบุคำตัดสินชี้ราคาเสนอซื้อหุ้นที่ 246 ล้านดอลลาร์ เป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม

หลังเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานทีซีซี กรุ๊ป ส่งบริษัทลูก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และบริษัททีซีซีแอสเสท เข้าซื้อกิจการในบริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น ผู้ดำเนินธุรกิจเบียร์ เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ รายใหญ่ในเอเชีย อีกหนึ่งธุรกิจที่ติดมาด้วยคือกิจการเบียร์ในพม่า ภายใต้บริษัทเมียนมาร์ บริวเวอรี่ ลิมิเต็ด (MBL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอฟแอนด์เอ็น กับบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮดิงส์ ลิมิเต็ด (MEHL) รัฐวิสาหกิจพม่า

โดยภายหลังการซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น ตั้งแต่ต้นปี 2556 ไทยเบฟ กลับไม่สามารถเข้าบริหารงานในบริษัทแห่งนี้ได้ เนื่องจากบริษัทของพม่าไม่ยินยอม โดยอ้างสัญญาว่าการขายหุ้นเอฟแอนด์เอ็นให้กับไทยเบฟ หุ้นในส่วนของเอฟแอนด์เอ็น ในบริษัท เมียนมาร์ บริวเวอรี่ฯ นั้นต้องขายให้กับ บริษัทผู้ถือหุ้นฝ่ายพม่าก่อน นำไปสู่การต่ออนุญาโตตุลาการ ให้ยุติข้อพิพาทดังกล่าว

ล่าสุด คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้บริษัท MEHL มีสิทธิเข้าซื้อหุ้นที่เอฟแอนด์เอ็นถือครองอยู่ในบริษัทเมียนมาร์ บริวเวอร์รี่ ในสัดส่วน 55 %

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเอฟแอนด์เอ็น ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ต่อกรณีดังกล่าวว่า ราคาที่จะทำการเสนอซื้อที่ 246 ล้านดอลลาร์นั้น ไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นธรรมของหุ้นที่เอฟแอนด์เอ็นมีอยู่ในเมียนมาร์ บริวเวอรี่ฯ

ปัจจุบันเอฟแอนด์เอ็นกำลังทบทวนทางเลือกต่างๆ และจะประกาศให้ทราบโดยเร็วที่สุด ระหว่างนี้ขอให้ผู้ถือหุ้นระมัดระวังเกี่ยวกับราคาหุ้นของบริษัท

เอฟแอนด์เอ็นเร่งหาทางออกปัญหา

นายฮวง ฮง เป็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเบียร์ เอฟแอนด์เอ็น ในเครือไทยเบฟ เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการประเมินทางเลือกต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารเมียนมาร์เบียร์ โดยยืนยันว่าราคาที่เสนอซื้อหุ้นมานั้นเป็นราคาที่ "ไม่เป็นธรรม" กับบริษัท

นอกจากนี้ การเข้าไปบริหารเมียนมาร์เบียร์ คือความคาดหวังของบริษัท และแม้จะเกิดกรณีพิพาทดังกล่าว บริษัทยังคงยืนยันว่าบริษัทยังคงเป็นผู้บริหารเมียนมาร์เบียร์ตั้งแต่เข้าไปดำเนินการร่วมทุนตั้งบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ปี 2538

"เมียนมาร์เบียร์ เป็นของเราอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2538 เพราะเป็นบริษัทลูกที่เราเข้าไปบริหารงานอย่างต่อเนื่อง จากกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้น บริษัทก็อยู่ระหว่างประเมินทางเลือกต่างๆในเรื่องนี้ โดยสินค้าเบียร์ภายใต้เอฟแอนด์เอ็นนั้นมีเพียงเมียนมาร์เบียร์"

ผนวกเมียนมาร์เบียร์ในพอร์ตไทยเบฟ

จากการสอบถามกรณีข้อพิพาทดังกล่าว กับนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เขาได้ปฏิเสธที่จะให้คำตอบในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าบริษัทเมียนมาร์เบียร์ จะถูกนำไว้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตสินค้าของไทยเบฟ ในรายงานประจำปี 2556

อย่างไรก็ตาม เพื่อขยายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เติบโตตามวิสัยทัศน์ปี 2563 ไทยเบฟได้ระบุถึงแนวทางการซื้อและควบรวมกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) เบียร์แบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมพอร์ตสินค้าของไทยเบฟ

ระบุเสนอราคาซื้อหุ้นต่ำเกินไป

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าอนุญาโตตุลาการสิงคโปร์ได้รับฟังกรณีที่บริษัท MEHL ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลพม่า ได้ยื่นเรื่องขอสิทธิซื้อคืนหุ้นในเมียนมาร์บริวเวอรี โดยการรับฟังมีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย.ถึงต้นเดือนก.ค. จนกระทั่งล่าสุดได้ตัดสินว่าบริษัทMEHL สามารถซื้อหุ้น 55% ของบริษัทเอฟแอนด์เอ็น ที่มีอยู่ในเมียนมาร์บริวเวอรี่ฯ

