'ไทยวา'ลุยCLMV ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน
แม้นั่งกุมบังเหียน 'ไทยวา' แค่ 2 ปี ทว่า 'โฮ เรนฮวา' ส่งคำมั่นสัญญา ไม่เกิน 5 ปี พร้อมขึ้นแท่น ผู้นำธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้นในอาเซียน หลังเล็งซื้อกิจการซีแอลเอ็มวี
ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันของ บมจ.ไทยวา หรือ TWPC ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง 'เบอร์หนึ่งในประเทศไทย' ถือเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับ 'ผลกำไรสุทธิ' ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 ที่ทำได้ดีสุดเพียง 134.62 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้สูงถึง 162.66 ล้านบาท
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ TWPC มีกำไรสุทธิหดตัว 17% เกิดจากการมียอดขายลดลง 7% เนื่องจากราคาขายถัวเฉลี่ยแป้งมันสำปะหลังส่งออกลดลง 13% ซึ่งหัวมันสำปะหลัง ถือเป็นต้นทุนวัตถุดิบสำคัญในการผลิตของบริษัท สะท้อนผ่านการมีสัดส่วนเฉลี่ย 70% ของต้นทุนการผลิต
ทว่าราคาหัวมันสำปะหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และอุปสงค์อุปทาน ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทพยายามป้องกันความเสี่ยงในหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้น คือ สำรวจวัตถุดิบในแหล่งเพาะปลูกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยไทย เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
'ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 แนวโน้มราคาขายถัวเฉลี่ยแป้งมันสำปะหลังอาจกลับมาดีขึ้น ขณะที่ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังก็จะเติบโตขึ้นเช่นเดิม'
'โฮ เรนฮวา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ.ไทยวา ยืนยันผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ก่อนจะแจกแจงผ่านธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (ปี 2560-2564) ว่า บริษัทวางเป้าหมายจะขึ้นแท่น ผู้นำธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา,สปป.ลาว,เมียนมา และเวียดนาม)
หลังกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง และยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการวัตถุดิบของบริษัทได้เป็นอย่างดี
เมื่อถามถึงกลยุทธ์เพื่อให้ได้ตำแหน่งนี้มาครอบครอง นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ วัย 35 ปี ตอบว่า บริษัทเตรียมงบลงทุน ในช่วงปี 2560-2562 ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิต ,เข้าซื้อกิจการ (M&A) และดำเนินโครงการใหม่ๆในกลุ่มประเทศ CLMV
ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ ในการเข้าซื้อกิจการเกี่ยวเนื่องในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีขนาดประมาณ 500 ล้านบาท (ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง) หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หรือต้นปี 2561 อาจมีความชัดเจนเรื่องพันธมิตรประมาณ 1-2 ราย
'การเข้าซื้อกิจการในประเทศกลุ่ม CLMV ถือเป็นการรองรับกำลังการผลิตใหม่ของบริษัท'
ผู้นำองค์กร ยืนยันว่า การเข้าซื้อกิจการจะดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยบริษัทจะคำนึงถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรือ ROE ที่อยู่ระดับ 13.60% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA ที่อยู่ 15.06%
ขณะเดียวกันในแง่ของแหล่งเงินลงทุนทั้งหมดจะมาจากกระแสเงินสดเป็นหลัก จากปัจจุบันมีอยู่ 1,757 ล้านบาท ถือว่า เพียงพอต่อการรองรับในการขยายธุรกิจในอนาคต ส่วนในฟากของโปรดักท์จะเน้นสินค้า High Value-Added เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเทศ ถือเป็นการช่วยเพิ่มมาร์จิ้นให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังจะลงทุนพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารและแป้งมัน ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วยรายได้จากตลาด CLMV ประมาณ 20% คาดว่า ภายใน 3-5 ปี ข้างหน้า สัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 30%
'ครึ่งปีหลังจะเน้นเรื่องส่งออก และขายสินค้า High Value-Added มากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ'
เมื่อถามถึงเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวม เขา ตอบว่า บริษัทต้องขยายตัวบน 'ตัวเลขสองหลัก' เชื่อว่า ทำได้แน่นอน เพราะนอกจากจะมีแผนพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆแล้วยังเดินหน้าทำงานในต่างแดนอย่างต่อเนื่องด้วย
