จับตา 15เทรนด์ตลาดแรงงานปี 2560
จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในรอบปีผ่านมา ส่งผลต่อทิศทางของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผยรายงานระดับโลก Human Age 2.0 แรงงานแห่งอนาคต แนะเทรนด์ตลาดแรงงานปี2560 ที่เทคโนโลยีมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยุคที่กำลังจะเกิดยุคใหม่ที่เรียกว่า Human Age โดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน แรงงานจะพัฒนาตนเอง มุ่งสู่ผู้นำแต่ไม่ยึดติดตำแหน่ง พร้อมเลือกสร้างสมดุลการงาน-ชีวิต จนกลายเป็นพื้นฐานของการปรับโครงสร้างแรงงานในอนาคต ซึ่งในยุค Human Age จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
Human Age 1.0 การปรับตัวของโลกในสู่ศตวรรษที่ 20 โดยมีใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และการก้าวกระโดดของการพัฒนาทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้มีทักษะความสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านพรมแดนและระยะทางเพราะเทคโนโลยีช่วยให้ทำงานที่ใดก็ได้ในโลก กำหนดวิธี เวลา และสถานที่ที่จะทำงานได้ในรูปแบบ “การทำงานเสมือนจริง” ผ่านการเชื่อมต่อของ อินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคม
Human Age 2.0 คือ ยุคของการเกิดแรงงานแห่งอนาคต ทำให้เกิดมิติใหม่ในการทำงาน และเกิดคนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า มิลเลนเนียล ด้านของแรงงาน การขับเคลื่อนธุรกิจจะไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเงินทุนอีกต่อไป แต่จะถูกขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์แทน คือ ความรู้ความสามารถ ด้านนายจ้างจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้สร้างกำลังคนไปเป็นผู้บริโภคผลงานแทน ลูกจ้างมีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรมากขึ้น มีทางเลือกเป็นของตัวเอง แรงงานเองยังมีการพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเทรนด์การพัฒนาตนเองที่เรียกว่า “ การเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ” เพราะฉะนั้นย่อมส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานของนายจ้างเปลี่ยนไป การขึ้นค่าแรงจะถูกกำหนดด้วยทักษะ ไม่ใช่ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
นางสาวสุธิดา กล่าวอีกว่าสำหรับตลาดแรงงานในปีหน้าจะมีการมุ่งเน้นในด้านของการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการปฏิรูปทิศทางการศึกษาที่จะเป็นไปตามความต้องการของแรงงาน สหภาพแรงงานอาจจะมีบทบาทน้อยลงในนอนาคต เพราะว่ารูปแบบการทำงานเปลี่ยน พร้อมกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ อาจจะทำให้แต่ละองค์กรอาจจะต้องปรับกลยุทธ์หาพนักงานแบบ outsource มาทำงานเพิ่มมากขึ้น
ทิศทางตลาดแรงงานที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องปรับตัวในปี 2560 มีดังนี้
1. เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในโลกของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว จนกลายเป็นชีวิตเดียว
2. การทำงานจะถูกเชื่องโยงด้วยอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นนำจนถึงปลายน้ำ
3. โลกของการทำงานจะเปลี่ยนไป ทำงานที่ไหน เวลาใดก็ได้
4. โลกของการทำงานและการผลิตจะถูกพัฒนาจาก กึ่งอัตโนมัติ เป็นอัตโนมัติ และกลายเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
5. การปฏิรูปทุนมนุษย์ ในภาคแรงงาน ภาคการศึกษา และองค์กร จะก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
6. แรงงานจะแข่งขันด้วยความคิด มากกว่ากำลังแรงงาน
7. ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการแบ่งปันและการร่วมมือกันจากกับปรับอัตราค่าจ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเป็นการกระจายรายได้
8. ตลาดแรงงานจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการศึกษา ทั้งในเรื่องของหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน
9. แรงงานที่ยังไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่จะถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน อาทิ คนสูงอายุ แรงงานผู้หญิง คนพิการ
10. โครงสร้างแรงงานจะถูกปรับให้เป็นแรงงานทักษะสูงมากขึ้น
11. แรงงานจะเกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา เพื่อสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
12. ภาษาที่จำเป็นของโลกการทำงาน นอกจากภาษาที่2 อาจจะยังไม่พอต้องภาษาที่ 3 และภาษาเทคโนโลยี
13. ทิศทาง10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีแนวโน้มสดใส ทั้งปริมาณและคุณภาพ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต
14. อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึงภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จากการที่ผู้ประกอบการอยู่ในช่วงรอดูทิศทางทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก
15. อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานจะลดลงจากภาวะการจ้างงานที่เปลี่ยนไป
อีกทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ แต่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวช้าและประเทศไทยเองยังมีรูปแบบประชากรเป็นแบบลูกผสมตั้งแต่ 1.0, 2.0 และ 3.0
ประกอบกับอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก นั่นคือ ในปัจจุบันเรามีประชากร 68 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 56% เท่ากับว่า ยังคงมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้อินเตอร์น็ต และยังต้องพัฒนาอีกในหลายๆด้าน อาทิ การศึกษา แรงงาน เทคโนโลยี แต่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ก็อาจจะทำบางอาชีพหายไป
แต่ถึงกระนั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ต่างก็ต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน ความยืดหยุ่นของการทำงาน เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าความทัดเทียมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนองค์กร การหมั่นเพิ่มความรู้อยู่ตลอดเวลาก็เป็นสิ่งที่คนยุคมิลเลนเนียล ให้ความสนใจ อาทิ สมัยก่อนคนหนึ่งคนสามารถทำงานได้งานเดียว แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเป็นตัวช่วยจนทำให้คนหนึ่งคนสามารถที่จะทำงานในหลายตำแหน่ง หลายสถานที่ และในเวลาเดียวกันได้
อาจจะกล่าวได้ว่า วิธีการใหม่ๆในการทำงานจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง