'บิ๊กตู่' สั่งตั้งคกก.ขับเคลื่อนนโยบายอีอีซี
"รมว.อุตสาหกรรม" เผย "นายกรัฐมนตรี" สั่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอีอีซี กำชับทำ 5 เรื่องสำคัญให้เสร็จในปีนี้
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์นัดแรก ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่มาคอยดูแลในเชิงนโยบาย และทำหน้าที่ตัดสินใจดำเนินการในกรณีที่มีประเด็นใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการปลดล็อคเพื่อผลักดันให้อีอีซีเดินหน้าได้
สำหรับประเด็นที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซี พิจารณาจะมาจากคณะกรรมการบริหารและพัฒนาพื้นที่อีอีซีทำหน้าที่รายงานตรงให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาทำงานร่วมกัน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เลขาธิการสศช. นายสุวิทย์ เมษินทรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลพื้นที่ กองทัพเรือ นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะทำงานด้านการลงทุนในอีอีซี นายคณิต แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลัง นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นต้น
นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะทำงานด้านการลงทุนในอีอีซี กล่าวว่า อีอีซีจะเป็นโครงการหลักที่จะเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างแท้จริง นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า การแข่งขันในโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เช่นสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ทุกประเทศจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุน ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำโครงการอีอีซีให้สำเร็จให้ได้ นายกรัฐมนตรีจึงให้ความสำคัญกับโครงการอีอีซีมาก โดยเฉพาะในช่วงปีแรกเพราะจะเป็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติโดยรวม
สำหรับการทำให้โครงการอีอีซีสำเร็จจะต้องดำเนินการ 5 ด้านหลักไปพร้อมๆกัน ประกอบด้วย 1.โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมแล้ว ส่วนพื้นที่สำหรับจัดให้เป็นโซนอุตสาหกรรมการบิน มีบริษัทโบอิ้ง และแอร์บัส ให้ความสนใจ 2.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงกับโลกได้มากขึ้น 3.รถไฟความเร็วสูง มีความสำคัญมาก จะเชื่อมโยงจากกรุงเทพฯถึงระยอง โดยจะต้องเชื่อมโยงสนามบิน 3 แห่งคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งสศช.ได้จัดทำแผนไว้แล้ว 4.อุตสาหกรรมไฮเทค บางกรณีอาจจะต้องเจรจาเป็นกรณีพิเศษ สำหรับอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการอย่างแท้จริง และ 5.เมืองใหม่