ล่าสุดได้จัดตั้ง บริษัท ทีดับบลิวพีซี อินเวสเมนท์ (กัมพูชา) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง คาดว่า โรงงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2560 ซึ่งรายได้จากกิจการนี้จะเป็นแหล่งทำเงินหลักอีกตัวของบริษัท เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันยังได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อบริษัท ไทยวาเวียดนาม เพื่อก่อสร้างโรงงานวุ้นเส้นแห่งแรกในนครโฮจิมินห์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560
ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปทำตลาดในประเทศเวียดนามแล้ว 1 ปี ทำให้มองเห็นโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ๆ หลังประชากรเวียดนามรับประทานอาหารประเภทเส้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้มีความต้องการจำนวนมาก ที่สำคัญตลาดวุ้นเส้นในเวียดนามยังไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ๆ
'นอกจากจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับอาหารอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการของคนท้องถิ่น หลังบริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) เป็นเวลา 6 ปี'
'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' เล่าต่อว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และ กลุ่มผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและก๋วยเตี๋ยว เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในส่วนของ กลุ่มผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง ปัจจุบันมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศประมาณ 20% และส่งออกประมาณ 80% อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กุหลาบ” (ROSEBRAND)
สำหรับสถานการณ์ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะต้องสู้กับผู้ผลิตในประเทศแล้วยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในแถบอาเซียนอย่าง เวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว หลังเสนอราคาแป้งที่ถูกกว่าประเทศไทย
สำหรับคู่แข่งในประเทศที่มีศักยภาพใกล้เคียงหรือใหญ่กว่าบริษัทมีด้วยกัน 5-6 ราย ส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์ด้านราคา ตรงข้ามกับบริษัทที่นิยมใช้กลยุทธ์ทางด้านคุณภาพและการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลามาเรียกลูกค้า
จากกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบคู่แข่งขัน เพราะนอกจากการมีชื่อเสียงที่ดีในแง่ของคุณภาพสินค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าตรากุหลาบยังเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะในประเทศไต้หวัน และเมืองจีน
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจเมืองจีนที่ยังคงชะลอตัว แต่ความต้องการใช้แป้งมันสำปะหลังยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการระบายสต๊อกแป้งข้าวโพดราคาต่ำในจีนออกสู่ตลาด ขณะที่ปีก่อนปริมาณการส่งออกแป้งมันสำปะหลังของเมืองไทยอยู่ ระดับ 4.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ10% จากปี 2558 ที่มีปริมาณส่งออก 3.85 ล้านตัน
เขา เล่าต่อว่า สำหรับ 'กลุ่มผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและก๋วยเตี๋ยว' ที่ผ่านมาได้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการขายในประเทศคิดเป็น 92% ของยอดขายทั้งหมดของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้
ส่วนกลุ่มลูกค้าส่งออก บริษัทมีสัดส่วนการขายคิดเป็น 8% ของยอดขายทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ เน้นส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
สำหรับอัตราการเติบโตปกติของตลาดวุ้นเส้น มักจะมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 3-5%ต่อปี โดยรวมของอุตสาหกรรมวุ้นเส้นในประเทศไทย มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้แข่งขันมากราย เพราะวุ้นเส้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายกัน แตกต่างกันที่คุณภาพและราคา
ในตลาดมีผู้ผลิตรายใหญ่ประมาณ 4 ราย และมีผู้ผลิตขนาดกลางและเล็กอีกประมาณ 10-15 ราย ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตวุ้นเส้นรายใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ โดยผลิตและจำหน่ายสินค้าทุกระดับคุณภาพสู่ตลาด มีกำลังผลิตปีละ 23,000 ตัน
'การบริโภควุ้นเส้นในประเทศมีประมาณปีละ 37,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 3,400 ล้านบาท'
