“สยามออร์แกนิค” SE เปลี่ยนชีวิตชาวนา
ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน เกือบ 1 ใน 4 คือ“เกษตรกร”ทว่าส่วนใหญ่ยังหนีไม่พ้นกับดักความยากจนที่มาของ“สยามออร์แกนิค”ผู้อาสาปลดล็อกชีวิตชาวนา
“ถามว่าชาวนายากจนแค่ไหน ผมจะเปรียบเทียบเป็นตัวเลขให้ดู ปัจจุบันชาวนาในประเทศไทย มี ‘กำไร’ คือรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ตกไม่ถึง 500 บาท ต่อเดือน!”
“ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์” ซีอีโอ บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด บอกเล่าเรื่องจริงแสนเจ็บปวด ที่เล่นงานชีวิตชาวนาไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะการแก้ปัญหาของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซ้ำยังทำให้หนี้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีด้วย นี่เองที่กระตุ้นให้นิสิต MBA อย่างเขา ตัดสินใจเดินสู่ถนนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) โดยลงมือก่อตั้ง “สยามออร์แกนิค” ขึ้น เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน (พ.ศ.2554)
จุดยืนที่แจ่มชัดตั้งแต่ต้น คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยในภาคอีสาน โดยใช้ “นวัตกรรม” มาสร้างสินค้าที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เรียกว่า มองครบทั้งมิติ “สังคม” และ “ธุรกิจ”
จากปัญหาก้อนใหญ่ของชาวนา คนหนุ่มวิเคราะห์ออกมาเป็น 3 ด้าน คือ เมล็ดพันธุ์ไม่ดี ตลาดไม่แน่นอน และผลผลิตต่ำ
เมล็ดพันธุ์ไม่ดี ก็ต้องหาเมล็ดพันธุ์ที่ดีไปตอบสนอง ที่มาของการเดินไปหานักวิจัยผู้พัฒนาพันธุ์ข้าว จนได้พบกับ “ข้าวแจสเบอร์รี่” พันธุ์ข้าวออร์แกนิคที่มีคุณภาพสูง ผลผลิตจากงานวิจัยของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมเปลี่ยนแปลงข้าวของชาวนา ให้งอกงามขึ้นด้วยข้าวสายพันธุ์ใหม่ ที่โดนใจตลาด
โจทย์ต่อมา ตลาดไม่แน่นอน ก็แก้โดยให้ราคารับซื้อที่สูงขึ้น โดยสูงกว่าข้าวหอมมะลิถึง 2 เท่า และการันตีรับซื้อข้าวทุกเมล็ด เพื่อจูงใจให้ชาวนามาร่วมเครือข่ายกับพวกเขาให้มากขึ้น ปิดท้ายกับ ผลผลิตต่ำ ก็ไปแก้ปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย การบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ ตลอดจนส่งทีมงานเข้าไปอบรมให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
ฝั่งของเกษตรกรทำเพื่อให้ได้ “ผลผลิตดี” มาตอบความต้องการของตลาด โจทย์ต่อมาคือ เรื่อง “ธุรกิจ” เขาว่า ต้องใช้ “การตลาดนำ” ทำสินค้าและบริการที่ดี เป็นที่ต้องการ และแข่งขันกับตลาดได้
“ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องมาจากฐานความต้องการของตลาด โดยต้องสร้างมูลค่าให้กับผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะสินค้าหรือบริการ คีย์มีแค่สองคำ คือ การตลาด และ นวัตกรรม คุณมีสองตัวนี้ดีพอไหม ถ้าคำตอบคือ ไม่ จะอยู่ยากมากในโลกปัจจุบัน และถ้าตอบโจทย์การตลาดไม่ได้ ก็แก้ปัญหาสังคมไม่ได้” เขาย้ำ
ก่อนยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาโดยไม่สนตลาด แต่เริ่มจากตัวเกษตรกร เช่น ไปส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวหอมมะลิออร์แกนิคกันมากๆ จนผลผลิตเยอะขึ้น ปรากฏว่า ขายไม่ได้ ขายไม่ออก พอไปเจอคู่แข่งก็รับมือไม่ไหว การแก้ปัญหาสังคมก็สะดุด สุดท้ายก็ “ล่ม” เขาย้ำว่า กิจการเพื่อสังคม ต้องเกิดจากตลาด แล้วค่อยวกกลับมาหาสังคม
นั่นคือเหตุผลที่ สยามออร์แกนิค ชัดเจนในความเป็นธุรกิจตั้งแต่ต้น โดยการพัฒนาสินค้า ให้ฉีกจากผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วๆ ไป มาอยู่ในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน พร้อมยกระดับขึ้นห้างฯ และทำตลาดส่งออก โดยในอีกสามเดือนข้างหน้า เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ไปเฉิดฉายอยู่ทั้งใน ยุโรป อเมริกา และเอเชีย
เวลาเดียวกัน ยังพัฒนาสินค้าไม่หยุดนิ่ง จากแค่ข้าวออร์แกนิค ก็ขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ชา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เติมโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ โดยที่ยังคงจุดยืนหนึ่งเดียว นั่นคือ ทุกการแปรูป จะมีพระเอกเป็น “ข้าว” และใช้วัตถุดิบในประเทศเท่านั้น เพื่อส่งออกศักยภาพความเป็นไทยไปสู่ตลาดโลก
