ไขแผนลับ 'ไออาร์พีซี' รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ
เปิดยุทธศาสตาร์ปี 2562 ของ 'ไออาร์พีซี' พร้อมโลดแล่นด้วยกลยุทธ์เติบโตในและนอกบ้าน 'สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' แม่ทัพคนสำคัญที่ช่วยผลักดันลูกเป็ดขี้เหร่สุดในกลุ่ม ปตท. พลิกมีผลงานโดดเด่นทุกมิติ แย้มปีนี้ลุยตลาด 'อีคอมเมิร์ซ' เมืองไทย !!
นับตั้งแต่ 'ตั้ว-สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC แตะมือรับช่วงบริหารต่อจาก 'ต้น-อธิคม เติบศิริ' โดยเข้ามารับตำแหน่ง 'เบอร์ 1' ไออาร์พีซี เมื่อเดือนต.ค.2556 ล่าสุดยื่นเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด (EARLY RETIRE) โดยมีผลวันที่ 1 ก.พ. 2562 ก่อนจะเกษียณอายุในเดือนก.ย.นี้
ผ่านมาแล้วกว่า 5 ปี จาก 'ลูกเป็ดขี้เหร่' สุดในกลุ่มบริษัทในเครือ บมจ. ปตท. หรือ PTT ที่มีผลประกอบการผันผวนตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ แต่ปัจจุบัน 'ไออาร์พีซี' กลับมีผลการดำเนินงานพลิกมา 'โดดเด่น' ในทุกๆ ด้าน ทั้งในเชิงของผลประกอบการที่มีฐาน 'กำไรสุทธิ' เติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ปี ราคา 'หุ้น IRPC' ที่เพิ่มขึ้นทำ 'นิวไฮ' ((New High) ในรอบ 10 ปี จนทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) แตะระดับ 1.4 แสนล้านบาท
'สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2561-2565) ของไออาร์พีซี ภายใต้กลยุทธ์ 'Power Three' นั่นประกอบด้วย Power of Growth , Power of Digital และ Power of People
โดย 'Power of Growth' ประกอบด้วย โปรแกรม GALAXY , MARS และ Everest forever ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อจาก 'โครงการ EVEREST' เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในทุกด้านที่แล้วเสร็จเมื่อปี 2560 ซึ่ง 'โปรแกรม GALAXY' บริษัทวางเป้าหมายลงทุนใน 'การซื้อกิจการหรือร่วมทุน' (M&A) วางวงเงินลงทุนไว้ราว 300-800 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) ซึ่งจะผลักดันให้มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 50-100 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการอยู่ 2 ดีล เป็นบริษัทที่ประกอบการในธุรกิจสายดาวสตรีมในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง คาดว่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส 1 ปี 2562 หลังจากปีที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถซื้อกิจการในยุโรปได้ 'หลักการในการซื้อกิจการเราต้องสามารถเข้าไปช่วยให้เขาเพิ่มมูลค่าได้'
สำหรับการลงทุนในแง่ของ M&A ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจุบันบริษัทมีการเติบโตจากทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัท (Organic Growth) มาโดยตลอดและโครงการลงทุนใกล้จะเสร็จหมดแล้ว ขณะที่การทำ M&A เราจะค่อยๆ ลงทุนเพราะว่าประสบการณ์ยังมีน้อย ประกอบกับฐานะทางการเงินของบริษัทก็ยังไม่ได้แข็งแรงมาก !
