'คมนาคม'ให้เวลารฟท.60วัน ปรับแผนเดินรถขนสินค้า
"คมนาคม" สั่ง "รฟท." ปรับแผนพีพีพีเดินรถขนสินค้าเส้นแหลมฉบัง-ขอนแก่นใหม่ภายใน 60 วัน เล็งต่อขยายเดินรถอีก 160 กม. รองรับสินค้าจากเพื่อนบ้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เกี่ยวกับโครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ในการขนส่งสินค้าทางรถไฟทางคู่เส้นทาง ขอนแก่น-แหลมฉบัง ระยะทาง 516 กิโลเมตร โดยใช้รถระบบรถไฟฟ้า ว่า หลังจากการจัดสัมมนาทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน หรือ Market Sounding โครงการดังกล่าว มีข้อเสนอจากภาคเอกชนให้มีการต่อขยายการเดินรถออกไปอีก 160 ก.ม. โดยต่อจากขอนแก่นไปจนถึงหนองคาย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการขนส่งสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้เส้นทางขยายเพิ่มเป็น หนองคาย-ขอนแก่น-แหลมฉบัง ระยะทางเดินรถเพิ่มจาก516 กม.เป็น 676 กม.
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินของ รฟท.กลับไปศึกษาต้นทุนโครงการใหม่หากมีการต่อขยายเส้นทาง รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ปริมาณความต้องการในการขนส่งสินค้า และพิจารณาเรื่องการรองรับและเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมและนครราชสีมา-อุบล ที่กำลังก่อสร้างด้วย เพื่อให้รับสินค้าจากทางอีสานใต้ รวมทั้งฟีดเดอร์ขนส่งทางถนนที่รองรับการขนส่งสินค้าจากจีนผ่านมาทางจังหวัดหนองคายด้วย รวมทั้งประเทศลาว
นายอาคม กล่าวถึงรูปแบบการร่วมทุนเดินรถว่า รฟท. ได้นำเสนอให้รูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนงานทางระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล ส่วนภาคเอกชนลงทุน ขบวนรถไฟฟ้า อู่จอดและซ่อมบำรุง ในระยะเวลา 30 ปี พร้อมเงื่อนไขในการต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี แต่ที่ประชุมเห็นว่ายังขาดรายละเอียดตามข้อกฎหมายตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนฯ พ.ศ. 2556 รวมทั้งเงื่อนไขการลงทุนยังไม่สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ที่ครม. อนุมัติให้การรถไฟลงทุนเองทั้งหมดไปกนอหน้านี้ จึงให้ รฟท. กลับทบทวนรายงานผลการศึกษาฯ เพื่อนำกลับมา เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้งภายใน 60 วัน ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) พิจารณาอนุมัติ
"การเปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุนเดินรถไฟฟ้าขนส่งสินค้าเส้นทางนี้จะเปิดให้เอกชนทุกรายเข้าร่วมเสนอภาคกัน ไม่ใช่คุยกับเอกชนรายเดียวซึ่งเป็นรายที่เข้ามาเสนอตัวก่อนหน้านี้ โดยที่ปรึกษารฟท. ต้องไปทำข้อมูลรายละเอียดรูปแบบร่วมทุนมาให้ชัดเจน เพราะรางานที่นำเสนอ คณะกรรมการ พีพีพีต้องชัดเจน ต้องมีเงื่อนไขที่เอกชนต้องยอมรับและปฏิบัติ"