“กว่า 3 ปี ที่ทำงานกับเกษตรกรมา ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 40% มีเกษตรกรในเครือข่าย 600 ราย ซึ่งรายได้เขาสูงมากกว่าเกษตรกรในที่อื่นๆ ถึงเกือบ 8 เท่า! ปีที่แล้วรวมรายได้ของทั้งกลุ่มเพิ่มขึ้นประมาณ 8 ล้านบาท นี่เป็นผลลัพธ์ที่บริษัทเล็กๆ บริษัทหนึ่ง ได้สร้างขึ้น”
เขาบอกผลจากความมุ่งมั่น ที่ค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ข้าว หรือชาวนา แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตชุมชน ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย เขาบอกว่า ปีนี้สยามออร์แกนิคจะทำเรื่องการพัฒนาชุมชนให้มากขึ้น โดยรับฟังความต้องการของชุมชน แล้วพัฒนาเป็นโครงการมาสนอง เช่น อนาคตอันใกล้จะมีการทำทัวร์ เพื่อให้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ซึ่งมุ่งรับลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ตลอดจน การทำ “Organics Learning Center” ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่เขาบอกว่า ถ้าแล้วเสร็จจะกลายเป็น “The Best Organics Learning Center” ในเอเชีย เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนทั่วโลก
“อยากให้ชาวนาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เพราะเขาเป็นบุคคลที่มีความรู้เยอะมาก คนทั่วไปอาจมองว่า เป็นอาชีพที่ทำแล้วจน คนเลยไม่อยากทำ ซึ่งไม่จริงเลย และเราอยากเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ การทำศูนย์เรียนรู้นี้ขึ้นมา ก็เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ชาวนามีองค์ความรู้มากแค่ไหน ไม่ได้ง่ายเลยนะที่ใครจะมาทำอาชีพนี้ คนเขาจะได้เห็นคุณค่า และเด็กรุ่นใหม่อยากมาสานต่ออาชีพนี้มากขึ้น”
จากกิจการเล็กๆ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและเติบโต เมื่อถามถึงเป้าหมายในธุรกิจ คนหนุ่มบอกว่า อยากเป็นบริษัทที่ทำสินค้าออร์แกนิคที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพที่สุด และสะดวกที่สุด โดยใช้วัตถุดิบในไทย และส่งออกไปทั่วโลก
“เราอยากเป็นหนึ่งในผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในเอเชีย เวลาเดียวกับอยากเป็นธุรกิจที่สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินส่งลูกหลานเรียน มีโอกาสในชีวิต มีเงินเก็บ และสร้างเนื้อสร้างตัวได้ด้วยอาชีพนี้” เขาบอก
“ปีตาชัย” คือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สนใจการแก้ปัญหาสังคมด้วยโมเดลใหม่ๆ เขาเป็นหนุ่มนักเรียนนอก จบจากUniversity of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย ในสาขา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ ก่อนมาต่อโท MBA ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ เคยทำงานด้านการเงิน มีเงินเดือนและ โบนัส ที่ใช้ชีวิตได้สบายๆ แต่กลับสนใจกิจการเพื่อสังคม โดยมีแรงบันดาลใจมาจากผู้ชายที่ชื่อ “สืบ นาคะเสถียร” นักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมของไทย
“ผมชื่นชอบคุณสืบ ผมอยากทำอะไรที่มีความหมายกับชีวิตเหมือนท่าน นั่นคือ การช่วยเหลือคนอื่นมากกว่าช่วยเหลือตัวเอง เพราะการช่วยคนอื่นนั้น เราจะมีความสุข สำหรับผม การทำงานที่ได้เงินเยอะ แต่ไม่มีความสุข ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้างานนั้นทำให้เรามีความสุขด้วย และยังได้ช่วยเหลือคนอื่นไปด้วย มันมีความหมายกว่ามาก” เขาบอก
ความหมายที่ว่า คือการได้เห็นชีวิตชาวนาดีขึ้น เห็นผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดี แม้แต่ตัวคนทำอย่างเขาเองก็ “มีความสุข”“ผมอยากให้สักสิบปีหลังจากนี้ สยามออร์แกนิคเป็นหนึ่งใน SE ที่ดีที่สุดในโลก อยากให้เมื่อคนพูดถึงเกษตรเขานึกถึงเรา ในฐานะ SE ที่ทำธุรกิจและช่วยสังคมได้ด้วย อยากเป็นตัวอย่างให้น้องๆ ที่อยู่ในยุควัตถุนิยมอย่างวันนี้ ได้เห็นเป็นตัวอย่างว่า เขายังมีทางเลือกในการทำงาน ที่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อเงิน แต่ยังทำเพื่อสังคมได้ด้วย”
ปีตาชัยบอกความฝัน ก่อนฝากถึงน้องๆ ที่อยากเดินบนถนนเส้นเดียวกันว่า ขอให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งด้านธุรกิจและสังคม คิดไอเดียมาจากฐานความต้องการของตลาด และมีนวัตกรรมที่ดีพอ แล้วค่อยกลับไปหาสังคม ขณะในแง่ทัศนคติก็สำคัญ นั่นคือ ต้องซื่อสัตย์ ขยัน และอดทน เพราะทุกอย่างต้องอาศัยเวลา ก้าวไปทีละก้าว ระว่างทางก็ปรึกษาผู้มีความรู้ รับฟังคำแนะนำ เพื่อที่จะผ่านทุกความยาก ไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการได้
ส่วนผลตอบแทนอาจไม่ได้รออยู่ตรงปลายทาง เพราะแค่ได้ลงมือทำ ก็เท่ากับ “สุข” แล้ว