ปตท.ลงนามนำเข้า'LNG'จากปิโตรนาส
ปตท. ลงนามนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว จากปิโตรนาส ของมาเลเซีย ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี หวังเสริมมั่นคงด้านพลังงาน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ลงนามในสัญญาบันทึกความร่วมมือเบื้องต้น(เอ็มโอยู)กับทางปิโตรนาม ของมาเลเซีย เพื่อจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)จากปิโตรนาส ของ มาเลเซีย ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และ เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งนี้ การซื้อ LNG ระยะยาวควรจะมีสัดส่วนราว 60-70% ส่วนที่เหลือเป็นการซื้อ จากตลาดจร (spot) ในปัจจุบันปตท.นำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวจากการ์ต้าจำนวน 2 ล้าน ตันต่อปี และล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง ชาติ(กพช.)เพิ่งเห็นชอบ ร่างสัญญาซื้อขาย LNG กับ Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวในปริมาณรายละ 1 ล้านตันต่อปี รวมแล้ว 2 ล้านตันต่อปี
ขณะที่ปตท.อยู่ระหว่างการทำโครงการ LNG Receiving Terminal ระยะที่ 2 ในพื้นที่เดียวกับ ระยะแรก มาบตาพุด จ.ระยอง จะเพิ่มขีดความสามารถการผลิต LNG เป็น 10 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าปริมาณก๊าซธรรมชาติ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2560 จากปัจจุบันผลิตในระดับ 5 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าปริมาณก๊าซธรรมชาติ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนที่จะสร้างคลัง LNG ระยะที่ 3 เพิ่มเติมอีก 5 ล้านตันต่อปี
ล่าสุดทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ให้ความสนใจที่จะก่อสร้างคลัง LNG ดังกล่าวเพื่อป้อนก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มอบหมายให้กฟผ.ศึกษาเรื่อง ดังกล่าวก่อน แต่ในเบื้องต้นเห็นว่าตามหลักการของการจัดทำโครงข่ายด้านพลังงาน สำหรับประเทศ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเช่นประเทศไทย ควรมีเจ้าของเป็นผู้ประกอบการรายเดียวเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแม้มีโครงข่ายเพียงรายเดียว แต่ก็ให้มีการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาด ด้วยการ เปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีแอลเอ็นจี (Third Party Access; TPA) ได้
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การนำก๊าซฯเข้าระบบท่อส่งก๊าซฯในปัจจุบันมีปตท.เป็นเจ้าของเพียงราย เดียว นั้น จะไม่เกิดความวุ่นวายและจะยังเป็นการกระจายความเสี่ยง หากผู้จัดหาและเจ้าของคลังรายอื่น หา LNG ไม่ได้และราคา LNG ที่ซื้อจากตลาดจรก็อาจมีราคาสูงมาก จนส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(เอฟที)ในอนาคต ซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรณีราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเป็นโอกาสในการจัดหา LNG ตาม สัญญาระยะยาวในราคาที่ดีด้วย และเป็นโอกาสสำหรับประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทย ซึ่งจะช่วย เสริมความมั่นคงของระบบพลังงาน ขณะที่การบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งคือ แหล่ง เอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 65-66 นั้นรัฐบาลควรจะมีข้อสรุปที่ออกมาชัดเจน ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนออกมาเลย จะทำให้ผู้ผลิตที่ได้รับสัมปทานนั้นจะลดการผลิตลง ซึ่งจะส่งผล ให้เกิดการนำเข้า LNG มากขึ้นในอนาคตและจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
ส่วนการแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซฯของปตท.ออกมาเป็นบริษัทใหม่นั้น ยังไม่คืบหน้า ต้องรอความ ชัดเจนจากศาลฯ แม้ก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้ออกมายืนยันปตท.ได้คืนท่อส่งก๊าซฯตามคำพิพากษา ครบถ้วนแล้ว แต่ยังมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลฯอีกครั้ง และทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)อยู่ ระหว่างการตรวจสอบเรื่องดัง กล่าวด้วย