'เจเนอร์เรชั่น3' บอกว่า กลุ่มบริษัทมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง 5 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศไทย 4 แห่ง และประเทศเวียดนาม 1 แห่ง ในส่วนของโรงงานในประเทศไทยตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา กาฬสินธุ์ อุดรธานี และกำแพงเพชร มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 375,000 ตันต่อปี ส่วนโรงงานที่ตั้งอยู่ประเทศเวียดนามมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40,000 ตันต่อปี และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ประมาณ 80% ของกำลังการผลิตต่อปี
สำหรับโรงงานผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและก๋วยเตี๋ยว ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่รวม 230 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา โดยมีกำลังการผลิตวุ้นเส้นประมาณ 23,000 ตันต่อปี ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่มีกำลังการผลิต 5,400 ตันต่อปี ปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 70%
ส่วน 'ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส' ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฟสแรกในจังหวัดอุดรธานี กำลังการผลิต 2.8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส3 ปี 2560 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับบริษัทได้ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี
ส่วนโรงไฟฟ้าเฟสที่ 2-3 ในจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563 และหากสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ทั้ง 3 เฟส บริษัทจะมีกำลังการผลิตทั้งหมดไม่เกิน 8 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้ 100 ล้านบาทต่อปี
นายใหญ่ ไม่ลืมที่จะวิเคราะห์แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาหัวมันสำปะหลังสดว่า ยังคงจะขึ้นอยู่กับภาวะอุปสงค์และอุปทานของวัตถุดิบ เช่นเดียวกับราคาขายของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มักเคลื่อนไหวตามต้นทุนวัตถุดิบ
ในปี 2559 ราคาซื้อหัวมันสำปะหลังสดของกลุ่มบริษัทในประเทศไทยอยู่ที่ 1,150 - 2,260 บาทต่อตัน ส่วนราคาซื้อหัวมันสำปะหลังสดของบริษัทในประเทศเวียดนามอยู่ที่ 1,880 - 3,110 บาทต่อตัน
บริษัทจะรับซื้อหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนรับซื้อจากลานมัน ทั้งนี้หากเป็นช่วงที่หัวมันสำปะหลังในแถบพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานมีไม่เพียงพอ บริษัทจะรับซื้อหัวมันสำปะหลังจากลานมันในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อจัดหาวัตถุดิบป้อนโรงงานให้สามารถผลิตสินค้าได้
'โฮ เรนฮวา' ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า ยังคงมีแผนจะเดินทางไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ (โรดโชว์) อย่างต่อเนื่อง จากปีก่อนที่เดินทางไปสิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฮ่องกง
ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือครองหุ้นเกือบเต็มเพดานเฉลี่ย 50-55% ทำให้มีกองทุนต่างประเทศบางแห่ง แนะนำให้บริษัทเพิ่มเพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ
'หุ้น TWPC มี P/E ต่ำเพียง 14-15 เท่า และปีที่ผ่านมามีการเติบโตของรายได้ราว 12% สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตอกย้ำความสวยปิดท้าย
'ส่งอาหารสำเร็จ' เจาะตลาด 'อเมริกา-ยุโรป'
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ.ไทยวา บอกว่า บริษัทมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของ 'อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง' (Ready-to-cook) โดยเฉพาะในทวีปอเมริกา และยุโรป ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาตัดสินใจเปิดตัวสินค้าใหม่ ภายใต้แบรนด์ “มังกรคู่ เอเชียนอินสไปร์” ซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (Ready-to-cook) 5 เมนู
ประกอบด้วย วุ้นเส้นอบซอสพร้อมปรุง,ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยพร้อมปรุง,ก๋วยเตี๋ยวผัดกระเพราพร้อมปรุง , ก๋วยเตี๋ยวผัดแกงเขียวหวาน และก๋วยเตี๋ยวต้มยำพร้อมปรุง โดยจะวางขายทั้งในประเทศและส่งออก
'จุดเด่น' ของสินค้าตัวใหม่ คือ เป็นวุ้นเส้นและก๋วยเตี๋ยวสูตรเฉพาะที่ให้ความเหนียวนุ่ม พร้อมปรุงที่มาพร้อมกับ Signature ซอสที่ให้ความกลมกล่อม อีกทั้งวัตถุดิบที่ได้รับการคัดสรรและผลิตอย่างพิถีพิถัน และใส่ใจในการนำเสนออาหารที่ดีต่อสุขภาพ คาดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และชื่นชอบในการประกอบอาหาร ที่เน้นความสะดวก
'เรามีกลยุทธ์ในการเจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าในทวีปอเมริกาและยุโรป หลังตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก ประหยัดเวลา รวมถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารรสชาติแบบเอเชียที่กำลังเป็นที่นิยม'