'กูรูจีน'เชื่อรถไฟไทย-จีนต้องเกิด ดันจีดีพีพุ่ง5%

'กูรูจีน'เชื่อรถไฟไทย-จีนต้องเกิด ดันจีดีพีพุ่ง5%

"กูรูจีน"เชื่อ"รถไฟไทย-จีน"ต้องเกิด เหตุเป็นเส้นทางสำคัญผลักดันเศรษฐกิจกลไกสำคัญ ดึงจีดีพีพุ่งระดับ 5%

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ให้สัมภาษณ์“สุทธิชัย หยุ่น”ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่น ผ่านรายการ“ไทม์ไลน์ สุทธิชัย หยุ่น” จะออกอากาศทางช่องเนชั่นทีวี วันที่ 13-14 ก.พ. เวลา 22.30 น.ถึงโครงการความร่วมมือพัฒนารถไฟไทย-จีนระบุว่าการพัฒนาโครงการขณะนี้ หากจะให้วิเคราะห์ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็น 1. หลักการพัฒนาแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี โครงการนี้จะทำให้ไทยสามารถเชื่อมเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจอย่างจีนได้

2.วิธีการตอนนี้ยังติดขัดการเจรจาไม่ลงตัว แต่ไม่น่าจะเป็นปัญหาทำให้โครงการทั้งหมด“ล้มเลิก” แต่ไทยต้องวิเคราะห์ให้ได้ตอนนี้คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แน่นอนการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบราง หากมีทั้ง4เส้นทาง เชื่อมทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก จากโครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการรถไฟไทย-ญี่ป่น จะทำให้ศักยภาพการเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทยแข็งแกร่งขึ้น

"ตอนนี้ส่วนตัวยังมองว่าจุดสำคัญของการดันเศรษฐกิจไทยคือการพัฒนาเส้นทางช่วงนครราชสีมา-มาบตาพุดจะเชื่อมต่อการขนส่งหลายเส้นทาง แต่หากจะให้ครบควรมีทั้งโครงการตามแผนเดิมหากมองการพัฒนารถไฟเชื่อม 4 ภาคนั้น ภาคกลางกลายเป็นศูนย์กลางอาเซียนแท้จริง จากการเชื่อมเส้นทางรถไฟในประเทศ และสานต่อยังประเทศเพื่อนบ้านเมื่อโครงการรถไฟเหล่านี้เปิดใช้งานเต็มรูปแบบน่าจะดันผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) เติบโตในระดับ 5% "

นายสมภพ กล่าวว่าโครงการรถไฟทำให้ความหนาแน่นในเมืองกระจายตัวออกไป เปลี่ยนคำว่า“ทำมาหากิน”เป็น“ทำมาค้าขาย”ปัญหาของการเจรจาที่ยังไม่ลงตัวตอนนี้ ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะรัฐจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญเกรงว่าหากเลยรัฐบาลชุดนี้ไป อาจจะเกิดความไม่แน่นอน ท้ายที่สุดอาจต้องเริ่มนับหนึ่งกับการเริ่มต้น

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าไทยมีปัญหาการบริหารจัดการทำให้โครงการล่าช้ามาตลอด เช่น โครงการรถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน ปัจจุบันยังมีไม่กี่เส้นทาง ในส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน อยากให้รัฐเจรจาด้วยความรอบคอบ

นางอักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่อยากให้โครงการรถไฟไทย-จีน ต้องล้มเลิก เพราะไทยจะเสียโอกาสการพัฒนารถไฟ ที่ผ่านมาไทยเว้นวรรคการพัฒนาระบบรางมานาน เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถการแข่งขัน ระบบรางของประเทศในเอเชีย ไทยยังแพ้เวียดนาม ดังนั้นถึงเวลาของการยกเครื่องระบบรางใหม่ ทุกโครงการมีประโยชน์ควรเดินหน้าต่อไป

ส่วนมูลค่าโครงการที่สูง อยากให้เทียบกับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ สำหรับระบบรางเส้นทางนี้ ส่วนการปรับกรอบโครงการรอบล่าสุด ที่ชะลอเส้นทางช่วงแก่งคอย - มาบตาพุด เพื่อลดวงเงินลงทุน 1.6 แสนล้านบาท ในมุมมองยังเห็นว่าแนวทางนี้มีเหตุและผล

จากการศึกษาปริมาณการใช้งานที่ยังไม่คุ้มค่า เส้นทางดังกล่าวยังมีโครงการรถไฟที่รองรับได้ดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับแนวทางการปรับลดเส้นทางช่วงนครราชสีมา - หนองคาย จากเดิมจะพัฒนาทางคู่ ให้เป็นทางเดี่ยว ก็พบว่าสอดคล้องกับทางเชื่อมโยงที่มาจากลาว การศึกษาพบว่าความถี่การใช้งานเส้นทางนี้ยังไม่สูงมากนัก จึงเห็นว่าก็สมเหตุสมผลหากจะพัฒนาช่วงแรกเป็นทางเดี่ยวไปก่อน

"ตอนนี้ไม่อยากให้เราหลงประเด็นกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย อยากให้มองประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากรถไฟมากกว่า การผ่านอีสานเป็นภูมิภาคที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการวัดระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ขอนแก่นอยู่อันดับที่ 33 ของประเทศ เป็นจังหวัดแรกในภาคอีสานรถไฟสายนี้จะเพิ่มโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้กับอีสานได้แน่นอน แต่เราต้องจัดการให้ดีกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ"นางอักษรศรี ระบุ

ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าโครงการความร่วมมือประเทศอื่นๆ อยากถามว่าผู้ที่วิเคราะห์นั้น มีข้อมูลมากน้อยเพียงใด เพราะเท่าที่ติดตามพบว่า กรณีของอินโดนีเซีย จีนให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่2% หากคิดเป็นเงินดอลลาร์ และมากกว่า 2% หากคิดเป็นเงินหยวน เช่นเดียวกับลาว ที่จีนก็ให้อัตราดอกเบี้ยคิดเป็นเงินหยวนอยู่ที่ 3%ขณะนี้จีนก็มีท่าทีแล้วว่าจะให้ไทยอยู่ที่ 2%

นางอักษรศรี กล่าวว่าการปรับรายละเอียดโครงการที่เกิดขึ้น เป้าหมายคือรัฐบาลลดต้นทุน และการก่อสร้าง เกิดขึ้นจากการรับฟังความเห็นของภาคประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับมูลค่าโครงการสูงเกินไป แต่ในมุมมองส่วนตัว อยากให้คนไทยพิจารณาจากความคุ้มค่าของโครงการที่จะอยู่กับไทยอีกนาน ปัจจุบันจีนก็ปลดล็อกประเด็นต่างๆ ให้ไทยหลายส่วนแล้ว ทั้งปรับลดค่าแรง รวมทั้งให้คำมั่นอัตราดอกเบี้ยที่่ 2% หากกลับไปดูที่บันทึกข้อตกลง จะพบว่ากำหนดอัตราดอกเบี้ยโครงการนี้ ต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศ

ส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งไทยได้เสนอให้จีนเพิ่มสัดส่วนร่วมทุนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะสรุปสัดส่วน 60:40 หรือ70:30 แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความเหมาะสมของการร่วทุนจีนควรจะลงทุนสัดส่วนสูงกว่าไทยเพราะการร่วมทุนครั้งนี้เป็นการร่วมทุนตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ และการเดินรถ

ดังนั้นจีนจะได้ประโยชน์กับรถไฟสายนี้โดยตรงในการเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งเหมาะสมที่ต้องลงทุนสัดส่วนที่มากกว่าควรจะเกิน 50% เป็นอย่างต่ำ อยากฝากให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาอย่างรอบคอบ การหารืออาจจะยาวนานแต่ไทยต้องรักษาผลประโยชน์ให้มากที่สุดตัวอย่างการเจรจาเร็วแต่บทสรุปก็ต้องพับแผน และชะลอออกไปมีให้เห็นทั้งอินโดนีเซีย และลาว

นายสารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่าเส้นทางรถไฟสายนี้มีความจำเป็นต้องเกิดขึ้น หากมองในมุมประโยชน์แล้ว จะเกิดขึ้นกับ2ประเทศ จีนสามารถเชื่อมโยงการขนส่งตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้ในส่วนของไทยก็จะได้ประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์กลางอาเซียน เชื่อมต่อการขนส่งดันเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สิ่งที่ไทยต้องปรับตัวคือการปรับทัศนคติเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจีนใหม่ จะเห็นว่าปัจจุบันคนไทยยังนิยมส่งลูก หลานไปเรียนที่ตะวันตก แต่ไม่ค่อยนิยมไปเรียนที่จีน ทั้งๆ ที่ไทยกับจีน เน้นถึงความสัมพันธ์การเป็นเมืองพี่เมืองน้องมาตลอด

"เราต้องรักษาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนปรับมุมมองใหม่ หากเส้นทางรถไฟเกิดขึ้น จะเสริมสิ่งใดให้กับไทยได้บ้าง ไม่ต้องกลัวว่าจีนจะมาเอาทรัพยากรของไทย หลังจากเส้นทางรถไฟสายนี้เกิด ไทยไม่ได้มีทรัพยากรที่จีนต้องการหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ดังนั้นคนไทยไม่ควรกลัวจีน"

นายโจ ฮอน พัฒโนทัย ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดจีน กล่าวว่าการเจรจาโครงการรถไฟไทย - จีน บอกว่ายังมีแววที่ต้องเจรจาร่วมกันอีกหลายรอบ เพราะต้องพิจาาณาด้านราคา อัตราดอกเบี้ยอย่างละเอียด อยากจะฝากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการ 2 เรื่องคือความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจเมื่อโครงการเกิดขึ้น และอยากให้พิจารณาความต้องการใช้เส้นทาง แต่หากจะเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ของโครงการหากเกิดขึ้นแล้ว ไทย หรือจีนที่จะได้ประโยชน์มากกว่า หากดูเงื่อนไขของการพัฒนาจะเห็นว่าเส้นทางสายนี้ ไทยจะได้ประโยชน์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ขนส่งคนและสินค้า ไม่คิดว่าจะเป็นการเปิดตลาดให้จีนเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจในไทย

"โครงการนี้ไม่ได้คุยแค่ 9 ครั้งในรัฐบาลนี้ แต่มีการเจรจามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนแรกพูดถึงรถไฟความเร็วสูง ส่วนตัวผมมองว่ารถไฟความเร็วสูงก็จะสู้กับ โลว์คอสต์ลำบาก ดังนั้นโครงการนี้อาจจะต้องคุยกันอีกหลายรอบเพื่อให้กรอบโครงการลงตัว และเกิดความคุ้มค่า"