ประมูล '5โปรเจค' อีอีซีฉลุย
เมกะโปรเจคอีอีซี ประมูลคึกคัก ไตรมาส 1 ยื่นซองแหลมฉบังเฟส 3 เมืองการบิน เม็ดเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท ด้านศูนย์ซ่อมอากาศยาน
การบินไทยจ่อลงนาม “แอร์บัส” ลงขันเฟสแรก 4 พันล้านบาท รฟท.เดินหน้าเจรจาไฮสปีด “ซีพี” เคาะชื่อชงเข้า ครม.ก่อนลงนามภายใน ม.ค.นี้ กนอ. เร่งประมูลมาบตาพุดเฟส 3 คาดได้ตัวผู้ลงทุน มี.ค.นี้ เปิดดำเนินงานต้นปี 2568
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้อีอีซีเป็นเกตเวย์สำคัญของไทยที่จะเชื่อมโลกทั้งในด้านของการเดินทางและการขนส่งสินค้าเพราะอีอีซีอยู่จุดยุทธศาสตร์ที่มีท่าเรือเพื่อส่งออกไปมหาสุมทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเชื่อมโยงไปอาเซียน เช่น ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา ท่าเรือเวียดนามรวมทั้งโครงข่ายทางถนนและระบบรางจะเป็น ส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการขนส่งทางเรือให้มีประสิทธิภาพ
นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในนอีอีซี โดยสนับสนุนงบพัฒนาโครงข่ายทางถนน ซึ่งพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง และในอนาคตจะเชื่อมพัทยา ท่าเรือมาบตาพุดและ
จันทบุรี รวมทั้งมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ศูนย์ฝึกบุคลากรการบินของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังประมูล
หวังดันอีอีซีเชื่อมภูมิภาค
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมต้องการให้อีอีซีเป็นเกตเวย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต้องผลักดันการเชื่อมโครงข่ายการขนส่งไปหัวเมืองหลักได้แก่ นครราชสีมาและปราจีนบุรี เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง โดยกำลังเร่งพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือโครงการขยายถนน 304 เชื่อมผืนป่าปักธงชัย-กบินทร์บุรี ซึ่งเหลือการพัฒนาในตอนสุดท้ายแล้วและอนาคตจะพัฒนาทางหลวงหมายเลข 348 สายอรัญประเทศ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามจากลาว ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ปราจีนบุรีและเข้าสู่แหลมฉบัง
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง
เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนเจรจากับผู้เสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐ
ต่ำที่สุด คือ กลุ่มซีพี และคาดว่าจะเสร็จและนำไปสู่ขั้นตอนเสนอรายชื่อเอกชนร่วมลงทุนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางเดือน ม.ค.2562 และลงนามสัญญาร่วมเอกชนภายใน 31 ม.ค.2562
แหลมฉบังยื่นซอง 14 ม.ค.นี้
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการกทท.กล่าวว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนแรกโซน F มูลค่าการลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท โดยหลังเปิดขายซองไปเมื่อวันที่ 5-19 พ.ย.2561 มีเอกชนไทยและต่างชาติสนใจร่วมซื้อซองประมูล 32 ราย เป็นบริษัทเดินเรือ และบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลกเช่น บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัลของฮ่องกง และบริษัทแหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล ของดูไบ โดย กทท.กำหนดยื่นซองประมูล 14 ม.ค.2562 คาดว่าจะตัดสินผู้ชนะได้ในเดือน ก.พ.2562 และลงนามในสัญญาในต้นเดือน มี.ค.2562 ก่อนเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค.2562
การบินไทย-แอร์บัสลงขัน4พันล้าน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกประกาศรายละเอียดคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2561โดยการบินไทยร่วมลงทุนกับบริษัทแอร์บัส ซึ่งการบินไทยลงทุน 50% และแอร์บัสลงทุน 50% โดยกองทัพเรือจะเป็นผู้พัฒนาโรงซ่อมอากาศยาน (แฮงก้า) ส่วนการบินไทยและแอร์บัสจะร่วมลงทุนงานระบบและส่วนอื่นงบประมาณลงทุนเบื้องต้น 4,000 ล้านบาท มีกำหนดลงนามสัญญาในไตรมาส 1 ปี 2562
ส่วนโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่าการลงทุน 200,000 ล้านบาท ซึ่งกองทัพเรือเปิดขายทีโออาร์ไปเมื่อ 16-29 พ.ย.2561
โดยมีเอกชนไทยและต่างชาติร่วมซื้อซองประมูล 42 ราย และจะเปิดรับซองเอกสารในวันที่ 28 ก.พ.2562 ใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณาข้อเสนอ และปลายเดือน มี.ค.2562 จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาก่อนลงนามสัญญา ซึ่งมีกำหนดส่งมอบพื้นที่
ให้เอกชนเข้าพัฒนาในช่วงปี 2564 ใช้เวลา3 ปีดำเนินการก่อสร้างโครงการ เปิดให้บริการปี 2567
มาบตาพุดเปิดบริการปี 2568
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่าโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มีเอกชนซื้อซองเอกสารการคัดเลือกแล้ว 18 ราย ประกอบด้วยนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการจัดทำข้อเสนออย่างสมบูรณ์แบบ ตามเงื่อนไขและระเบียบของกระบวนการ ขั้นตอนประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) โดยจะเปิดรับซองข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ในวันที่ 6 ก.พ.2562 และลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนภายในเดือน มี.ค.2562และเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568
สำหรับการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ตั้งอยู่บนพื้นที่1,000 ไร่ เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในอีอีซีในอนาคต โดยพื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วย พื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้าง 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,200 เมตร โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มีขอบเขต คือ งานโครงสร้างพื้นฐานและงานส่วนท่าเรือ และการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องบนพื้นที่ถมทะเล
ตั้งเป้ารองรับการพัฒนา30ปี
ทั้งนี้ แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ 1.งานโครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบและก่อสร้างจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน 2.งานท่าเรือก๊าซการออกแบบและก่อสร้างส่วนที่ 1 เพื่อรองรับปริมาณไม่น้อยกว่า 5 ล้านตันต่อปี จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 2 และ 3.การประกอบกิจการท่าเรือก๊าซรวมถึงเป็นผู้จ่ายค่าสิทธิการร่วมลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามสัญญาร่วมลงทุนกับ กนอ.เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 ปีนับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 3
โดยการพัฒนาท่าเรือนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 15 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า