ทำไม Startup ในไทยไม่ค่อยประสบความสำเร็จ?
ผู้ประกอบการชาวไทยที่ประสบความสำเร็จมีจำนวนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ปัจจุบันหลายภาคส่วนพากันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจ Startup เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลก แต่จากสถิติของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กลับพบว่า ผู้ประกอบการชาวไทยที่ประสบความสำเร็จมีจำนวนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ดร.ศศิรินทร์ สายะสนธิ หัวหน้าภาควิชาการสร้างเจ้าของธุรกิจ (หลักสูตรภาษาไทย) คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารกิจการ จะมาไขความลับดังนี้
Startup ต้องอาศัยองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่จึงมักมีความมั่นใจและใส่ใจในเรื่องดังกล่าวเกินไป กระทั่งละเลยหรือลืมมองรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดขึ้น
แต่เมื่อผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวมาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้จะเห็นโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นในการทำธุรกิจครั้งต่อไป โดยนำประสบการณ์ที่ผิดพลาดมาปรับปรุงธุรกิจครั้งใหม่นั่นเอง
2. เป็นคนดีของสังคมโลกเกินไป
ทุกหน่วยงานสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ Startup คิดค้นนวัตกรรม ห้ามเหมือนใคร ทำให้พวกเขาไม่กล้าจะลอกเลียนรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสามารถดูตัวอย่างธุรกิจที่มีอยู่แล้วและนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
ถ้าสังเกตจะพบว่า ธุรกิจ Stratup ที่ประสบความสำเร็จหลายๆ รายมีรูปแบบไม่ค่อยต่างกันนัก เช่น Alibaba ที่มีความคล้ายคลึงกับ eBay หรือ Grab Taxi ที่พัฒนารูปแบบมาจาก Uber
3. นโยบายรัฐที่ผิดพลาด
รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเป็น Startup โดยอิงกระแสโลกและยกตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจเพียงไม่กี่ราย ทั้งๆ ที่อัตราการประสบความสำเร็จนั้นยากยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่ นั่นแสดงให้เห็นว่านโยบายอาจไม่เหมาะสมกับบริบทของไทยหรือขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า
จริงๆ แล้วประเทศไทยควรสร้างผู้ประกอบการลักษณะใดกันแน่ หนึ่งในตัวอย่างนโยบายที่ผิดพลาดคือ การทุ่มเงินหลายพันล้านเพื่อสร้างผู้ประกอบธุรกิจ Startup ผ่านมหาวิทยาลัยบางแห่ง โดยที่คณาจารย์ส่วนใหญ่ไม่เคยสร้างธุรกิจมาก่อน
นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนให้สร้างและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ แต่กลับไม่คำนึงถึงการสร้างคนซื้อไปพร้อมๆ กัน ทำให้มีคนขายมากกว่าคนซื้อ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งจากภายในและต่างประเทศ
4. ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากลูกค้า
ผู้ประกอบธุรกิจ Startup ที่ล้มหายไป ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกอาจจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้เพราะความแปลกใหม่ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะก็เริ่มขายไม่ออก ลูกค้าไม่ซื้อซ้ำ หรือไม่สามารถสร้างลูกค้ารายใหม่ๆ ได้ เมื่อประสบปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนก็จำเป็นต้องเลิกกิจการไป ดังนั้นหากสามารถหาวิธีมัดใจลูกค้าอย่างต่อเนื่องได้ กิจการก็จะอยู่รอด
5. ใช้เงินสูงเกินไปในการเริ่มต้นธุรกิจ
ผู้ประกอบธุรกิจมักลงทุนตามอารมณ์หรือวาดฝันอย่างสวยหรูมากเกินไปเพราะคิดว่าเงินเหล่านั้นคือการลงทุน สักพักก็จะได้กำไรคืนกลับมา โดยลืมไปว่าการใช้เงินมากเกินในการเริ่มต้นธุรกิจหมายถึงต้นทุนที่สูงมากขึ้น โอกาสในการได้ทุนคืนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น นำเงินไปสร้างสำนักงานที่สวยหรูหรือซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น
6. Startup มีวงจรชีวิตที่ค่อนข้างสั้น
Startup เป็นธุรกิจที่อิงกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มักมาไวและไปไว อันส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่น เกม Pokemon GO ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงแรก แต่ปัจจุบันแทบไม่มีใครให้ความสนใจ จึงจะเห็นได้ว่าธุรกิจประเภทนี้มีการเติบโตที่รวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันอายุขัยของธุรกิจก็สั้นด้วยเช่นกัน การปรับตัวที่รวดเร็วให้ทันกระแสสังคมจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจ Startup เป็นอย่างยิ่ง
7. พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยยังไม่สอดคล้องกับธุรกิจ Startup
ข้อนี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะลูกค้าจะเข้าถึงสินค้าและบริการของธุรกิจ Startup ได้นั้นต้องอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ทำให้กลุ่มลูกค้าแคบลง จริงอยู่ว่าการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในประเทศไทยแพร่หลายขึ้นมาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นการใช้งานเฉพาะกลุ่มอยู่ดี พฤติกรรมดังกล่าวจึงยังไม่ค่อยเอื้อกับธุรกิจ Startup เท่าที่ควรถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ
แม้การทำธุรกิจ Startup ในเมืองไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามถ้าได้ศึกษาและผ่านกระบวนการบ่มเพาะการสร้างเจ้าของธุรกิจอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จริงในการทำธุรกิจ โอกาสในการประสบความสำเร็จก็ยังพอมองเห็นว่าอยู่ไม่ไกลเกินคว้า