'ชาวต่างชาติมาเกษียณในไทย ช่วยตอบโจทย์เศรษฐกิจ'
คลื่นประชากรกลุ่มผู้สูงอายุจากต่างประเทศมาเกษียณในไทยจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และอาจแก้โจทย์กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอในปัจจุบัน เป็นตัวกระตุ้นการจ้างงานที่มีรายได้คุ้มค่า และที่สำคัญคือไทยมีความพร้อมและมีทักษะเรื่องนี้เป็นระดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว
สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นตัวเสริมกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจวางแผนชีวิตในอนาคต ผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025 ซึ่งอาจทำให้คนเป็นจำนวนมากตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานออกนอกสหรัฐฯ ทั้งนี้อาจมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเข้มงวดเรื่องคนเข้าเมือง ปัญหาเงินเฟ้อ ความบาดหมางใจทางการเมือง สิทธิเสรีภาพของสตรี หรือความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น
โรคระบาดโควิดกระทบกระเทือนทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐฯ ผลเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล รวมทั้งการสูญเสียชีวิตของชาวอเมริกันกว่า 1.1 ล้านคนเป็นวิกฤติทำลายโครงสร้างของหลายครอบครัว และการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐด้วยการเพิ่มเงินหมุนเวียนในกระแสเป็นจำนวนมากทำให้เกิดเงินเฟ้อโดยเฉพาะปีค.ศ. 2022 ค่าครองชีพในปัจจุบันเป็นภาระที่ยังตกค้างอยู่ เช่น ค่าเช่าบ้าน อาหาร ค่ารักษาพยาบาล การเดินทางขนส่งและอื่นๆจนกลายเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกใช้เป็นสัญญาณให้มีการเปลี่ยนแปลง
กลุ่มคนที่มีกำลังการซื้อสูงและมีสินทรัพย์ในอัตราส่วนมากที่สุดหากเทียบกับคนทุกรุ่นคือเบบี้บูมเมอร์ (babyboomers) ซึ่งหมายถึงอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีทารกเกิดใหม่ประมาณ 4.24 ล้านคนต่อปี ระหว่างปี ค.ศ. 1946 ถึง 1964 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 76.4 ล้านคน และเป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาโดยมีทรัพย์สิน 51.8% ของความมั่งคั่งทั้งหมด
อายุขัยเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาก่อนวิกฤติโควิดอยู่ที่ 77.5 ปี สำหรับทั้งชายและหญิง โดยผู้ชายอยู่ที่ 74.8 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 80.2 ปี
แต่อายุขัยเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
2021: อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 76.1 ปี ลดลง 0.9 ปีจากปี 2020 เนื่องมาจากการเสียชีวิตจาก COVID-19 และสาเหตุอื่นๆ มากเกินไป
2022: อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 77.5 ปี เพิ่มขึ้น 1.1 ปีจากปี 2021
2023: อายุขัยเฉลี่ยลดลงเหลือ 76.4 ปี ซึ่งถือเป็นอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นที่สุดในรอบเกือบสองทศวรรษ
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้อายุขัยลดลง ได้แก่ การฆ่าตัวตาย การฆาตกรรม และโรคตับเรื้อรังเพิ่มขึ้น การบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น การเข้าสังคมน้อยลง การบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงการใช้ยาเกินขนาด การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ลดลงในช่วงที่มีโรคระบาด การรับประทานอาหารที่แย่ลง การได้รับยายากขึ้น การนอนหลับไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารแปรรูปมากเกินไป ฯลฯ
ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี สามารถช่วยตนเองได้และใช้ชีวิตตามปกติแต่ละปีจะประมาณ $57,818 หมวดหมู่การใช้จ่าย แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัย $20,632 การขนส่ง $8,172 การดูแลสุขภาพ $7,540 อาหาร $7,306 ภาษี $3,466 ความบันเทิง $2,672 เครื่องแต่งกาย $1,130 อื่นๆ $6,900 รวมทั้งสิ้นต่อปี $57,818
อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในวัยเกษียณต้องเตรียมค่ารักษาพยาบาล (จากการประเมินในปีค.ศ. 2022) โดยเฉลี่ยสองคนสามีภรรยาประมาณปีละ 41,000 ดอลลาร์ และตลอดทั้งชีวิต 315,000 ดอลลาร์