คำตัดสินนี้ถือว่ากระทบต่อเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์ ซึ่งมีหุ้นในเมียนมาร์บริวเวอรี่ฯ มานานถึง 17 ปี ในช่วงที่การลงทุนจากต่างชาติกำลังเริ่มไหลเข้าสู่พม่า โดยบริษัทอย่างโคคา-โคลา เนสท์เล และยูนิลีเวอร์ ต่างก็เข้าไปทำธุรกิจในพม่า

ด้านเอฟแอนด์เอ็นแถลงว่ากำลังทบทวนคำตัดสินและทางเลือกทุกอย่าง พร้อมเสริมว่าอนุญาโตตุลาการตัดสินว่าราคาที่ MEHL เสนอไปสำหรับซื้อหุ้นที่จำนวน 246 ล้านดอลลาร์นั้น ไม่ถือเป็นราคาที่ยุติธรรม

"ราคาที่เสนอมานั้น ต่ำเกินไปมากและไม่ได้คำนึงถึงการที่เมียนมาร์บริวเวอรี่ฯ เป็นผู้นำในตลาดพม่า ด้วยกำไรที่พุ่งขึ้นในระดับสูงถึงเกือบ 50% เมื่อปีที่ผ่านมา เมียนมาร์บริวเวอรี่ฯ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด มีกำไรมากที่สุด และเสียภาษีสูงที่สุดในพม่า" นายหวง หง เผิง หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของเอฟแอนด์เอ็น ระบุในแถลงการณ์ พร้อมเสริมว่ารู้สึกผิดหวังที่เกิดข้อพิพาทนี้ขึ้นในช่วงที่พม่ากำลังเปิดตลาดและเอฟแอนด์เอ็นจะพยายามกลับเข้าไปในตลาดพม่า

ทั้งนี้ เมียนมาร์บริวเวอรี่ฯ ซึ่งผลิตเมียนมาร์เบียร์ เมียนมาร์ดับเบิลสตรอง และอันดามันโกลด์ มีส่วนแบ่ง 83% ในตลาดเบียร์พม่า

แจงอนุญาโตฯสั่งประเมินมูลค่าอิสระ

ทั้งนี้ เมียนมาร์บริวเวอรีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดย MEHL กับไฮเนเก้นผ่านบริษัทเอเชีย แปซิฟิก บริวเวอรีส์ ซึ่งเป็นสาขาในเอเชียของไฮเนเก้น ที่โอนหุ้น 55% ไปให้เอฟแอนด์เอ็นเมื่อปี 2540 ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว เอฟแอนด์เอ็นถูกเข้าถือครองกิจการโดยบริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าแม้ในกรณีที่ผู้ประเมินอิสระให้ราคาที่ดีขึ้นสำหรับการขายหุ้นในเมียนมาร์บริวเวอรี่ฯ แต่เงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นการชดเชยที่ไม่น่าจะคุ้มค่านักเมื่อเทียบกับการที่ต้องสูญเสียธุรกิจที่มีการเติบโตไป

นอกจากตัดสินว่า MEHL สามารถซื้อหุ้น 55% ของเอฟแอนด์เอ็นในเมียนมาร์บริวเวอรีแล้ว อนุญาโตตุลาการยังสั่งให้มีการประเมินมูลค่าอย่างเป็นอิสระ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่าอย่างน้อยคำสั่งนี้ก็น่าจะทำให้เอฟแอนด์เอ็นได้ราคาที่สูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเคยประเมินว่า หุ้นดังกล่าวน่าจะมีมูลค่า 669 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเท่ากับ 15% ของมูลค่าตลาดในปัจจุบันของเอฟแอนด์เอ็น

รอยเตอร์ระบุว่า ไม่ว่าจะตีราคาเท่าใด แต่คงเป็นการยากสำหรับนายเจริญที่จะหาตลาดที่มีความน่าดึงดูดใจด้านรายได้ เพราะเอฟแอนด์เอ็นอ้างว่ากำไรของเมียนมาร์บริวเวอรีขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วงปีที่ผ่านมา รอยเตอร์เสริมด้วยว่าอาจมีช่องทางสำหรับการประนีประนอมระหว่างสองฝ่าย โดยทางเลือกหนึ่งอาจเป็นการที่เอฟแอนด์เอ็นมอบการดูแลเมียนมาร์บริวเวอรีให้เอ็มอีเอชแอลแต่ยังคงถือหุ้นไว้จำนวนหนึ่ง