ปตท.เข้มสั่งโครงการลงทุนตั้งแต่5พันล.ต้องผ่านบอร์ด

ปตท.เข้มสั่งโครงการลงทุนตั้งแต่5พันล.ต้องผ่านบอร์ด

"ปิยสวัสดิ์" สั่งคุมเข้มการลงทุนของบริษัทในเครือปตท. ชี้โครงการตั้งแต่ 5 พันลบ.ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ด

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.จะเข้มงวดการลงทุนในกลุ่ม ปตท.มากขึ้น หลังขาดทุนจากธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซีย ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายราว 2 หมื่นล้านบาท โดยจากนี้ไปหาก ปตท.และบริษัทลูกจะลงทุนในโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ปตท.พิจารณา โดยเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุน แต่จะสร้างความโปร่งใสและรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่า

สาเหตุที่มีการคุมเข้มการลงทุนของกลุ่มปตท. เนื่องจากเกิดปัญหาการลงทุนในธุรกิจปาล์ม ที่อินโดนีเซีย โดยบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ซึ่งล่าสุดปตท.อยู่ ระหว่างการดำเนินการฟ้องแพ่งกับอดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง ที่พบว่ามีความผิดจากกรณีดังกล่าว เป็นมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทตามความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับยุติการลงทุนธุรกิจปาล์มดังกล่าว และเร่งขายพื้นที่ปลูกปาล์มที่มีอยู่ 5 แห่งให้หมด โดยล่าสุดขายได้แล้ว 3 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 40
ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจปาล์มที่อินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงปี 49-50 แต่ยังไม่เคยสามารถสร้างกำไรให้กับปตท.ได้เลย ขณะเดียวกันฝ่ายตรวจสอบของปตท.ก็ได้ตรวจสอบแผนการลงทุนควบคู่กันไปด้วย และพบว่ามีความผิดปกติตั้งแต่ช่วงปี 55 และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป. ช.) สอบสวนต่อในช่วงต้นปี 56 เพื่อให้มีความโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก แต่ในส่วนของ ปตท.พบว่าความผิดปกติดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลากรในกลุ่ม ปตท.ทั้งหมด 5 คน ซึ่งรวมถึงอดีตผู้บริหารระดับสูงคนที่ถูกฟ้องทางแพ่งด้วย โดยแต่ละบุคคลมีความผิดแตกต่างกันไป ส่วนอดีตผู้บริหารระดับสูงคนดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)ล่าสุดได้ถูกให้ออกจากงานแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการลงทุนของกลุ่มปตท.ต่อธุรกิจปาล์มในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าถูกต้อง แต่อาจจะด้วยความไม่คุ้นชินในธุรกิจและพื้นที่ รวมถึงมีความเสี่ยงด้านข้อกฎหมายต่างๆ เพิ่มเข้ามา ทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการตรวจสอบที่พบว่าอดีตผู้บริหารมีการกระทำผิด
ทางวินัยที่ส่อไป ในทางทุจริตด้วย