‘กรมที่ดิน’ ฉุด ‘เขากระโดง’ นับหนึ่ง บทพิสูจน์ ‘การเมือง’ เหนือ ‘ยุติธรรม’

‘กรมที่ดิน’ ฉุด ‘เขากระโดง’ นับหนึ่ง บทพิสูจน์ ‘การเมือง’ เหนือ ‘ยุติธรรม’

หากพิจารณาจากเอกสารชี้แจงของ “กรมที่ดิน” ฉบับล่าสุด จะเห็นได้ว่า ต้องการให้กระบวนการเพิกถอนที่ดิน “เขากระโดง” ดังกล่าวย้อนกลับไป “นับหนึ่ง” ใหม่ ทั้งที่ผ่านคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดมาแล้วหลายครั้งก็ตาม

KEY

POINTS

  • ปมที่ดิน “เขากระโดง” ปัญหาที่สะสางไม่จบมาหลายสิบปี กลับมาคุกรุ่น
  • “กรมที่ดิน” กำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เมื่อฉุดให้เรื่องนี้กลับไป “นับหนึ่ง” อีกครั้ง
  • มติคณะกรรมการสอบสวนฯตาม ม.61 เอกฉันท์ ไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิ
  • ทั้งที่คำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดหลายสำนวนชี้ชัด ข้อเท็จจริงที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของ รฟท.
  • จับตาเผือกร้อน “ฝ่ายการเมือง” บทพิสูจน์ชี้นำกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

กรมที่ดิน” กำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” อย่างแท้จริง เนื่องจากยังไม่สามารถ “สะสาง” ข้อพิพาทสำคัญที่ลากยาวมาหลายสิบปีอย่างกรณี “ที่ดินเขากระโดง” ลงได้ 

แม้ว่าข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลอื่นที่เกี่ยวข้อง จะแสดง “หลักฐานเชิงประจักษ์” ยืนยันตรงกันว่า ที่ดินกว่า 5,083 ไร่บริเวณเขากระโดง ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 12 แปลง 288 ไร่ อยู่ในชื่อคนตระกูล “ชิดชอบ” ทั้งในนามบุคคล-นิติบุคคล เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ก็ตาม

ล่าสุด กรมที่ดิน ออกเอกสารชี้แจงอย่างเป็นทางการ นับเป็น “ฉบับที่ 3” เข้าไปแล้ว อ้างว่า คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ มีมติเอกฉันท์ “ไม่เพิกถอน” หนังสือแสดงสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดงนั้น ทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตามข้อกฎหมาย โดยอ้างว่าให้ รฟท.ไปพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลอีกครั้ง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ว่า รฟท.เคยทำหนังสือขอ “อุทธรณ์” มติดังกล่าวไป โดยยกข้อกฎหมายว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯของกรมที่ดินดังกล่าว “ส่อโมฆะ” เนื่องจากตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องแต่งตั้งประธานและกรรมการอย่างน้อย 5 คน แต่คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อ 12 พ.ค.2566 กลับแต่งตั้งเพียงแค่ 4 คน ดังนั้นคณะกรรมการสอบสวนฯ เรื่องดังกล่าว จึงไม่อาจพิจารณา หรือมีมติใดๆ ได้ และมติหรือความเห็นใดๆ ที่ออกมาจึงไม่มีผลผูกพัน และไม่อาจบังคับใช้ได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ ยังเดินเรื่องฟ้องศาลปกครองอีกรอบ เพื่อสะสางปัญหานี้ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

สำหรับสาระสำคัญในหนังสือของ “กรมที่ดิน” ฉบับที่ 3 ระบุว่า การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 นั้น กรมที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีของศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามนัยมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยกรมที่ดินไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วนกรณีคำพิพากษาศาลปกครองนั้น กรมที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว โดยคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ได้มีมติเอกฉันท์ “ไม่เพิกถอน” ที่ดินเขากระโดง

ขณะที่การรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดินพิจารณายุติเรื่องการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ นั้น รฟท.ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดิน ที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 แต่คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

‘กรมที่ดิน’ ฉุด ‘เขากระโดง’ นับหนึ่ง บทพิสูจน์ ‘การเมือง’ เหนือ ‘ยุติธรรม’

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯจึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท.

อธิบดีกรมที่ดิน จึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา ว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 พร้อมทั้งแจ้งให้ รฟท.ทราบว่า หาก รฟท.เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป

หากพิจารณาจากเอกสารชี้แจงของ “กรมที่ดิน” ฉบับล่าสุด จะเห็นได้ว่า ต้องการให้กระบวนการเพิกถอนที่ดิน “เขากระโดง” ดังกล่าวย้อนกลับไป “นับหนึ่ง” ใหม่ ทั้งที่ผ่านคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดมาแล้วหลายครั้งก็ตาม

น่าสนใจ “กรมที่ดิน” ยุคปัจจุบันอยู่ภายใต้บังเหียนของ “มท.1” ที่ชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย สวมหมวกอีกใบคือ “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ที่มี “ครูใหญ่” ชื่อ “เนวิน ชิดชอบ” จะกล้าดำเนินการทำเรื่องให้ถูกต้องตามครรลอง และเป็นไปตามหลัก “นิติธรรม” หรือไม่ ต้องติดตาม