สะท้อนจากบริษัทมี 'กำไรสุทธิ' ต่อเนื่องติดต่อกัน ในปี 2558-ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 9,401.76 ล้านบาท 9,720.83 ล้านบาท 11,354.48 ล้านบาท และ 9,361.71 ล้านบาท ตามลำดับ ถือว่าฐานะทางการเงินเราแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ยังเงินลงทุนก้อนใหญ่จากการลงทุนโครงการอะโรเมติกส์ด้วย ฉะนั้นขีดความสามารถที่จะทำ M&A คงจะค่อยๆ ทำเลือกโครงการที่ดีๆ
'เราตั้งเป้าเงินลงทุนทำ M&A ไว้ 300-800 ล้านดอลลาร์ ภายใน 5 ปี ไม่มีปัญหาหากบริษัทยังมีกำไรต่อเนื่อง'
'โปรแกรม MARS' เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์เพื่อผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีนเป็น 3-5 แสนตันต่อปี คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในกลางปี 2562 แล้วเสร็จราวปี 2566 ขณะที่ยังมีวงเงินทุนอีกกว่า 'พันล้านดอลลาร์' เพื่อสำรองการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคต ขณะที่ 'โปรแกรม Everest forever' เป็นการเพิ่มมูลค่าและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี“เอ็มดีไออาร์พีซี” แจกแจงต่อว่า
สำหรับ 'โครงการ Power of Digital' ภายใต้โปรแกรม โครงการ IRPC 4.0 ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทเริ่มดำเนินการเข้าไปลงทุนใน บริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. ('GZSJ') สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งบริหารจัดการ Platforms ภายใต้ชื่อ 'IPLAS' โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 15% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุน 135 ล้านหยวน หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 650 ล้านบาท
โดย GZSJ ดำเนินธุรกิจด้านการซื้อขายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก ผ่านระบบ E-Commerce รายใหญ่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ จุดประสงค์การลงทุนในบริษัท E-Commerce เมืองจีน เพราะว่าบริษัทต้องการรู้ความต้องการของตลาดเมืองจีน ซึ่งคาดว่าปีนี้บริษัทจะสามารถนำเม็ดพลาสติกของบริษัทวางจำหน่ายออนไลน์บน Platforms ของพันธมิตรได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากัน ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายเม็ดพลาสติกเข้าไปในตลาดจีนผ่านตัวแทนจำหน่ายประมาณ 20% ของโปรดักท์ แต่ต่อไปบริษัทสามารถขายเม็ดพลาสติกโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวได้เลย โดยสินค้าของบริษัทจะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
โดยปัจจุบันพันธมิตรมี 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' (มาร์เก็ตแชร์) ในตลาดเมืองจีนยังไม่ถึง 1% แต่พันธมิตรมีเป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเป็น 10% ภายใน 5 ปีข้างหน้า นั้นแปลว่าบริษัทจะเติบโตปีละ 'เท่าตัว'
นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดประสงค์คือต้องการมาเปิดตลาด E-Commerce ในเมืองไทย ด้วยการขายเม็ดพลาสติกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเมืองไทยยังไม่ค่อยมี ซึ่งตอนนี้พนักงานของจีนก็มาอยู่ที่เมืองไทยแล้ว เพื่อมาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งเบื้องต้นก็ต้องศึกษาตลาดเมืองไทยก่อน คาดใช้เวลาเตรียมการราว 6-9 เดือน ฉะนั้น ภายในไตรมาส 3 ปี 2562 น่าจะเห็นความพร้อมในการเปิดแพลตฟอร์มขายเม็ดพลาสติกในตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทย
'ธุรกิจอีคอมเมิร์ซน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สะดวกขึ้น เพราะว่าไม่ต้องซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ และเชื่อว่าจะซื้อได้ราคาที่ต่ำลงด้วย เพราะว่าการขนส่งน่าจะถูกกว่า เพราะว่าจะมีโลจิติกส์เข้ามาเสนอให้บริการบนแพลตฟอร์มดังกล่าวด้วย'
สำหรับการเข้าไปถือหุ้น 15% ในบริษัท E-Commerce เมืองจีนนั้น ก็เปรียบเหมือนบริษัทก้าวเท้าออกไปลงทุนนอกบ้านเป็นครั้งแรก เพียงแต่เป็นการลงทุนไม่มาก ซึ่งต้องยอมรับว่าธุรกิจ E-Commerce ในจีนมีความแอดวานซ์มากสุดแล้ว ดังนั้นการที่บริษัทจะไปนำแพลตฟอร์มมาพัฒนาในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้รวดเร็วสุดแล้ว
และสุดท้าย 'โครงการ Power of People' ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากร โดยการสร้างศูนย์นวัฒตกรรมแห่งใหม่ เพื่อฝึกอบรมบุคลากร ด้านโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี ในพื้นที่ไออาร์พีซีที่ จ. ระยอง คาดจะใช้เงินลงทุน 1,500-2,000 ล้านบาท เป็นการรองรับการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะเห็นว่าหากไม่ดำเนินการอะไรบุคลากรด้านนี้จะขาดแคลน ในขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. จะสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน ในพื้นที่เดียวกันลงทุนกว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า
