2025 : จุดเปลี่ยนโลกภายใต้ 4T
เข้าสู่ปี 2025 โลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ ภายใต้แรงขับเคลื่อน 4 ประการที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก
ประการแรก คือ Transition หรือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองโลกก่อนการเข้ามาของทรัมป์ เรามองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเดินทางเข้าสู่การ “ลงจอดอย่างนุ่มนวล” (Soft Landing) ด้วยการเติบโต 3.2% และเงินเฟ้อที่ลดลงเหลือ 4.3% ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแผนลดดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 3.4% สัญญาณบวกในปัจจุบันเห็นได้จากการปรับสมดุลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายได้
อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่ “Soft Landing” ยังต้องเผชิญความท้าทายสำคัญ ทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดการเงิน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจเพิ่มขึ้น
ประการที่สอง คือ Trump ซึ่งหมายถึงการกลับมาของแนวคิด America First (อเมริกาต้องมาก่อน) การชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์นำมาสู่การฟื้นคืนนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ทั้งด้านการค้า (ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 60%), การเข้าเมือง (ผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศ) และการคลัง (ลดภาษีนิติบุคคล ที่จะทำให้ขาดดุลการคลังมากขึ้นกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์) สร้างความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เรามองว่า นโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ มีทั้งด้านบวกและลบ แต่ผลกระทบเชิงลบอาจรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยเรามองว่า
(1) การทำนโยบายต่าง ๆ ไม่ง่ายในเชิงปฏิบัติ ทำให้เราน่าจะยังไม่ได้เห็นการทำนโยบายเต็มรูปแบบในปี 2025 โดยเฉพาะการทำสงครามการค้า แต่จะเป็นการทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(2) เรามองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าการลงทุน โดยจะเห็นกระแสการลงทุนทางตรงกลับไปยังสหรัฐมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทใดที่มีแผนไปลงทุนในสหรัฐ จะได้แต้มต่อทั้งด้านการค้ากับสหรัฐ และผลบวกกับราคาหุ้น และ
(3) ทิศทางตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนขึ้น เนื่องจากนโยบายหลายประการอาจทำให้ตลาดมองว่าทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่หากนโยบายเหล่านั้นไม่ได้ทำจริงหรือทำทันที อาจเกิดการปรับความคาดหวัง และทำให้ค่าเงิน และ/หรือผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงรุนแรงได้
ประการที่สาม คือ Technology and Efficiency เรามองว่า อีลอน มัสก์ ในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาพิเศษของทรัมป์ จะนำประสบการณ์จาก Tesla, SpaceX และ xAI มาปฏิรูประบบราชการและผลักดันความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ โดยเฉพาะ AI ที่คาดว่าจะมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูลถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 2024-2027 โดยมัสก์ได้พิสูจน์ความสามารถในการปฏิวัติอุตสาหกรรมหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย Tesla การปฏิวัติการสำรวจอวกาศด้วย SpaceX หรือการพัฒนา AI ผ่าน xAI ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากความสามารถในการใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งแก้ปัญหาท้าทายระดับโลก มัสก์อาจช่วยกระตุ้นการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบขนส่งอัจฉริยะ การขยายโครงข่ายดาวเทียมและการสื่อสารความเร็วสูง การวิจัยและพัฒนา AI เพื่อรักษาความเป็นผู้นำระดับโลก และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการปฏิรูปของมัสก์อาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล การลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค (ปัจจุบันมี 90,000 หน้า) จะช่วยกระตุ้นนวัตกรรมและการลงทุน ขณะที่การปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐจะช่วยลดภาระงบประมาณและหนี้สาธารณะที่สูงถึง 100% ของ GDP อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปต้องคำนึงถึงความสมดุล โดยต้องระวังไม่ให้เกิดการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ ต้องรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีกับผลกระทบต่อแรงงาน ต้องสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม รวมถึงต้องระมัดระวังผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประการสุดท้าย ได้แก่ Turmoil หรือความปั่นป่วนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ภายใต้ทรัมป์ เรามองว่าจะมีการปรับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นแบบ “ต่างตอบแทน” มากขึ้น เรียกร้องให้จ่ายค่าใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มขึ้น และอาจถอนตัวจากข้อตกลงที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ การเจรจาสันติภาพในยูเครนและตะวันออกกลางจะเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐ เป็นหลัก ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนจะตึงเครียดขึ้นจากสงครามการค้าและการแข่งขันด้านเทคโนโลยี การพลิกโฉมครั้งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านห่วงโซ่อุปทานโลกที่จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ต้นทุนสินค้าอาจสูงขึ้นจากการกีดกันทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศอาจชะลอตัว ความร่วมมือในการแก้ปัญหาระดับโลกอาจสะดุด รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ (Nuclear Arm Race)
นอกจากนั้น แม้นโยบายพลิกโฉมของทรัมป์จะมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ แต่ก็สร้างความท้าทายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์และการเป็นผู้นำโลก การแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ การรักษาเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามการค้าที่บานปลาย
ดังนั้น การพลิกโฉมของทรัมป์จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของระเบียบโลกที่จะส่งผลไปอีกหลายทศวรรษ ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการกับเสถียรภาพที่จำเป็น
ด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น ในส่วนคำแนะนำการลงทุน เราจึงมองว่านักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศและมีลักษณะป้องกันความเสี่ยง (Defensive Growth) โดยหุ้นที่แนะนำสำหรับไตรมาส 1/2025 มี 5 ตัวดังนี้ : (1) ADVANC (2) AOT (3) BCH (4) CPALL และ (5) HMPRO
ขอให้นักลงทุนโชคดี
- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX
- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm
- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher #InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้