คาดเงินให้สินเชื่อปี 2560 เติบโตดีขึ้นมาที่ 4%...
คาดเงินให้สินเชื่อปี 2560 เติบโตดีขึ้นมาที่ 4%... หวังแรงส่งจากมาตรการรัฐหนุนทางตรงและทางอ้อม
ประเด็นสำคัญ
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย จะเติบโตประมาณ 4.0% ในปี 2560 หลังปิดปี 2559 ด้วยอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าคาดที่ประมาณ 2.5%
• นอกจากแรงหนุนจากการผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการเดินหน้าโครงการลงทุนและงบกลางปีของภาครัฐ รวมถึงการปรับเพิ่มของราคาพลังงานที่คงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมแล้ว ฝั่งสินเชื่อรายย่อยจะมีปัจจัยบวกพิเศษจากการปลดภาระหนี้ของผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรก ผนวกกับการกลับมาทำตลาดสินเชื่อบางประเภทของผู้ประกอบการ หลังความกังวลเรื่องคุณภาพหนี้ผ่อนคลายลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
• อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันด้านราคาจะยังไม่รุนแรง จนกว่าโมเมนตัมของสินเชื่อจะชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ นอกเหนือจากตลาดลูกค้าสินเชื่อเดิมที่มีอยู่แล้ว คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่กับตลาดลูกค้าศักยภาพใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยอาศัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์และประเมินสินเชื่อ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับตลาดสินเชื่อปี 2560 ได้
คงต้องยอมรับว่าปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่ยากลำบากของธนาคารพาณิชย์ในการผลักดันผลการดำเนินงานและสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนด ภายใต้โจทย์สำคัญคือการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และการช่วยเหลือลูกค้าในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น อัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 2559 จึงมีแนวโน้มที่จะปิดปีด้วยอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ มาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5% (เดิม คาดการณ์ที่ 4.0%) ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 5
อย่างไรก็ดี เมื่อมองต่อไปในปี 2560 แล้ว เชื่อว่าทิศทางการเติบโตของสินเชื่อคงปรับตัวดีขึ้นมาที่ประมาณ 4.0% (กรอบการเติบโต 3.0-5.0%) หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาทจากปี 2559 แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เติบโตสูงกว่าเลขสองหลักก็ตาม โดยการเติบโตของสินเชื่อที่ดีขึ้นในปี 2560 ดังกล่าว สะท้อนอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน รายได้เกษตรที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยพิเศษบางประการ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนเพิ่มเติมสำหรับสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือนให้มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงระหว่างปี ดังนี้
(ดูเอกสารแนบ)
- สินเชื่อรายย่อย…นำการเติบโตของสินเชื่อรวม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าสินเชื่อรายย่อยในปี 2560 จะมีอัตราเติบโตที่ 5.5% (กรอบคาดการณ์ 4.5 – 6.5%) ตามแรงหนุนสำคัญจากสินเชื่อเช่าซื้อที่คาดว่าจะพลิกจากโอกาสที่จะหดตัวเล็กน้อย หรือไม่มีอัตราการเติบโต (0%) ในปี 2559 มาบันทึกอัตราการเติบโตที่เป็นบวกเล็กน้อยประมาณ 3% ในปี 2560 โดยมีอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากความต้องการซื้อยานยนต์เชิงพาณิชย์สอดรับกับการขยายตัวของการลงทุนและทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ขณะเดียวกันก็มีแรงหนุนอีกส่วนหนึ่งจากการปลดภาระหนี้ของผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกที่น่าจะมีจำนวนกว่า 3.2 แสนราย หรือราว 30% ของผู้ที่เข้าโครงการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วน พิจารณาเปลี่ยนรถใหม่ได้
ขณะที่ ลูกค้ากลุ่มที่กำลังจะปลอดภาระรถคันแรกดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญสำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ ในปี 2560 โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันดังเช่นสินเชื่อหลังสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มมีแรงส่งของการฟื้นตัวที่ดีขึ้น อันน่าจะมีนัยที่ดีต่อคุณภาพสินทรัพย์ในระยะข้างหน้า
กระนั้นก็ดี สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยนั้น คาดว่าจะเห็นอัตราการเติบโตในระดับที่ไม่หนีไปจากภาพปี 2559 เนื่องจากยังไม่มีแรงหนุนพิเศษเพิ่มเติม อาทิ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ จึงทำให้คาดว่าจะเห็นภาพอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในระดับทรงตัว อีกทั้งสินเชื่อกลุ่มนี้ยังเผชิญแรงกดดันจากหนี้เสียที่ขยับขึ้นค่อนข้างเร็วกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจะยังคงใช้นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวัง ส่วนแคมเปญการแข่งขันด้านราคา หรือการรีไฟแนนซ์ที่คาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2560 นั้น แม้จะช่วยให้สถาบันการเงินผู้เล่น สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดมาได้จากผู้เล่นรายอื่น แต่ก็คงไม่ได้หนุนภาพการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยรวม
- สินเชื่อธุรกิจเติบโตดีขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์...คาดหวังแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ และการฟื้นตัวของราคาสินค้าและพลังงาน ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าผู้ประกอบการบางส่วนจะหันไปให้น้ำหนักกับการระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้การเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจเติบโตได้ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในปี 2560 จะมีหลายปัจจัยหนุนที่ช่วยให้สินเชื่อภาคธุรกิจเติบโตได้ดีขึ้นสู่ระดับ 2.0 – 4.0% (ค่ากลางที่ 3.0%) จากที่อาจทำได้เพียง 1.5% ในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและอานิสงส์จากงบกลางปีที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการเบิกจ่ายลงสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงประมาณกลางปี 2560 อันจะช่วยให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวกลับมามีบทบาทในพอร์ตสินเชื่อภาคธุรกิจมากขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานในตลาดโลกที่น่าจะพลิกกลับสู่ขาขึ้นในปีหน้า ผนวกกับการส่งออกที่มีโอกาสฟื้นตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี คงช่วยผลักดันสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2559
- ภาพรวมการแข่งขันด้านราคาสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ น่าจะยังไม่รุนแรง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีที่กิจกรรมการปล่อยสินเชื่อยังอยู่ในจังหวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางปัจจัยฤดูกาลและการรอแรงส่งจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเห็นผลชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ แม้ว่าต้นทุนการกู้ยืมของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ที่มีการใช้สินเชื่อที่อ้างอิงกับดอกเบี้ยลอยตัวจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็น่าจะสะท้อนผลจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ที่ขยับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เงินเฟ้อ และปัจจัยด้านอุปทานตราสารหนี้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น มากกว่าประเด็นด้านการแข่งขัน เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาของลูกค้ากลุ่มนี้ มีความรุนแรงมากอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลึกลงไปในระดับประเภทผลิตภัณฑ์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเห็นการใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาสำหรับการบุกตลาดสินเชื่อรายย่อยบางประเภท อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อการรีไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อบุคคลในกลุ่มระดับรายได้ปานกลางถึงสูง เพื่อช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโดยที่ลดความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ ซึ่งก็ยังเป็นภาพที่ไม่หนีไปจากปี 2559 ที่ผ่านมานัก
- นอกเหนือจากตลาดลูกค้าสินเชื่อปัจจุบันแล้ว คาดว่าในปี 2560 จะเห็นธนาคารพาณิชย์เร่งพัฒนาเทคโนโลยี และระบบข้อมูล Big Data ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ควบคู่กับการหา Business Model ใหม่ เพื่อยกขีดความสามารถในการประเมินความเสี่ยงเครดิต ซึ่งจะเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับตลาดศักยภาพใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ตลาดธุรกิจที่มีขนาดเล็กลง ลูกค้าบุคคลที่มีระดับรายได้ต่ำลง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงสินเชื่อค่อนข้างจำกัดในระยะที่ผ่านมา (Underserved) หรือลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานทางการเงินที่เพียงพอในการพิจารณาสินเชื่อด้วยเงื่อนไขและระบบปัจจุบัน เช่น ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ/หลักฐานเงินเดือนที่ชัดเจน หรือธุรกิจที่ขายสินค้าออนไลน์ อันเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า ท่าทีของทางการไทยในการอนุญาตให้มีผู้เล่นใหม่ๆ ในบริการใหม่ๆ อาทิ Peer-to-Peer Lending (P2P) ในปี 2560 รวมถึง Reversed Mortgage และ Pico Finance คงช่วยกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัวมากยิ่งขึ้น และสร้างสีสันให้กับตลาดสินเชื่อในปี 2560 ได้ไม่มากก็น้อย