'อรรชกา' ดึง 'งานวิจัย' ต่อยอดธุรกิจเอกชน
"อรรชกา” เร่งนโยบายเปลี่ยนกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นแม่เหล็กดึงดูด “วิจัยเอกชน” พร้อมแผนพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดผนึกกำลัง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็น 1 ใน 7 กระทรวงเศรษฐกิจที่ร่วมเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในปีนี้ได้รับงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรระดับปริญญาเอกมากถึง 900 คน แต่โจทย์ใหญ่คือการส่งต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากการทำวิจัย ไปยังภาคธุรกิจเอกชนยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เปิดเวทีโชว์งานวิจัยให้เอกชนช้อป
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าได้สั่งให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาจัดแสดงรวมกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนเห็นผลงานทั้งหมดแล้วเลือกช้อปในสิ่งที่ต้องการ มีกิจกรรมนักวิจัยพบผู้ประกอบการตลอดจนการประชุมภาคอุตสาหกรรมรายเซกเตอร์ หาโจทย์วิจัยร่วมกันเป้าหมายเพื่อสร้างช่องทางเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
"ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายังไม่เห็นโปรแกรมที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มาทำงานร่วมกับกระทรวง อาจเป็นเพราะทำวิจัยอยู่แล้ว หรือบางทีก็เลือกใช้บริการจากมหาวิทยาลัย อย่างกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน เข้าไปตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรม 300 ล้านบาทในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แม้จะมีบ้างที่รายใหญ่มาทำวิจัยกับเราแต่ก็ไม่ใช่เงินก้อนโต ไม่ใช่โครงการวิจัยใหญ่ๆที่เป็นเรื่องเป็นราว”
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการงานวิจัยอีกมาก ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ขณะที่กระทรวงก็มีงานวิจัยและนักวิจัยอยู่มากเช่นกัน จึงต้องหาทางออกให้ทั้งสองฝ่าย โดยแนวทางดีที่สุดคือ เอกชนรายใหญ่ต้องส่งโจทย์ความต้องการให้กระทรวง หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำมากขึ้นหากกระทรวงสามารถเชื่อมต่อได้สำเร็จ ร่วมกับการดำเนินนโยบายเมืองนวัตกรรมอาหาร การบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานธุรกิจและการเกิดขึ้นของอุทยานวิจัยรองรับการลงทุนในเขตพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี จะทำให้ตัวเลขการลงทุนวิจัยของประเทศแตะ 1% ของจีดีพีได้ก่อนสิ้นปีหน้า
บ่มเพาะสตาร์ทอัพ 6 หมื่นคนปีนี้
สำหรับแผนงานการบ่มเพาะสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติถือเป็นแม่งานขับเคลื่อนหลักอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีก่อน เริ่มจากสร้างการรับรู้ในสังคมไทยถึงความแตกต่างจากเอสเอ็มอี ซึ่งส่งผลต่อการจัดทำร่างแผนงานต่างๆ ของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีการจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ในปี 2559 ถือเป็นครั้งแรกที่มีเวทีเฉพาะของธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมทั้งเกิดคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ
ส่วนแผนงานปี 2560 มุ่งพัฒนาเครือข่ายสร้างบุคลากรผ่านโครงการ “มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” ร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พัฒนาหลักสูตรอบรมอาจารย์และนักศึกษาเพื่อสร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการ ตั้งเป้าจำนวนผู้รับการอบรม 6 หมื่นคนใน 30 มหาวิทยาลัย ทั้งยังสนับสนุนให้มีโคเวิร์คกิ้งสเปซในมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่ทำสตาร์ทอัพ
ภายใต้โครงการนี้ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ 550 ราย จากนักศึกษาที่มีศักยภาพหรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วไม่เกิน 7 ปี แล้วนำมาบ่มเพาะภายใต้กองทุนสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา วงเงิน 2.5 พันล้านบาท ส่วนเงื่อนไขการสนับสนุนสำนักงานกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ในเดือน ก.ค.นี้ทั้งเวทีสัญจรภูมิภาคและส่วนกลาง สร้างความตื่นตัวให้กับวงการและการรับรู้ในสังคม ภายในงานจะจัดแข่งขันเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพแห่งปีเพื่อรับการสนับสนุนจากกองทุนหรือนักลงทุนอีกด้วย
“อีกสิ่งที่จะเห็นชัดเจนขึ้นคือ การจัดตั้งย่านวิสาหกิจเริ่มต้นและย่านนวัตกรรม (startup & innovation district) 4 พื้นที่ นำร่องในกรุงเทพฯ เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยในมหาวิทยาลัยกับเอกชนในพื้นที่ รวมถึงเปิดพื้นที่รองรับโคเวิร์คกิ้งสเปซด้วยด้วย ได้แก่ ย่านโยธี ,สามย่าน,กล้วยน้ำไทและคลองสาน โดยมีแกนกลางของแต่ละย่านคือ สำนักงานนวัตกรรมฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตามลำดับ
ตั้งอุทยานวิทย์ใหม่ 1 พันไร่รองรับอีอีซี
นางอรรชกา กล่าวถึงภารกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนา ว่าโครงการที่มีความก้าวหน้าและเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมคือ เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส ได้เชิญชวนให้บริษัทเข้ามาลงทุนวิจัยสร้างนวัตกรรมในพื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ทั้งยังขยายขอบเขตไปยังมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและศักยภาพ เช่น มหิดล ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงบางส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รองรับการเข้ามาทำวิจัยของภาคเอกชนในโครงการ จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากบีโอไอ ล่าสุดมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 รายเตรียมจะทำสัญญาเช่าใช้พื้นที่ อีก 17 อยู่ระหว่างพิจารณาตัดสินใจ แต่อีก 49 รายยังไม่ตัดสินใจซึ่งต้องคุยในรายละเอียดอีกครั้ง
ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้ให้ สวทช. ดำเนินการจัดหาพื้นที่ 1-2 พันไร่ ในพื้นที่จ.ระยอง เพื่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิจัยรองรับความต้องการตั้งศูนย์วิจัยของภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขความเหมาะสมของพื้นที่ระหว่าง ปตท.กับกองทัพเรือ คำตอบจะต้องได้ก่อนวันที่ 5 เม.ย. นี้ ซึ่งบอร์ดอีอีซีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะประชุมในพื้นที่ สนามบินอู่ตะเภา
สวทช.ประเมินเบื้องต้นว่า ควรจะเน้น 2 เซกเตอร์ คือระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะสนับสนุนกระบวนการผลิต ถัดมาเป็นไปตามความสนใจของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น ไบโอเคมีคัล ไบโออีโคโนมี และเทคโนโลยีด้านชีวภาพระดับสูง โดยจะดึงมหาวิทยาลัยมาร่วมเป็นเน็ตเวิร์คด้วย
“เหล่านี้คือบทบาทและหน้าที่ของกระทรวงวิทย์ฯ ที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฯ เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน และนำประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0”