ค่าใช้จ่ายข้างต้นนั้นจะเพิ่มขึ้นสูงมากหากสุขภาพเสื่อมลงและต้องการการดูแลช่วยเหลือโดยอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา(nursing homes)
ปัจจุบันชาวอเมริกันประมาณ 1.2 ล้านคนพักอยู่ในบ้านพักคนชราประมาณ 15,000 แห่ง
ซึ่งมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 121,248 ดอลลาร์
บ้านพักคนชราให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการในที่พัก บริการพักฟื้นระยะสั้นสำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัด การเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บ ซึ่งรวมถึงการกายภาพบำบัด การบำบัดด้วยการทำงานหรือการบำบัดการพูด บ้านพักคนชราโดยทั่วไปจะมีผู้ช่วยพยาบาลและพยาบาลที่ผ่านการรับรองพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้เข้าพักยังได้รับบริการอื่นๆ เช่น การดูแลบ้านและกิจกรรมตามแผนร่วมกับผู้ช่วยและผู้เข้าพักคนอื่นๆ
ในสหรัฐอเมริกา ห้องส่วนตัวโดยเฉลี่ยในบ้านพักคนชราอยู่ที่ 10,104 ดอลลาร์ต่อเดือนหรือ 332 ดอลลาร์ต่อวัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของห้องกึ่งส่วนตัวคือ 9,167 ดอลลาร์ต่อเดือนและ 301 ดอลลาร์ต่อวัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของห้องกึ่งส่วนตัวต่อปีคือ 110,004 ดอลลาร์ และห้องส่วนตัวคือ 121,248 ดอลลาร์
นอกเหนือจากชาวอเมริกันโดยทั่วไปแล้วกลุ่มที่เริ่มโยกย้ายภูมิลำเนาจากสหรัฐอเมริกามาเกษียณในไทยนั้นคือ ชาวอเมริกันเชื้อสายไทยและชาวอเมริกันเชื้อสายประเทศเพื่อนบ้านติดกับไทยซึ่งกลุ่มนี้มีฐานใหญ่มาก (ตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา ผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีนมากกว่า 1.4 ล้านคนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา มาจากเวียดนาม ลาวและกัมพูชา)
ตัวเลขเป็นทางการก่อนโควิดคือ ชาวอเมริกันที่มาจากไทยและประเทศใกล้เคียงแบ่งเป็น เชื้อสายไทย 329,343 คน, ลาว 262,229 คน, ม้ง 320,164 คน, เวียดนาม 2,162,610 คน, เขมร 300,360 คน และกลุ่มที่เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจคือชาวพม่า 189,250 คน (ตัวเลขในปัจจุบันสูงขึ้น)
นอกจากชาวอเมริกันแล้วยังมีอีกหลายชาติซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายและจำนวนคนสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้สูงและมีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว
ตามข้อมูลปี 2021 มีชาวต่างชาติประมาณ 52,000 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยวีซ่าเกษียณอายุ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนชาวต่างชาติที่เกษียณอายุในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา (โดยมีรายงานว่าเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตาม จำนวนนี้อาจลดลงเล็กน้อยเนื่องจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และจำนวนนี้ควรจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเนื่องจากกำลังการซื้อจากต่างประเทศและความพร้อมของไทยนั้นสอดคล้องกันอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน
ความสะดวกสบายในปัจจุบันโดยเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้หลายคนไม่รู้สึกห่างเหินจากครอบครัวในต่างประเทศและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยให้การประสานงานด้านสุขภาพส่วนบุคคลและการรักษาพยาบาลโดยแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามประเทศด้วยความฉับไวรวมทั้งการเดินทางของสมาชิกในครอบครัวมาเยี่ยมเยือนจากทางต่างประเทศต่อผู้ที่มาเกษียณในเมืองไทยนั้นก็จะนำมาสู่การรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่มั่นคง
อยากเห็นการรณรงค์และพัฒนาอุตสาหกรรมตอบสนองต่อกำลังการซื้อของกลุ่มคนสูงวัยในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆเพื่อนำมาเพิ่มเสถียรภาพเศรษฐกิจเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะส่งผลเจือจุนต่อผู้สูงวัยชาวไทยที่กำลังเพิ่มจำนวนมากเช่นกันครับ