'บจ.ใหญ่'ลุยเทค'บริษัทนอก' หวังต่อยอดธุรกิจ
ปี2559 ที่ผ่านมา "บจ.ขนาดใหญ่" เดินหน้าเข้าซื้อกิจการบริษัทต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโต
ในยุคปัจจุบัน กระแสของการเทคโอเวอร์หรือควบรวมกิจการนั้นปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีความพร้อมทางด้านเงินลงทุน และมีศักยภาพมากพอที่จะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน นอกจากการซื้อกิจการภายในประเทศที่คึกแล้วจะเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยหลายรายต่างก้าวออกไปลงทุนในหลายภูมิภาค
สำหรับปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายรายยังคงเดินหน้าซื้อกิจการ เพื่อหวังจะต่อยอดธุรกิจและเพิ่มฐานรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ทุ่มเงินลงทุนรวมเฉียด 4 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 2 แห่ง ได้แก่ Bellisio Parent ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศสหรัฐ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานแบบ Single Serve มีส่วนแบ่งการตลาดลำดับ 3 ในสหรัฐ ภายใต้ตราสินค้า Michelinans, Boston Market, Chillins และ Atkins เป็นต้น รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้ตราสินค้า EatingWell และ EAT! โดยใช้เงินลงทุนสำหรับดีลนี้ราว 3.81 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ได้ให้บริษัท Chia Tai (China) Investment หรือ CTCI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมที่จดทะเบียนในจีน ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50.43% เข้าซื้อกิจการ COFCO Meat (Suqian) ดำเนินธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ โดยตลาดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ใช้งบลงทุนรวม 976 ล้านบาท
โดยงวด 9 เดือนแรกของปี 2559 ทาง COFCO Suqian มียอดขาย 2,590 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 99 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท
ด้านบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ทุ่มงบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าลงทุน 25% ใน "Red Lobster Master Holding" ซึ่งทำธุรกิจภัตตาคารอาหารทะเลใหญ่สุดในโลก เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ด้วยเครือข่ายร้านอาหาร Red Lobster
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวในเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และจะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากทีมบริหารของ เรด ล็อบสเตอร์ และโกลเดนเกท ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมร้านอาหารทะเลอย่างครอบคลุมและกว้างขวาง
นอกจากดีลนี้แล้ว บริษัทยังได้เข้าลงทุนซื้อกิจการเพิ่มอีก 2 บริษัท ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปล็อบสเตอร์ เล เพ็ช เชอะรี เดอ เชซ์นูส์ (Les Pecheries de Chez Nous) ในประเทศแคนาดา นอกจากนี้ยังได้เข้าลงทุนในสัดส่วน 40% ของบริษัท อะแวนติ โฟรเซ่น ฟู้ดส์ ไพรเวท ในประเทศอินเดีย ใช้เงินลงทุนประมาณ 650 ล้านบาท
ส่วนบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่ดำเนินกลยุทธ์การเติบโตด้วยการซื้อกิจการมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ ได้เข้าซื้อกิจการต่อเนื่อง คือ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษของ BP Amoco Chemical Company (BP) ในสหรัฐ โดยบริษัทนี้มีกำลังการผลิตรวม 1.8 ล้านตัน แบ่งเป็นพาราไซลีน (PX) 7.2 แสนตัน และ PTA 1.02 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็น NDC
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย มองว่า การออกไปลงทุนซื้อกิจการต่างประเทศในปีหน้าและช่วงต่อจากนี้อาจจะชะลอลงไปบ้าง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ขณะที่การลงทุนซื้อกิจการของบริษัทต่างๆ ก่อนหน้านี้ หากเป็นดีลใหญ่ๆ คงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลบวกที่ชัดเจน เพราะแต่ละดีลต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่หากเป็นการลงทุนในแถบอาเซียน อาจจะเห็นผลตอบแทนที่เร็วกว่า และการลงทุนใหม่ๆ อาจจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็เริ่มสร้างรายได้กลับมา
“การออกไปลงทุนต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนคงจะไม่แรงเท่าเดิม เพราะต้นทุนการเงินสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็อ่อนตัวลง ส่วนธุรกิจในประเทศนั้น เชื่อว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวเด่น เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะช่วยหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงแรงหนุนจากเงินบาทที่อ่อนตัวลง