'กรรมการผู้จัดการใหญ่' บอกต่อว่า บริษัทยังคงเป้าหมาย EBITDA เติบโตปีละ 10-15% จนถึงปี 2563 ซึ่งจะทำให้ได้ EBITDA ที่ระดับ 2.9 หมื่นล้านบาท ตามแผนการดำเนินงานกลยุทธ์ Power Three ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะรักษากำไรเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน
ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมเดินเรือสมุทรปี 2563 คือ 'องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ' (IMO) จึงมีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงเติมเรือ (น้ำมันเตา)ให้ไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยประเด็นดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อบริษัทในปี 2563
โดยค่าการกลั่นในปี 2562 คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลในภาคการเดินเรือที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ต้องมีการเตรียมตัวจากการบังคับใช้มาตรการของ IMO อย่างไรก็ตามส่วนต่างราคาน้ำมันเตาคาดว่าจะปรับลดลงจากการหันมาใช้น้ำมันดีเซลแทนน้ำมันเตา
ปัจจัยดังกล่าวคาดส่งผลบวกต่อการทำกำไร (Market GRM) ของ IRPC ซึ่งมีสัดส่วนการกลั่นน้ำมันดีเซลเป็นสัดส่วนหลัก (ราว 70% ของน้ำมันสำเร็จรูป) และมีความพร้อมในการผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำกว่า 0.5% เพราะมีหน่วยกำจัดกำมะถันในเรสซิดิว หรือ Residue Hydrodesulphurisation unit ซึ่งนับเป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งบริษัทสามารถผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำได้ประมาณ 60 ล้านลิตรต่อเดือน
สุดท้าย 'สุกฤตย์' ฝากไว้ว่า ยังคงเชื่อมั่นว่าในปี 63 จะเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัท โดยตั้งเป้าจะมี EBITDA ที่มากกว่าระดับ 2.9 หมื่นล้านบาทแน่นอน
น้ำมันดิบ 100 ดอลลาร์ยาก !!
'สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC บอกว่า โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากปัจจุบันมี 'น้ำมันจากชั้นหินดินดาน' หรือ เชลออยล์ ของสหรัฐ ที่ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนผ่านปีที่แล้วเชลออยล์เพิ่มกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.57 ล้านบาร์เรล (ตัวเลขเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา) จากต้นปีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรล และคาดว่าหากเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเชลออยล์จะเพิ่มกำลังการผลิตในปี 2562 ขึ้นมาเป็น 12 ล้านบาร์เรล
'คงยากที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นไปยืนเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะหากราคาน้ำมันดิบแพง เชลออยล์ก็จะยิ่งเพิ่มกำลังการผลิตออกมามากขึ้น และต่อไปตลาดอาจจะถูกเชลออยล์แย่งตลาดไปเรื่อยๆ'
เขา บอกต่อว่า ในปี 2562 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนสูง คาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากประเด็นการเพิ่มกำลังการผลิตเชลออยล์ การที่สหรัฐคว่ำบาตรประเทศอิหร่านโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตัดการส่งออกน้ำมัน ซึ่งลดลงไปถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรล และการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกลง 1.2 ล้านบาร์เรล แต่หากห้ามอิหร่านขายน้ำมันให้ 8 ประเทศ ตอนนั้นราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นไปอีกรอบ แต่เมื่อราคาน้ำมันยิ่งสูงเชลออยล์ก็จะเพิ่มกำลังการผลิตออกมากดดันราคาน้ำมันเรื่อยๆ
'พิสูจน์ได้จากปีก่อนที่ราคาน้ำมันดิบไปยืนอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เซลล์ออยล์ก็เพิ่มกำลังการผลิตออกมา 1.5 ล้านบาร์เรล'
อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูง บริษัทจะได้รับกระทบต่อผลประกอบการไออาร์พีซีโดยตรง เพราะว่าต้นทุนราคาค่าเชื้อเพลิงจะแพง ฉะนั้น บริษัทจะชอบราคาน้ำมันดิบที่ระดับราคาต่ำ ยิ่งราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะเป็นผลดีต่อผลประกอบการของบริษัท โดยปีนี้ผลประกอบการก็น่าจะดี เพราะว่าราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงบริษัทก็จะต่ำ เทียบกับปีก่อนเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่บริษัทมีสต็อกเกณฑ์เข้ามาช่วยทำให้ผลประกอบการเติบโต